พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โรงสี ผู้ส่งออก เพื่อบริหารจัดการข้าวครบวงจร ว่า รัฐบาลกังวลว่าผลผลิตข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2559 จะออกมากระจุกตัวและฉุดราคาข้าวให้ตกต่ำ โดยที่ประชุมได้สรุป 17 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ก่อนที่จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 14 กันยายนนี้และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่จะมาถึงอีกไม่เกิน 2 เดือน ซึ่งผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะออกมาพร้อมกันคาดว่าจะมีปริมาณ 24 ล้านตันข้าวเปลือก โดยในปีก่อนๆ ผลผลิตจะทยอยออกมาไม่พร้อมกัน แต่ในปีนี้ ภาคกลางมีการเลื่อนเพาะปลูกทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เกิดขึ้นพร้อมกัน
“ในช่วงที่ข้าวออกมากระจุกตัว ต้องผลักดันมาตรการรองรับความเดือดร้อยที่จะเกิดขึ้นกับชาวนา ที่ประชุมจึงเตรียมเสนอ นบข. และขอครม.เสนอมาตรการดูดซับผล ผลิตออกจากตลาด โดยการชะลอการขายข้าวของชาวนา ให้นำข้าวไปเก็บในยุ่งฉาง ของเกษตรกรเอง สหกรณ์ หรือยุ้งฉางของเอกชน โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าฝากให้ เพื่อรักษาระดับราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ”พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า เบื้องต้น รัฐบาลจะผลักดัน 17 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559/60 วงเงินประมาณ 102,784.95 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงการช่วยเหลือก่อนการเพาะปลูก การช่วยเหลือขณะเพาะปลูกและหลังเพาะปลูกที่ผลผลิตออกสู้ตลาดพร้อมๆกัน ซึ่งหลายโครงการเป็นโครงการเก่าของกระทรวงพาณิชย์ แต่เพื่อช่วยพยุงราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำในช่วงผลผลิตกระจุกตัว รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอ นบข.เพื่อดำเนินโครงการดูดซับผล ผลิตช่วงออกสู่ฤดูกาล ภายในวงเงิน 41,566.21 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ 36,241.74 ล้านบาท และงบประมาณในการอุดหนุนโครงการ 5,324.47 ล้านบาท ทั้งนี้ในที่ประชุม พล.อ.ฉัตรชัย แสดงความกังวลในเรื่องของผลผลิตจะออกสู่ตลาดพร้อมกัน จนฉุดราคาข้าวปลายปีให้ตกต่ำ โดยมาตรการที่หารือในที่ประชุม จะเน้นในมาตรการดูดซับผลผลิตให้ออกจากระบบเพื่อไม่ให้กระทบราคาข้าว
นายอนันต์ กล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมจะนำเสนอ นบข.ใน 3 มาตรการคือ 1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป้าหมาย 2 ล้านตัน ระยะเวลาโครงการ ช่วงพฤศจิกายน 2559 – 30 ธันวาคม 2560 เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกในช่วงออกสู่ตลาดมากโดยให้เก็บเข้าสู่ยุ้งฉางของเกษตรกรและสหกรณ์ วงเงินสินเชื่อข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวตันละ 11,700 บาท และได้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 23,734 ล้านบาท วงเงินงบประมาณ 3,978.22 ล้านบาท 2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเพื่อการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 8 ล้านตัน ระยะเวลาโครงการ ช่วงตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต๊อกอัตราดอกเบี้ย 3% รับซื้อระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 มีนาคม 2560 เก็บสต๊อกเป็นระยะเวลา 2-6 เดือนวงเงินงบประมาณ 940 ล้านบาท
นายอนันต์ กล่าวว่า และ3.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดย ธ.ก.ส. เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน ระยะเวลาโครงการ ต.ค.2559 – 30 กันยายน 2560 โดยให้เสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรับซื้อแปล สภาพโดยการชดเชยดอกเบี้ย ในอัตรา 3% ไม่เกิน 12 เดือนวงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท วงเงินงบประมาณอุดหนุนดอกเบี้ย 406.25 ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังจะมีการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกภายใต้วงเงินงบประมาณ 7.74 ล้านบาท จัดขึ้นใน 52 จังหวัดแหล่งผลิตข้าว รวมทั้งสิ้น 125 ครั้ง ระยะเวลาดำเนินการช่วงเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2560 การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกในครั้งนี้เพื่อใช้กลไกตลาดรับซื้อข้าวเปลือก เพื่อให้เกิดการแข่งขันในเรื่องของราคา และอำนาจในการต่อรองให้ชาวนา
ที่มา : มติชน วันที่ 7 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.