หลังจากที่ ครม.ให้ความเห็นชอบในการดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาค ตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับมอบหมายให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยจัดให้มีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทั้งระบบ แผนดำเนินการด้านผังเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2560-2561 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะประกอบไปด้วย Super Cluster/Cluster ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมกับ อุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 10 ประเภทตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้
การจัดทำรายงาน SEA
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ คนพ. ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนกลางในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็น "หัวใจ" ของการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้เกิดขึ้นให้ได้ เบื้องต้นภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ร่วมกับ 3 สถาบันภาคเอกชน (สภาอุตสาหกรรม-สภาหอการค้า-สมาคมธนาคารไทย)
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยมีเลขาธิการเป็นหัวหน้าสำนักงานโดยคณะกรรมการนโยบายจะมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย/อนุมัติแผนงาน/มาตรการประเมินผลการทำงาน กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการ และที่สำคัญที่สุดก็คือ อำนาจในการประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในบริเวณ 3 จังหวัดข้างต้นเป็น "เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ"
ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะเป็นกลไกหลักในการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯออกประกาศอีกทีหนึ่งที่สำคัญก็คือ สำนักงานยังมีหน้าที่ในการจัดทำรายงานที่เรียกว่า "รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า รายงาน SEA (Strategic Environmental Assessment) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกทั้งหมด
รายงาน SEA สำคัญอย่างไร ? เบื้องต้นกำหนดให้การทำรายงาน SEA มีผลเทียบเท่ากับการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ของคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ รายงาน SEA จะครอบคลุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน/สาธารณูปโภคที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม-เขตอุตสาหกรรม-เขตประกอบการอุตสาหกรรม-สวนอุตสาหกรรมโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตจนอาจกล่าวได้ว่ารายงาน SEA ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการจะมีผลเทียบเท่ากับรายงาน EIA หรือถ้าผ่านรายงาน SEA แล้วก็ไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA อีก
กองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯกองทุนนี้จะมีหน้าที่สำคัญในการเยียวยา/ฟื้นฟูพื้นที่/ชุมชน/ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยเงินกองทุนเบื้องต้นจะมาจากงบประมาณของรัฐบาลส่วนหนึ่งและมีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นผู้กำหนดต่อไป
สำหรับหน้าที่อื่นของสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษฯยังมีอำนาจในการจัดสรรที่ดิน การควบคุมการใช้ประโยชน์ของที่ดิน การร่วมลงทุน/ลงทุนในรูปของการตั้งบริษัท/บริษัทมหาชน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การออกใบอนุญาต/การอนุญาตในการควบคุมอาคาร-การจดทะเบียนประกอบกิจการ-การตั้งโรงงาน ซึ่งการอนุญาต-ขออนุญาตเหล่านี้เดิมอยู่ในอำนาจตาม พ.ร.บ.ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ถูกโอนให้มาอยู่ในอำนาจของเลขาธิการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
และยังสามารถที่จะตั้งศูนย์ประสานงานด้านการบริการลงทุนแบบศูนย์บริการร่วมหรือ OneStop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ด้วย
สิทธิของนักลงทุนต่างด้าว
สำหรับผู้ประกอบการต่างด้าวที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะได้รับสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลา50ปีซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30 ปีในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังสามารถนำผู้บริหาร/ผู้เชี่ยวชาญ หรือช่างฝีมือ ที่เป็นต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามระยะเวลาที่กำหนดสิทธิในการถือครองเงินตราต่างประเทศได้โดยไม่ต้องรีบแลกเป็นเงินบาทและการอนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศสามารถเข้ามาเปิดสำนักงานบริการได้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ด้านสิทธิประโยชน์ในการลงทุนผู้ลง ทุนจะได้รับการ"ยกเว้น"หรือ "ลดหย่อน" ภาษีใน 2 กรณีคือ สิทธิภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ภาษีนิติบุคคลจะได้รับการ "ยกเว้น" ไม่เกิน 13 ปี (จากเดิม 8 ปี) นักลงทุนต่างด้าวสามารถซื้อที่ดินได้ (เช่าที่ราชพัสดุได้ 50+49 ปีภายใต้ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ) และได้รับอนุมัติการทำงานได้เป็นระยะเวลา 4 ปี กับ สิทธิภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภาษีนิติบุคคล "ยกเว้น" ไม่เกิน 15 ปี ภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาเป็น O% หรือ 15%
โดยสิทธิเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
เบื้องต้นเชื่อว่าจะมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันอ อก1.5ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี แบ่งเป็น การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Super Cluster/Cluster/10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย) จำนวน 500,000 ล้านบาท, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 400,000 ล้านบาท, การก่อสร้างเมืองใหม่-โรงพยาบาล-โรงเรียน-ที่อยู่อาศัย 400,000 ล้านบาท และการท่องเที่ยวคุณภาพ/เชิงคุณภาพอีก 200,000 ล้านบาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 9 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.