ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของ เกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 800 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 – 31 กรกฎาคม 2559 ในหัวข้อ “ภาวะหนี้สินของเกษตรกรไทย ปี 2559” โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อสอบถามเกษตรกรไทยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และภาระหนี้สิน 2.เพื่อสอบถามสาเหตุที่ส่งผลต่อปริมาณหนี้สิน และ 3.แนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วยตนเองของเกษตรกรไทย สรุปผลได้ดังนี้
จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2559 เกษตรกรร้อยละ 45.18 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไปจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 36.42 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 18.40 ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า เกษตรกรถึงร้อยละ 90.03 มีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่มีหนี้สิน ไม่เกิน 100,000 บาท และคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภาย ในระยะเวลาระหว่าง 6 – 10 ปี (ร้อยละ 41.19) ไม่เกิน 5 ปี (ร้อยละ 38.98) และมากกว่า 10 ปี (ร้อยละ 19.83) ตามลำดับ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 79.95 กู้ยืมเงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รองลงมาได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน (ร้อยละ 58.01) สหกรณ์การเกษตร (ร้อยละ 34.55) แหล่งเงินกู้นอกระบบ (ร้อยละ 15.39) ธนาคารพาณิชย์ (ร้อยละ 9.71) และอื่นๆ เช่น ยืมญาติพี่น้อง (ร้อยละ 1.13) ตามลำดับ ส่วนภาระหนี้สินในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรถึงร้อยละ 47.88 มีภาระหนี้สินมากขึ้น ส่วนร้อยละ 40.28 มีภาระหนี้สินไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 11.84 ที่มีภาระหนี้สินลดลง
เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนหนี้สิน พบว่า เกษตรกรมีความเห็นว่าการที่ราคาผลผลิตตกต่ำ และภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง หรือน้ำท่วม เป็น 2 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาระหนี้สิน ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงแนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วย ตนเอง พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.57 จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐบาล เช่น โครงการยกระดับรายได้ของเกษตรกร โครงการพักชำระหนี้ รองลงมาได้แก่ การวางแผนควบคุมการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ เช่น การจัดทำบัญชีครัวเรือน (ร้อยละ 45.52) ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไปจากเดิม เช่น พืชที่ใช้น้ำน้อย (ร้อยละ 43.38) รวมกลุ่มเพื่อทำการระดมทุน หรือสร้างอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ (ร้อยละ 32.03) และการปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยง โดยเน้นพืช/สัตว์ที่ให้ผลตอบแทนสูง (ร้อยละ 29.76) ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่าภาระหนี้สินของเกษตรกรเป็นปัญหาที่เกิดจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าว ภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว อีกทั้งสถาบันการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ควรพิจารณานโยบายการให้สินเชื่อ โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่อในรูปของสินเชื่อกลุ่มเกษตรกร แทนการให้สินเชื่อรายบุคคล เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้เกษตรกรเองควรมีแนวทางการปรับตัว เช่น วางแผนควบคุมรายจ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกและสัตว์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ และรวมกลุ่มเพื่อทำการระดมทุนหรือสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น
ที่มา : เชียงใหม่นิวส์ วันที่ 12 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.