หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้ยุติการตัดไม้สักในแปลงปลูกป่าขององค์การอุตสา หกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) บริเวณบ้านป่าสักงาม หมู่ 1 ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อมาสร้างรัฐสภา และให้หาวิธีการฟื้นฟูร่วมกับชุมชน เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สร้างความสับสนว่า ตามสิทธิในการนำป่าไม้เศรษฐกิจมาใช้ประโยชน์เพื่อก่อให้เกิดรายได้อย่างไร เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนให้ประเทศไทยมีป่าไม้ในพื้นที่ 40% แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25% หรือ 80 ล้านไร่ และป่าเศรษฐกิจ 15% หรือ 48 ล้านไร่ หลังจากพบว่าพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง จาก 171 ล้านไร่ ในปี 2504 เหลือ 107.6 ล้านไร่ ในปี 2552 ขณะที่ประไทยไทยต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศปีละ 6-9 หมื่นล้านบาท
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ยืนยันระหว่างเป็นประธานเปิดงานเสวนาหัวข้อ “ประชารัฐ ป่าเศรษฐกิจ ช่วยชีวิต ช่วยชาติ” จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จัดเสวนา ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้เข้าใจป่าเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง และการจัดการป่าไม้เศรษฐกิจว่าจะทำอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้เอกชนและเกษตรกรหันมาปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยมีป่าไม้รวมแล้วในพื้นที่ไม่น้อย 40% นั่นเอง
ด้าน ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดี และรักษาการแทนคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยเกิดวิกฤติป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2531 ฉะนั้นนโยบายปลูกป่าไม้เศรษฐกิจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าได้ ทำให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมปลูกป่าเศรษฐกิจ 15% และป่าอนุรักษ์กำหนดไว้ 25% เพื่อให้ประเทศไทยมีป่าไม้ 128 ล้านไร่
“การทำป่าเศรษฐกิจที่ดีต้
องกำหนดแผน 8 ปี ปลูกปีละ 1 โซน พอครบ 8 ปี โซนแรกสามารถตัดนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อตัดแล้ว ปลูกใหม่ หมุนเวียนตลอดเวลา ทำให้สภาพป่าสมบูรณ์เหมือนเดิม ปัจจุบันเอกชนปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ 18 ล้านไร่ และของ อ.อ.ป.อีกราว 1.5 ล้านไร่ เป็นไม้สัก 6.2 แสนไร่ ไม้ยูคาลิปตัส 2.28 แสนไร่ ไม้ยาง 4.5 หมื่นไร่ ป่าอื่นอีกกว่า 2.8 แสนไร่ ผมยืนยันว่าคนที่ทำธุรกิจปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจ เป็นผู้ที่ลดโลกร้อน ไม่ใช่ผู้ร้าย” ดร.ดำรงค์ กล่าว
นายบริพัตร เศียรวุฒินันท์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า การส่งเสริมให้มีการปลูกป่าเศรษฐกิจให้ได้ 15 % ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยหลายด้าน จะทำได้เฉพาะผู้ที่สายพานยาวเท่านั้น ในส่วนของเกษตรกรโอกาสที่จะได้ยากเนื่องจากต้องใช้เวลา ต้องคำนึงถึงรายได้ด้วย หากจะให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมายต้องได้รับความสนับสนุนและความร่วมจากภาคเอกชน โดยเฉพาะพื้นที่ภูเขาโล้น แต่อาจมีปัญหากับที่จับจองได้เหมือนกัน ซึ่งความจริงการปลูกป่าเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ สร้างรายได้ให้ประเทศชาติและชุมชน เป็นอย่างดี
ขณะที่ นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการ อ.ป.ป. ระบุว่า ประเทศไทยต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศปีละ 6-9 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นหากต้องการให้มีป่าเศรษฐกิจได้ 15% รัฐต้องสนับสนุนเอกชนและเกษตรกรอย่างจริงจัง ส่วน อ.อ.ป.ไม่มีพื้นที่จะปลูกป่าต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ทุกวันนี้การปลูกป่าเศรษฐกิจที่ อ.อ.ป.รับผิดชอบมีเพียง 1.5 ไร่เท่านั้น หากรัฐบาลมีนโยบายให้เพิ่มพื้นที่ปลูก อ.อ.ป.ก็พร้อมที่จะดำเนินการ
พอสรุปได้ว่าการผลักดันให้ป่าเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย รัฐต้องสนับสนุนเอกชน-เกษตรกรอย่างจริงจังในรูปแบบของประชารัฐจึงจะสำเร็จได้
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 2 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.