นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ตามแผนการปลูกข้าวครบวงจรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายจะลดการผลิตข้าวลง เหลือ 27.7 ล้านตันข้าวเปลือกในพื้นที่ 50.8 ล้านไร่ กำหนดการส่งออกไว้ที่ 9 – 10 ล้านตันข้าวสาร และบริโภคในประเทศ 10 ล้านตันข้าวสาร โดยเริมดำเนินการในปี 2559/60 นั้น คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยในขณะนี้เกษตรกรปลูกข้าวไปแล้วกว่า 37 ล้านไร่ ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากฝนมาช้าจากที่ควรจะเริ่มปลูกได้ในเดือนพฤษภาคม ต้องเลื่อนมาเป็นเดือนกรกฎาคมแทน ซึ่งช่วงเวลาการปลูกเหลือเพียงกลางเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้น คาดว่าเกษตรกรจะเร่งดำเนินการมากขึ้น อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถทำนาได้ทันโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลางประมาณ 1.5 ล้านไร่ เนื่องจากผลผลิตจะเจอกับฤดูน้ำหลากในเดือนตุลาคม กระทรวงเกษตรฯจะปรับแผนในการทำนารอบที่ 2 แทน ให้มีพื้นที่มากขึ้นจากที่กำหนดไว้ 7 ล้านไร่ แต่ต้องดูปริมาณน้ำในเขื่อนด้วย
นายอนันต์ กล่าวว่า สำหรับการทำนาแปลงใหญ่ที่รัฐบาลร่วมกับภาคเอกชนภายใต้โครงการประชารัฐ ในขณะนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่งเกษตรกรให้ความสนใจ และน่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องโดบบริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เข้ามาช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยีการปลูกข้าวในญี่ปุ่นเข้าเป็นต้นแบบการเปลี่ยนรูปแบบการทำนา เนื่องจากประสบปัญหาที่ผ่านมาคล้ายกันทั้งแรงงานน้อยลงเป็นแรงงานสูงอายุมากขึ้น การบริโภคข้าวในประเทศลดลง จึงต้องใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย ขยายขนาดแปลงจนปัจจุบันมีการรวมกลุ่มตั้งบริษัทขึ้นสร้างอำนาจต่อรองและสร้างความเชื่อมั่นผลิตข้าวคุณภาพดีเพื่อส่งออกในตลาดบน ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านเงินชดเชยและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนวนมาก
“สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นคือไทยเกษตรกรมีมาก การอุดหนุนด้วยเงินชดเชยจะเป็นภาระของรัฐบาล การถือครองพื้นที่ไทยมีทิศทางลดลงจาก 30 ไร่ในอดีตตอนนี้เหลือ 14 ไร่/รายเท่านั้น จึงต้องร่วมกับภาคเอกชนในการสนับสนุนทำแปลงใหญ่ ใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยสร้างแรงจูงใจจากการเชื่อมโยงภาคการตลาดแทน เป็นทิศทางเดียวเกษตรกรไทยจะอยู่รอด” นายอนันต์ กล่าว
นาย โอภาศ ธัญวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การร่วมโครงการประชารัฐ ปีนี้มีเป้าหมายทำแปลงใหญ่ใน 6 แปลง ซึ่งเริ่มไปแล้ว 3 แปลงใน จ.ศรีสะเกษ 2 แปลง และอุดรธานี 1 แห่ง ส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ 3 แปลงในจ.น่าน แพร่ และพิษณุโลก โดยจะขยายไปในพื้นที่อื่นๆในปีต่อไป ซึ่งไทยในขณะนี้มีอัตราการใช้เครื่องจักรมากขึ้น ในข้าวมีการใชเครื่องจักรในกระบวนการผลิตมากถึง 70 % มีโอกาสจะพัฒนาได้ถึง 90 % ส่วนพืชไร่อื่นยังน้อยในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว แต่ยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีการใช้เครื่องจักรในภาคการเกษตรเพียง 30 %เท่านั้น ซึ่งในโครงการแปลงใหญ่ คูโบต้าจะเข้าไปแนะนำการใช้เครื่องจักร เกษตรกรสามารถเช่าซื้อได้เพื่อรวมกลุ่มกันใช้ สิ่งที่อยากเห็นคือเครื่องจักรที่ได้ไปแล้วต้องใช้ให้เต็มศักยภาพ จึงมีการส่งเสริมให่ปลูกพื่นหลังนาด้วย พร้อมทั้งสร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องการซ่อมบำรุงดูแลรักษา เบื้องต้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ
ที่มา : มติชน วันที่ 3 ส.ค. 2559