กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกร ผู้ปลูกผัก-ผลไม้ ยกระดับฟาร์มเข้าสู่มาตรฐาน GAP ด่วน ก่อนถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชให้เอกชนแล้วเสร็จ เริ่มมีผลบังคับปี 60
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเร่งถ่ายโอนภารกิจการตรวจรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร หรือจีเอพี (GAP) พืชอาหาร ให้แก่หน่วยรับรองเอกชนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จำนวน 4-5 บริษัท เพื่อให้หน่วยรับรองเอกชนทำหน้าที่ขับเคลื่อนการตรวจรับรองมาตรฐานแหล่งผลิตพืชผักและผลไม้ GAP อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดภาระและประหยัดงบประมาณภาครัฐในการตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์ม
ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนหน่วยรับรองแหล่งผลิต GAP พืช และการผลิตพืชอินทรีย์ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับภายในปี 2560 กำหนดให้หน่วยรับรองเอกชนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ มกอช. ต้องมายื่นขอรับรองความสามารถในการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกสามารถนำผลการตรวจรับรอง GAP มาใช้ประกอบการขอใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) เพื่อกำกับสินค้าส่งออกได้ จะช่วยให้การค้าและการส่งออกสินค้าพืชผักและผลไม้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
หลังจากถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองแปลง GAP พืชให้หน่วยรับรองเอกชนเสร็จสมบูรณ์ อนาคตเกษตรกรที่จะนำแหล่งผลิตพืชเข้าสู่มาตรฐานอาจต้องจ่ายค่าตรวจรับรองแปลงเอง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ที่ผลิตเพื่อการส่งออกและป้อนเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) อาจไม่มีปัญหา แต่กรณีเกษตรกรรายย่อยอาจต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มไม่ไหว ดังนั้น ช่วงที่ยังถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยตรวจเอกชนไม่เรียบร้อย เกษตรกรสามารถยื่นขอรับการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน GAP พืชได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยติดต่อได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) ทั้ง 8 เขตทั่วประเทศ
ด้าน นายยสิศร์ อินทรสถิตย์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรที่จดทะเบียนผู้ผลิตพืชผักและผลไม้กับกรมวิชาการเกษตรทั้งหมด 172,308 แปลง พื้นที่กว่า 1,091,495.24 ไร่ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และยังไม่หมดอายุ จำนวน 157,752 แปลง พื้นที่ 999,724.02 ไร่ หรือคิดเป็น 91.55 % ของที่จดทะเบียนทั้งหมด ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจต่ออายุใบรับรองและตรวจรับรองแปลงใหม่เพิ่มเติม โดยปีนี้มีเป้าหมายดำเนินการตรวจสอบแหล่งผลิตพืช จำนวน 91,068 แปลง พื้นที่กว่า 500,000 ไร่ ซึ่งใบรับรองมาตรฐานพืชผักและพืชล้มลุก GAP มีอายุ 2 ปี ส่วนไม้ผลมีอายุใบรับรอง 3 ปี
ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างเร่งศึกษาการจัดตั้ง Non Profit Organization (NPO) เพื่อทำหนาที่บริหารจัดการดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจให้กับภาคเอกชน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 5-10 ปี เนื่องจากเกรงว่าหากเกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองแปลงเอง ฟาร์ม GAP บางส่วนอาจหายไปจากระบบเพราะเกษตรกรไม่มีทุนทรัพย์ และทำให้แหล่งผลิตพืช GAP ของประเทศลดลงได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการลดต้นทุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานแปลง GAP พืชอาหารสำหรับเกษตรกรรายย่อยในอนาคต คือ การรวมตัวจัดตั้งกลุ่มผลิตและยื่นขอรับการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานแบบกลุ่ม (Group Certificate) ซึ่งคาดว่า จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อยได้ค่อนข้างมาก ทำให้มีโอกาสเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มสูงขึ้น และทำให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นด้วย
“มาตรฐาน GAP ถือเป็นหัวใจสำคัญของการส่งออก ปัจจุบันประเทศคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่ได้กำหนดว่า สินค้าพืชที่จะส่งออกต้องมาจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP โดยกรมวิชาการเกษตร ทั้งยังต้องผ่านโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ด้วย ดังนั้น มาตรฐานสินค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและการค้าสูงขึ้นโดยใช้มาตรฐานและคุณภาพสินค้าเป็นจุดขาย” นายยสิศร์ กล่าว
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 12 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.