โดย : กัญสุชญา สุวรรณคร
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2560 หลังครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....
ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ภาษีฯ ดังกล่าว ถือ “แรงกระเพื่อม” ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการถือครองที่ดินทั้งในมุมของ “เจ้าของที่ดิน” - “นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” และ “ประชาชนทั่วไป” ตามฐานภาษีฯใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้น
โดยร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเพดานการจัดเก็บภาษีฯที่ดินเป็น 4 ประเภท คือ 1.พื้นที่เพื่อเกษตรกรรม กำหนดเพดานจัดเก็บภาษี 0.2% ของฐานภาษี 2.บ้านพักอาศัย เพดาน 0.5% ของฐานภาษี 3.ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมและอื่นๆ เพดานจัดเก็บภาษี 2% ของฐานภาษี และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานจัดเก็บภาษีที่ 5% ของฐานภาษี
ที่ผ่านมา นักพัฒนาอสังหาฯ เย็นใจว่าภาษีที่ดินฯใหม่ จะ “กระตุ้น” ให้เจ้าของที่ดิน ปล่อยที่ดินในครอบครองออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลดีต่อนักพัฒนาอสังหาฯ จากที่ดินที่จะไหลเข้ามือให้พัฒนามากขึ้น จากที่ผ่านมาที่ดินแปลงงามเหลือน้อยลง และราคายังแพงระยับ
ทว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ...!!
ในมุมมองของ “สัญชัย คูเอกชัย” รองกรรมการผู้จัดการ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ปัจจุบันที่ดินส่วนใหญ่ในไทย อยู่ในการครอบครองของ 50 ตระกูลใหญ่ ประเมินว่ามีปริมาณ 30-40% ของที่ดินทั่วประเทศ
โดยกลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 5 รายใหญ่แรกๆ ของประเทศ ประกอบด้วย กลุ่ม บริษัททีซีซี แลนด์ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ,กลุ่มสิงห์ ของตระกูลภิรมย์ภักดี ,เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ของตระกูลเจียรวนนท์ ,กลุ่มบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ของตระกูล วิจิตรพงศ์พันธุ์ กลุ่มบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ของตระกูลเรืองกฤตยา และกลุ่มบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ของตระกูล อัศวโภคิน
ซึ่งพบว่า ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหว โดยตระกูลดังเหล่านี้เลือกที่จะนำที่ดินต้นทุนเดิม มาพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดิน แทนการขายทอดตลาด
เมื่อเป็นเช่นนี้ สะท้อนว่า นักพัฒนาอสังหาฯหน้าเดิม กำลังเผชิญ “การแข่งขัน" ที่ดุเดือดในระดับ "ยักษ์ ชน ยักษ์"
แถมผู้มาใหม่ยังมี “แต้มต่อ” จากราคาที่ดินต้นทุนเดิมที่สะสมไว้
เหตุผลนี้เอง ทำให้เริ่มเห็นนักพัฒนาอสังหาฯ หลายรายเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจ กันยกใหญ่
เพื่อบริหารเสี่ยง-เพิ่มทางรอด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ก.ค. 2559