สยามคูโบต้า จับมือนักวิจัยญี่ปุ่น ยกระดับชาวนาไทยสู่ยุค 4.0 แนะรัฐบาลจูงใจเกษตรกรร่วมกลุ่มผลิต
นายทซึโทมุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษด้านข้าว บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า คูโบต้าจะร่วมกับนักวิจัยญี่ปุ่นเพื่อยกระดับการทำนาในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรหากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการข้าวไทยและนำไปสู่เกษตรกรรมยุค 4.0 โดยให้สิทธิพิเศษช่วยเหลือเพื่อจูงใจให้เกิดการรวมกลุ่มพัฒนาการผลิต
“ชาวนาไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงโดยง่าย ทำให้ต้องใช้สิทธิช่วยเหลือพิเศษเข้ามาเป็นแรงจูงใจให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาการผลิต อย่างในญี่ปุ่นจะส่งเสริมเงินสมทบพิเศษให้กับเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันซื้อเครื่องจักรการเกษตร ตลอดจนจำกัดวงเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ โดยเลือกที่จะจ่ายให้เฉพาะชาวนาที่มีการปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าวในสภาวะภัยแล้งเท่านั้น” นายมิยาโกชิ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเสนอเทคโนโลยีช่วยในการปลูกข้าวรูปแบบใหม่เข้ามาสนับสนุนเกษตรกรไทย โดยการแจกปฏิทินการเพาะปลูกข้าวที่มีทั้งข้อมูลระยะเวลาและรูปภาพประกอบเอื้อต่อการติดตามมาตรฐานการเติบโต ทั้งส่วนสูงและความสมบูรณ์ของต้นข้าวเพื่อให้เกิดการผลิตที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ และในอนาคต จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างโปรแกรมพยากรณ์อากาศล่วงหน้าในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสามารถเสริมประสิทธิภาพของปฏิทินการเพาะปลูกข้าวได้เป็นอย่างดี โดยจะเร่งพัฒนาปฏิทินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีปลูกข้าวรูปแบบ Direct Seeding เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบใช้การหยอดสามารถลดระยะเวลาการทำงานลงได้ 60% ทั้งยังลดปริมาณเมล็ดพันธ์ุข้าวจาก เดิมที่ใช้ประมาณ 10-20 กิโลกรัมต่อ 7 ไร่ จะลดลงเหลือเพียง 3 กิโลกรัม ซึ่งจะมาควบคู่กับนวัตกรรมแบบ Iron-Coating หรือเป็นการเคลือบเหล็กบนเมล็ดพันธ์ุข้าวก่อนทำการเพาะปลูกเพื่อแก้ปัญหาการล้มตายของข้าว
นายมิยาโกชิ กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพก้าวเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียได้ภายในปี 2030 ด้วยศักยภาพความพร้อมของวัตถุดิบและแรงงานภาคเกษตรที่มีราคาถูก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรกรรม เช่นเดียวกับในเวียดนามเพื่อส่งกลับไปขายในญี่ปุ่นและส่งออกไปทั่วโลกได้ รวมทั้งไทยต้องมุ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดการผลิต การแปรรูปสินค้าไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น กลุ่มธัญพืชอัดแท่ง เป็นต้น
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 13 ก.ค. 2559