ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 130 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม จำนวน 16.67 ล้านไร่ ส่งผลต่อต้นทุนที่สูงมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้กรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map ซึ่งแผนที่ดังกล่าว เป็นแผนที่เกษตรที่บ่งบอกด้านการเกษตรทุกมิติ ทั้งเรื่องของดิน น้ำ พืช โรงงาน ตลาด และโลจิสติกส์เป็นต้น
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้บริหารนโยบายที่จะใช้ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนในระดับปฏิบัติการในการขับเคลื่อนกิจกรรมการผลิตภาคการเกษตรของไทย โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการจัดทำแผนที่ Agri-Map ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศและได้ส่งมอบพร้อมทั้งทำความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับจังหวัดแล้ว
โดยในแผนที่ Agri-Map ได้นำเรื่องดินและน้ำมาใส่ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำการเกษตร และได้มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) การทำเกษตรในพื้นที่เหมาะสม รวมทั้งเหมาะสมในระดับปานกลางและดีมาก 2) การทำเกษตรในพื้นที่ไม่ค่อยเหมาะสม และ 3) การทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเลย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้บูรณาการการทำงานทั้งจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยมุ่งหวังจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนฯ เป็นแผนระยะยาวเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยในปี 2559-2560 จะเร่งดำเนินการในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องดูถึงความต้องการทางการตลาดของสินค้าเกษตรประกอบด้วย
ทั้ง นี้ ในปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ และอุทัยธานี เนื่องจากมีชนิดของพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่หลากหลายและมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ที่จังหวัดชัยภูมิ มีเกษตรกรเข้าร่วมการปรับเปลี่ยนกิจกรรม ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ภายใต้โครงการธนาคารโค–กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ) 2) การปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นแปลงหม่อน 3) การปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นบ่อเลี้ยงปลา และ 4) การปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นเกษตรกรรมทางเลือก
นายวิไล เมตตามิตร
นาย วิไล เมตตามิตร เกษตรกรกลุ่มอนุรักษ์กระบือ บ้านเลขที่ 33/2 หมู่ 3 ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า เดิมทำนาข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง แต่ผลผลิตและรายได้ไม่ดีนัก หลังจากได้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงแนะนำให้หันมาปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อเป็นอาหารสัตว์แทน เนื่องจากสภาพพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกหญ้าเนเปียร์มากกว่า ประกอบกับตนเองมีการเลี้ยงโคเนื้อและกระบืออยู่แล้ว การปลูกหญ้าเนเปียร์จึงสามารถช่วยลดต้นทุนในส่วนของอาหารสัตว์ได้มาก นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์ตลอดทั้งปีอีกด้วย
“ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นาข้าวมาปลูกหญ้าเนเปียร์ทั้งหมด 7 ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาที่ผ่านมา ทั้งผลผลิตต่อไร่ และรายได้ที่ได้รับเพิ่มขึ้นหลาย เท่าตัว เนื่องจากหญ้าเนเปียร์ดูแลง่าย ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี และสามารถขยายพันธุ์เองได้ นอกจากนี้ โคเนื้อ และกระบือที่เลี้ยงก็มีสุขภาพดี ขายได้ราคาอีกด้วย” กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 20 ก.ค. 2559