“เอกชน”ยื่นซองประมูลเช่าที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่คึกคัก “ตราด” เข้าประมูลรายเดียว ขณะ“มุกดาหาร-หนองคาย” ไร้ผู้ประมูล ธนารักษ์เตรียมปรับเงื่อนไข
กรมธนารักษ์ เปิดให้ภาคเอกชน ยื่นซองประมูลพัฒนาพื้นที่ เพื่อทำนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัด คือ หนองคาย ตราด มุกดาหาร โดยให้เอกชนเข้าซื้อเอกสารการประมูลตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และสิ้นสุดการซื้อซองประมูลในวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้มีเอกชนให้ความสนใจแห่ซื้อซองประมูลมากถึง 19 ราย แต่ปรากฎว่าวันที่ยื่นซองประมูล มีเอกชนให้ความสนใจน้อยมาก
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลถือเป็นนโยบายหลักในการกระจายความเจริญและเขตอุตสาหกรรมสู่ส่วนภูมิภาค แต่เมื่อมีผู้สนใจน้อยสะท้อนให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวยังไม่ดึงดูดนักลงทุนเพียงพอ ทั้งเงื่อนไขการพัฒนาและโอกาสทางการค้าการลงทุน
นายจักรกฤษฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่ากรมธนารักษ์จะเสนอปรับปรุงเงื่อนไขของการลงทุนเช่าที่ดินราชพัสดุอีกครั้ง เพื่อทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น
นายจักรกฤษฎิ์ ระบุว่าจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเช่าที่ราชพัสดุในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ระยะเวลาการพิจารณาเพื่อเข้าร่วมประมูล ที่ให้ภาคเอกชนเพียง 60 วัน ถือว่าสั้นไปหรือไม่ 2.ราคาค่าเช่าที่ราชพัสดุที่กำหนดไว้สูงไปหรือไม่ 3.เมื่อชนะการประมูลแล้วจะสามารถนำที่ดินดังกล่าวไป ให้เช่าต่อได้หรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับประเด็นที่ผู้ชนะประมูล สามารถนำที่ไปให้เช่าต่อได้หรือไม่นั้น ตนได้หารือกับนักกฎหมายเบื้องต้น มีความเห็นว่า สามารถนำไปให้เช่าต่อได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากการนิคมแห่งประเทศไทย
“ยอมรับว่า ผลการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าประมูลที่ราชพัสดุเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาลนั้น มีภาคเอกชนยื่นซองเพื่อเข้าประมูลโครงการพัฒนาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจในจังหวัดตราดจำนวน 1 ราย ขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา หากเข้าเงื่อนไขและมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดไว้ จะเสนอรายชื่อไปยังคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่ออนุมัติ”
หวั่นผิดก.ม.หากปล่อยเช่าต่อ
ส่วนพื้นที่เขตเศรษฐกิจในจ.มุกดา หาร และจ.หนองคาย ยังมีข้อกังวลว่า ถ้าเอกชนมาขอเช่าที่ราชพัสดุ มีระยะเวลาเช่า 50 ปี แล้วนำไปปล่อยเช่าต่อ สามารถทำได้หรือไม่ โดยภาคเอกชนกลัวว่า จะผิดกฎหมายของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดังนั้น กรมธนารักษ์ จึงให้ฝ่ายกฎหมายไปดูเรื่องนี้ให้ละเอียด รวมถึงต้องหารือกับ กนอ.ให้ชัดเจน สำหรับ จ.สงขลานั้น ยังแก้ปัญหาผู้บุกรุกยังไม่แล้วเสร็จ
สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย มีเนื้อที่ทั้งแปลง 718-0-46 ไร่ โดยรัฐบาลมีโครงการรถไฟกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ ศักยภาพของที่ดิน เป็นช่องทางการค้าชายแดนของไทยกับ สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุด เมื่อเทียบกับการค้าชายแดนอื่นๆ และพื้นที่อยู่ใกล้สนามบินอุดรธานีเพียง 60 กิโลเมตร
ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เนื้อที่สองแปลงรวม 1,080-3-18.7 ไร่ โดยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ เขตชายแดนมุกดาหารเป็นจุดผ่านแดน ถาวร เชื่อมต่อกับแขวงสะ-หวัน-นะ-เขต สปป.ลาว มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับลาว เป็นอันดับสองของประเทศ ศักยภาพของที่ดิน อยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก เชื่อมโยงเข้าสู่ลาวและเวียดนาม ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญในการขนส่งสินค้าไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้
ขณะที่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด เนื้อที่ทั้งแปลง 895-0-44 ไร่ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ อยู่ใกล้ด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่เชื่อมต่อเกาะกง ประเทศกัมพูชา ศักยภาพของที่ดินอยู่บนแนวระเบียง เศรษฐกิจตอนใต้ เชื่อมโยงถึงท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสีหนุวิลล์ (กัมพูชา) และมีฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่ เชื่อมโยงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง ประเทศกัมพูชา
เงื่อนไขเดิมยื่นซองประมูล
สำหรับเงื่อนไขการยื่นประมูลที่ กรมธนารักษ์ ออกมาก่อนหน้านี้ จะให้เวลา 60 วัน เพื่อให้ผู้สนใจเข้ายื่นซอง ประมูล โดยต้องจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งรวมถึงแผนการไฟแนนซ์เงิน และการเสนอมูลค่าการประมูล จากนั้นจะใช้เวลา 30 วันในการพิจารณาข้อเสนอ และกระบวนการพิจารณาประมูลทั้งหมดของกรมธนารักษ์ จะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.นี้ จากนั้นจึงเสนอคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษและคณะรัฐมนตรี และภายในปีนี้ การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ เงื่อนไขพิเศษที่ธนารักษ์เสนอให้ ได้แก่ ภาษีศุลกากร สรรพากร บีโอไอ ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐาน ได้เข้าถึงหน้าบริเวณพื้นที่ที่เปิดให้ประมูลทั้งหมด รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประมูล ไม่ต้องปฎิบัติตามกฎหมายร่วมทุน ผู้ประมูลสามารถขึ้นโครงการได้เลย
สัญญา เช่าที่ดินในเขต 3 จังหวัดดังกล่าว จะมีอายุ 50 ปี ราคาค่าเช่า และค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ คือ ค่าเช่ากำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 24,000 บาทต่อไร่ต่อปี ,ส่วนค่าธรรมเนียม กำหนดไว้ที่ 160,000 บาทต่อไร่ต่อปี โดยรัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ไฟฟ้า ประปา ใน 3 พื้นที่ดังกล่าว รวมกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ รายได้จากค่าเช่าและค่าธรรมเนียมตลอด 50 ปี จะอยู่ประมาณกว่า 500 ล้านบาท แต่สิ่งที่ภาครัฐจะได้รับกลับคืน การลงทุนในพื้นที่ชายแดนใน 3 จังหวัดดังกล่าว ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่
ส.อ.ท.ชี้ยังไม่ตอบโจทย์การลงทุน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนน้อย ก็เพราะว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของนักลงทุนได้ดีพอ โดยเฉพาะในเรื่องของราคาค่าเช่าที่ดินที่ยังสูงเกินไป รวมทั้งยังไม่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ยิ่งให้ผู้ประกอบการยังมีกำลังการผลิตเหลือ ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเพิ่ม และบางส่วนก็ขาดแคลนเงินลงทุน ทำให้ไม่พร้อมที่จะออกไปตั้งโรงงานใหม่
“เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอาจจะเหมาะกับอุตสาหกรรมบางประเภทที่ประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการสูง และมีต้นทุนการขนส่งสูง เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติกพื้นฐานที่ใช้ในครัวเรือนต่างๆ แต่อุตสาหกรรมบางส่วนยังคงมองว่าการใช้ฐานการผลิตเดิมก็สามารถส่งขายชายแดนได้ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุนตั้งโรงงานใหม่ ทำให้ไม่มีแรงจูงจให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่นี้” นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐจะดึงดูดให้ผู้ประกอบการขยายไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่ม จะต้องให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆจูงใจมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนเห็นได้ชัดว่าการเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าต้นทุนการขนส่งจะลดลง รวมทั้งจะต้องรอภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น จึงจะทำให้เอกชนกล้าออกไปลงทุนในพื้นที่ใหม่
เผยลงทุนเพื่อนบ้านได้ประโยชน์มากกว่า
ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการชายแดน กล่าวว่า การที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนน้อย ก็เพราะมองว่าการออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆมากกว่า ทั้งสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน และการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากประเทศผู้นำเข้าต่างๆ รวมทั้งค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าลงทุนในประเทศไทย ซึ่งการลงทุนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แม้จะมีมาตรการส่งเสริมด้านต่างๆ แต่ก็ได้น้อยกว่าการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
“รัฐบาลควรจะส่งเสริมให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไปลงทุนตั้งนิคมฯชายแดนในประเทศเพื่อนบ้านจะดีกว่า เพราะอยู่ติดประเทศไทยเดินทางไปมาง่าย ได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ได้รับจีเอสพี และไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างสูงเหมือนที่อยู่ในประเทศไทย” แหล่งข่าว กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 ส.ค. 2559