นับจากวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติออกคำสั่งด้วยอำนาจของหัวหน้า คสช. ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือมาตรา 44 บังคับเรียกคืนที่ดิน ผู้ถือครองที่ดินมือเปล่า หรือจากผู้ถือครองผิดกฎหมาย ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่มีมากกว่า 500 ไร่ ในเขตประกาศปฏิรูปที่ดินที่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน จากปัญหานายทุนบุกรุกมาเป็นเวลานาน เป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลทหารที่ต้อง "ปฏิรูปที่ดิน" สางปัญหาเรื้อรังของภาคเกษตรที่หมักหมมมานานหลายสิบปี ถึงวันนี้ก็เข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่าค่อนข้างจะใช้ยาแรงได้ผล ครบ 1 เดือนแผนยึดคืนลอตแรกเมื่อกลางสัปดาห์ (16 สิงหาคม) 25 จังหวัด เป็นไปตามเป้าหมายโรดแมป 129 วัน
ใช้ ม.44 ยึดที่ ส.ป.ก. พื้นที่เป้าหมาย 25 จังหวัด
ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 59 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญคือ ให้บุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือส่งมอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เป้าหมายโดยอาศัยอำนาจ ม.44 เข้ายึดคืนพื้นที่ ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางโรดแมป 129 วัน ปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. โดยมอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งกำหนดระวางขอบเขตพิกัดเนื้อที่ ชัดเจน โดย นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ทำร่างประกาศตามคำสั่ง มาตรา 44 เพื่อเรียกคืนพื้นที่ และมีการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีคำสั่งแนบท้ายในพื้นที่ 25 จังหวัด พื้นที่รวม 437,457 ไร่
ผู้ถือครอง ส.ป.ก.โดยมิชอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้อำนาจดำเนินการใน 3 กรณี 1) พื้นที่ไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูป มีที่ดินเกิน 500 ไร่ มีพื้นที่เป้าหมาย 426,300 ไร่, 2) พื้นที่จัดสรรให้เกษตรกรแล้ว ขายให้คนอื่นเนื้อที่ 100 ไร่ขึ้นไป มี 2 จังหวัด รวม 488 ไร่ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.นครราชสีมา และ 3) พื้นที่มีคำสั่งศาลถึงที่สุดให้ขับไล่ 3 จังหวัด 5 แปลง เนื้อที่ 5,906 ไร่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ซึ่งกระบวนการโดยรวมจะอยู่ในกรอบเวลา 129 วัน บูรณาการร่วมกับกองทัพภาค โดยตั้ง "วอร์รูม" ก่อนลุยรื้อถอน
โดยจังหวัดที่มีการบุกรุกครอบครองมากที่สุด คือ จ.นครราชสีมา 179 แปลง กระทรวงเกษตรฯจึงเริ่มเดินเครื่องยึดที่แรก 15 ก.ค. ร่วมทีม ส.ป.ก. กรมบังคับคดี เปิดปฏิบัติการปิดป้ายประกาศยึดคืนที่ดิน 1 ใน 3 แปลง ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ถูกศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดให้ผู้ครอบครองออกจากพื้นที่แล้ว โดยที่ดินดังกล่าวถือเป็นที่ดินที่ดำเนินการ "นำร่อง" ยึดคืนให้กลับมาเป็นของแผ่นดิน ด้วยการปิดป้ายบังคับคดีบริเวณที่ดิน ซึ่งเป็นของ พล.ต.ต.ชาลี เภกะนันทน์ อดีตรองผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้บังคับการตำรวจน้ำ เนื้อที่จำนวน 535 ไร่ ซึ่งการปักป้ายขับไล่พื้นที่ดังกล่าวนี้นับว่าเป็นที่แรก ได้สร้างความสนใจแก่ภาคประชาสังคมและบรรดานายทุนที่ดินไม่น้อยที่รัฐบาลกล้าเอาจริงเอาจัง ซึ่งพื้นที่นี้เป็นทั้งสนามม้า พื้นที่พืชไร่อย่างกว้างขวางที่สุดแล้วขณะนี้ พล.ต.ต.ชาลี ได้ทำหนังสือยินยอมมอบให้ ส.ป.ก.แล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาใช้ประโยชน์เนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคำสั่ง หน.คสช.ที่ 36/2559 สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ได้
ความคืบหน้า 3 กรณีเริ่มชัด
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า สำหรับ กรณีที่ 1 ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่นั้น ขณะนี้ได้ทำการปิดประกาศครบทั้ง 431 แปลงแล้ว 27 จังหวัด รวม 437,297 ไร่ โดยได้ทยอยปิดประกาศ 10 ครั้ง ทั้งนี้กรณีนี้แบ่งเป็นการยื่นคัด ค้าน 402 แปลง (เนื้อที่เต็มแปลง 409,028 ไร่) มีผู้ยื่นคัดค้าน 11,462 ราย คิดเป็นเนื้อที่คัดค้านรวม 282,239 ไร่ เกินกว่าเนื้อที่คัดค้าน 16,119 ไร่ เนื่องจากบางแปลงยื่นมากกว่าเนื้อที่เต็มแปลง เช่น ภ.บ.ท.5 จะไม่มีรูปแปลง ระบุเพียงเนื้อที่ตามผู้ครอบครองแจ้งหรือโฉนดคลุมพื้นที่มากกว่าแปลง ส.ป.ก. ทำให้มีเนื้อที่มากกว่า ส่วนเนื้อที่คงเหลือจากการคัดค้านดังกล่าวมีทั้งสิ้น 126,699 ไร่ และเนื้อที่ที่ไม่มีผู้ยื่นคัดค้าน เลย 29 แปลง เนื้อที่ 29,239 ไร่ 6 จังหวัด คือ กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี อุตรดิตถ์ กระบี่ นครราชสีมา และสระแก้ว (อ่านตาราง) ขณะนี้ปักประกาศให้รื้อถอน ย้ายออกแล้ว และจะครบกำหนดช่วงกลางเดือนกันยายนนี้
ส่วนกรณีที่ 2 ที่ดินที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์แล้วและครอบครองโดยบุคคลที่มิใช่ผู้ได้รับการจัดที่ดินมีเนื้อที่ตั้งแต่100 ไร่ขึ้นไป ล่าสุดข้อมูลจาก ส.ป.ก.ระบุ 1) จ.นครราชสีมา อ.วังน้ำเขียว เป็นแปลงของนางนันทภัค และ พล.ต.มหัคฆภันธุ์ สุรคุปต์ ที่ได้มีการกว้านซื้อที่ดินข้างเคียง เนื้อที่ประมาณ 244 ไร่ ประกอบเป็นธุรกิจรีสอร์ตชื่อ "กระท่อมหินนันทภัค" ซึ่งยังไม่ได้มีคำสั่งให้สิ้นสิทธิที่ดิน เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดได้มีมติให้นำวาระไปผ่านคณะอนุกรรมการระดับ อ.วังน้ำเขียวก่อน เพื่อให้ ส.ป.ก.ส่วนกลางเร่งรัดดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นนโยบาย รมว.เกษตรฯ โดยคาดว่าจะมีคำสั่งให้สิ้นสิทธิ ได้ประมาณเดือน ก.ย.นี้ และ 2) จ.พระนครศรีอยุธยา อ.วังน้อย โดยนายจิรโรจน์ อาริยะดิลกวงศ์ กับพวก ได้เช่าช่วงต่อจากผู้เช่าของ ส.ป.ก. ในพื้นที่พระราชทานจำนวน 14 แปลงรวมเนื้อที่ประมาณ 204 ไร่ ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีคำสั่งให้เกษตรกรผู้เช่าเดิมสิ้นสิทธิในที่ดินแล้ว และได้ดำเนินการปักป้ายให้ออกจากที่ดิน/รื้อถอนแล้ว
และสุดท้าย กรณีที่ 3 ที่ดินที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สำนักงานการปฏิรูป ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว และมีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป แบ่งเป็น 1) แปลงที่สามารถยึดได้แล้ว 2 แปลง คือ แปลงของ พล.ต.ต.ชาลี เภกะนันทน์ ดั่งข้างต้น และแปลงของนายสุทัศน์ คุณรักษ์พงศ์ จ.สุราษฎร์ธานี คาบเกี่ยว จ.กระบี่ มาจัดรูปที่ดินเพื่อเตรียมมอบให้แก่กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตร ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) 2) แปลงที่พร้อมดำเนินการยึด 1 แปลง คือ แปลง นายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ เนื้อที่ 1,028 ไร่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะนี้ศาลได้มีหมายบังคับแล้ว และกรมบังคับคดีพร้อมเข้ายึด
และ สุดท้ายคือ 3) แปลงที่ยังรอผลเจรจา จำนวน 2 แปลงคือ บ.จิวกังจุ้ยพัฒนา เนื้อที่ 1,435 ไร่ คาบเกี่ยว จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านเข้ามาบุกรุกที่ดินทำกิน ซึ่งก่อนหน้านี้ตัวแทนเครือข่ายได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนถึงผลกระทบของชาวบ้านจากการเข้ายึดที่ดิน ด้วยมาตรา44 ว่าไม่เป็นธรรม โดยให้นายอำนวย ปะติเส ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังอยู่ระหว่างรอผลการเจรจา รวมไปถึงพื้นที่แปลง บ.รวมชัยบุรีปาล์มทอง เนื้อที่ 1,479 ไร่ จ.สุราษฎร์ธานี กลุ่มเกษตรกรเข้าบุกรุกที่ดินทำกินเต็มแปลง อยู่ระหว่างหาข้อยุติในการเข้ายึด พื้นที่เช่นเดียวกัน ดังนั้นสรุปทั้ง 3 กรณี ขณะนี้สามารถยึดคืนได้ รวมเนื้อที่ 153,752 ไร่ เต็มแปลง 32 แปลงไม่เต็มแปลง 402 แปลง
กษ.เจียดงบฯกลาง 20 ล. จัดสรรที่ให้เกษตรกร
ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัยยังได้อนุมัติงบฯกลาง ประจำปีงบประมาณ 2559 ในการดำเนินงานเร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ โดยการรับรองสิทธิ์ร่วมกันตามข้อเสนอของ ส.ป.ก. วงเงินทั้งสิ้น23,634,700 บาท เพื่อนำไปจัดสรรพื้นที่ จำนวน 3 แปลง คือ 1.พื้นที่ของนายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ ซึ่งครอบครองพื้นที่ ส.ป.ก. เนื้อที่รวม 1,027 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 2.พื้นที่ของนายสุทัศน์ คุณรักษ์พงษ์ (แปลงที่ 1) เนื้อที่รวม 715 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และ 3.นายสุทัศน์ คุณรักษ์พงษ์ (แปลงที่ 2) เนื้อที่รวม 256ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี มาจัดรูปที่ดินเพื่อเตรียมมอบให้แก่กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตร ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ต่อไป
"ผมต้องเดินตามแผนโรดแมปต่อไป โดยท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการว่าให้เดินหน้าเต็มที่ ไม่มีเกรงกลัวใคร และเน้นย้ำจะต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน โดยใช้ Agri-Map พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ และใช้รูปแบบสหกรณ์ปฏิรูปที่ดิน ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี พื้นที่ที่ยึดคืนได้ทั้งหมด ณ เวลานี้ 153,752 ไร่ หากดูที่ระยะเวลาอันสั้นทำได้ขนาดนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินเป้า" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.