กรมส่งเสริมการเกษตรงัดมาตรการแก้ปัญหาข้าวราคาตก ชี้ผลผลิตมากเกินความต้องการ แต่ละปีมีการทำนาหลายรอบ โดยเฉพาะการทำนาปรังในเขตชลประทาน 22 จังหวัด ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำนามากกว่าปีละ 2 ครั้งเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านราคา จึงเกิดเป็นโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2560 เพื่อลดรอบการทำนาปรัง แนะปลูกข้าวโพดทดแทนอัดงบประมาณสนับสนุนชาวนาที่เข้าร่วม โครงการ ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาทต่อ 5 ไร่ ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด ต้องเป็นชาวนาตัวจริงเท่านั้น แต่ทว่าปลายปีนี้ต้องลุ้นว่ามาตรการรัฐจะจูงใจชาวนาได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงปัญหาเฉพาะหน้าก่อนที่ข้าวจะล้นตลาดปลายปีนี้
จูงใจชาวนางดปลูกนาปรัง
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรฯระบุว่ากรมส่งเสริมการเกษตรมีมาตรการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายในฤดูนาปรังที่จะถึงในปลายปีนี้ โดยจะมีมาตรการสนับสนุนและจูงใจให้เกษตรกรลดรอบการปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่นทดแทน รวมถึงการจัดหาตลาดรองรับ ใน 22 จังหวัดเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระ ยา ภาครัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย ครัวเรือนละไม่เกิน 5 ไร่ ไร่ละ 2,000 บาท ว่ากันง่าย ๆ คือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น ให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนการทำนาปรัง โดยจะจัดเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่แนะ นำเกษตรกรปลูกข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วเขียว ถั่วลิสง และพืชผัก ผลผลิตทั้งหมดจะใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงาน พร้อมจัดหาตลาดรับซื้อให้เกษตรกร รวมไปถึงจัดสรรน้ำเขตชลประทาน
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองอธิบดีกรมส่งเสริม การเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการปลูกข้าวสลับกับพืชอื่น เพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และแปรรูปอาหาร ปัจจุบันชาวนาได้เปลี่ยนมาทำนาแบบพืชเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวมากกว่า 2 รอบต่อปี ที่ผ่านมาปัญหาหลักคือขาดแคลนน้ำ และไม่ทำการเพาะปลูกพืชอื่นสลับหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ส่งผลให้อุตสาหกรรมขาดแคลนวัตถุดิบต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก
โดยจะลดพื้นที่ทำนาในลุ่มเจ้าพระ ยา22จังหวัด จำนวน 3 แสนไร่ คัดกรองคุณสมบัติอย่างละเอียด ชาวนาต้องมีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 อย่างถูกต้อง มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่สำคัญจะต้องทำนาปรังอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต้องลดพื้นที่นาไปปลูกพืชอื่น 5 ไร่ โดยสมัครได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ภายในวันที่ 18 กันยายนศกนี้
เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว จะประกาศรายชื่อและให้เริ่มปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้ตามความถนัด โดยต้องลงทุนปรับพื้นที่ ซื้อเมล็ดพันธุ์ และปัจจัยการผลิตด้วยตนเองไปก่อน เมื่อปลูกแล้ว 20 วัน ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อลงไปตรวจสอบว่าได้เพาะปลูกจริงจากนั้นจะแจ้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อโอนเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาทภายใน 3 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้ง โครงการนี้ช่วยลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำทำนาในฤดูแล้ง และลดปริมาณข้าวเปลือกที่ล้นตลาดลงได้มากกว่า 2 แสนตัน "เบื้องต้นได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกร ซึ่งพบว่าเกษตรกรเข้าใจว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการใดบ้าง เพราะจากการสอบถามเกษตรกรยังถามกลับว่า ต้องเลือกโครงการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ เจ้าหน้าที่จึงได้ชี้แจง และทั้งหมดจะไม่ทับซ้อนกับโครงการให้ชาวนาไปทำปศุสัตว์" นายคนิตกล่าว
กรมชลฯย้ำเปียกสลับแห้งได้ผล
เนื่องจากปีนี้ฝนมาล่าช้า เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ใช้พื้นที่ไปทำเกษตรกรรมอื่น อย่างไรก็ตาม วันที่15 ก.ย.ศกนี้จะมีการหารือร่วมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเพื่อประเมินสถานการณ์ รัฐบาลได้เน้นย้ำมาตรการลดการผลิตข้าวสู่การเลี้ยงสัตว์หรือพืชอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและเป็นอีกโครงการทางเลือกเพื่อให้ชาวนาปรับตัวตามสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่การเลิกจ้างชาวนาปลูกข้าว
ดร.ทองเปลวกองจันทร์รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาด ใหญ่ทั่วประเทศว่าล่าสุด มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 37,636 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,109 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปี 2558 ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,963 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2558 ประมาณ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณน้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลัก กรมชลประทานยังคงเน้นย้ำการทำนาฤดูทำนารอบที่ 2 ปี 2559/2560 โดยตั้งเป้าขยายผลเกษตรกรหันมาทำนาด้วยวิธีเปียกสลับแห้งเพิ่มขึ้นให้มากที่สุด เพราะในปัจจุบันการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ ๆ ทำได้ยากขึ้นและต้องใช้ระยะยาวนาน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยน แต่ความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นหากภาคการเกษตรโดยเฉพาะการทำนารอบ 2 ลดปริมาณการใช้น้ำลง จะทำให้ในอนาคตจะมีปริมาณน้ำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 2559