โดย - สุรัตน์ อัตตะ
การปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทดแทนตามแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก หรือ อะกริแม็พ (Agri-Map) ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ นั้น นับเป็นอีกทางเลือกให้แก่เกษตรกร ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินและกรมส่งเสริมเกษตรกรดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ที่สำคัญยังช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ด้านหม่อนไหมตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อสืบสานอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่คู่ผืนแผ่นดินสืบไปด้วย
นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผย “คม ชัด ลึก” ว่า ที่ผ่านมากรมหม่อนไหมได้บูรณาการส่งเสริมปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อสู้วิกฤติ ภัยแล้งในพื้นที่ อ.หันคา จ.ชัยนาท ซึ่งเป็น 1 ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 341 ราย โดยมุ่งส่งเสริมพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เลี้ยงสุกร โดยพัฒนาสูตรอาหารสุกรด้วยการใช้ใบหม่อนทดแทนอาหารข้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าอาหารข้นได้ถึง 50% และพบว่าลูกสุกรโตเร็ว หลับดี และสุขภาพแข็งแรง ส่วนมูลสุกรที่ได้ยังใช้เป็นปุ๋ยคอกบำรุงต้นหม่อน ผลิตแก๊สชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น เป็นหนึ่งช่องทางที่จะทำให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพแบบพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวสนใจปรับเปลี่ยนอาชีพทำนามาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพิ่มขึ้น โดยขยายพื้นที่ปลูกหม่อนไปแล้วกว่า 50 ไร่
“ขณะนี้ต้นหม่อนที่ปลูกลอตแรกสูงกว่า 1.20 เมตร และใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตใบหม่อนได้แล้ว ภายในเดือนกันยายน 2559 จะสร้างโรงเลี้ยงไหมให้เสร็จสมบูรณ์และเริ่มเลี้ยงไหมได้ คาดว่าใน 3 เดือนข้างหน้าเกษตรกรต้นแบบจะสามารถผลิตรังไหมจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อได้ ราคารับซื้อขั้นต่ำกิโลกรัมละประมาณ 180 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้ว เกษตรกรยังนำใบหม่อนไปเลี้ยงสุกรและเลี้ยงปลาด้วย”
นายอภัยระบุอีกว่า ในปีนี้กรมหม่อนไหมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการขับเคลื่อนโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่อะกริแม็พ ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลังในพื้นที่ไม่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมรังเหลืองและไหมรังขาวนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และอุทัยธานี เกษตรกร จำนวน 149 ราย รวมพื้นที่กว่า 450 ไร่ เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น พร้อมรักษาและสืบสานอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่สืบไปตามพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ด้วย
ขณะเดียวกันยังเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดรังไหม ภายใต้กลไกประชารัฐและความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกร เช่น ส่งเสริมการจัดทำคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ระหว่างเกษตรกรจังหวัดอุทัยธานีกับผู้รับซื้อ คือ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด โดยประกันราคารับซื้อขั้นต่ำทั้งไหมรังขาวและไหมรังเหลือง ตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อรังไหม ซึ่งจะพิจารณาตามเปอร์เซ็นต์เปลือกรัง และรังดี/รังเสีย เป็นต้น ส่วน จ.ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จะเน้นส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมหัตถกรรม รวมถึงการผลิตเส้นไหม สาวเส้น และทอผ้าไหม
ทว่าปัจจุบันราคาซื้อขายรังไหมสำหรับไหมรังเหลืองอยู่ที่กิโลกรัมละ 160-180 บาท ส่วนไหมรังขาวอยู่ที่ 180-220 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพตามเกณฑ์การรับซื้อที่กำหนด อนาคตคาดว่า เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนการผลิตข้าว อ้อย และมันสำปะหลังในพื้นที่ไม่เหมาะสม มาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทดแทน จะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น สำหรับเกษตรกรที่ปลูกหม่อน 4 ไร่ คาดว่าจะมีรายได้จากการขายรังไหมประมาณ 7,000-8,000 บาทต่อเดือน พื้นที่ปลูกหม่อน 6 ไร่ จะมีรายได้เฉลี่ย 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน และถ้าพื้นที่ปลูกหม่อน 10 ไร่ คาดว่าจะมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาท นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังลดปริมาณการนำเข้าไหมรังขาวและไหมรังเหลืองจากต่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมหม่อนไหมขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานการประชุมวิชาการ หม่อนไหมโลกครั้งที่ 24 และงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 11 ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 10-14 สิงหาคม 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อร่วมสืบสานภูมิปัญญาหม่อนไหม นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วย
..........................................
“อดทน มีวินัย ใจเย็น”เสียงสะท้อนเกษตรกรดีเด่น
นางอนงค์ ศรีไชยบาล เจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาหม่อนไหม ปี 2559 และประธานกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จ.ร้อยเอ็ด กล่าวยอมรับว่า อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นวิชาชีพที่มีความอดทน มีวินัย และใจเย็น เนื่องจากในการปลูกหม่อนต้องปลอดภัยจากสารเคมี เพราะใบหม่อนเมื่อนำมาเลี้ยงตัวหนอนไหม หากมีสารเคมีก็จะทำให้ตัวหนอนไหมตายได้ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนให้เกษตรกรจัดทำพื้นที่การเกษตรเป็นแบบแปลงใหญ่ ใช้ระบบน้ำหยด มีการตัดแต่งกิ่งหม่อนและวิธีการเลี้ยงไหมอย่างเป็นระบบสามารถเลี้ยงไหมได้ 6-8 รุ่นต่อปี ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง
“การแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากไหมเราจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างเศษรังไหมก็ไม่ทิ้ง แต่จะนำมาประดิษฐ์เป็นของชำร่วย เช่น พวงกุญแจ ดอกไม้ เป็นต้น ทำให้บางครั้งแม้จะเกิดภาวะผลผลิตตกต่ำ ชาวบ้านก็ไม่ละทิ้งอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ยังคงยืนหยัดสู้ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อและยังคงมองว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพที่ดีที่สุดตลอดมา” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติคนเดิม กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 9 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.