วันที่ 11 ก.ค. ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดีรังสิต สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีขับเคลื่อนขบวนการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ครั้งที่ 2 ตอนระบบอาหารชุมชน มั่นคง ปลอดภัย โดย น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับระบบอาหารชุมชน เพราะถือเป็นทั้งต้นทางและปลายทางในการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้แก่ชุมชน สำหรับเวทีขับเคลื่อนฯ ในครั้งนี้เป็นการปลุกกระแสให้ชุมชนลุกขึ้นมาผลิตอาหารเพื่อบริโภคเอง สร้างความเข้าใจ และให้ตระหนักถึงความสำคัญของ ระบบอาหารชุมชน โดยเรียนรู้ผ่าน 9 พื้นที่เรียนรู้ เช่น วิธีการปลูกผักสร้างครัวชุมชน ของ อบต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสร้างอาหารชุมชนของ อบต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก หรือการจัดการน้ำ เพิ่มอาหาร สร้างเศรษฐกิจของ ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โดย สสส.ทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้มีการจัดทำข้อมูลชุมชนเพื่อให้ชุมชนเข้าใจตนเองเห็นทุนและศักยภาพที่มีอยู่ สนับสนุนฝึกทักษะนำข้อมูลที่ได้สร้างการเรียนรู้วางแผนแก้ปัญหา และการสร้างพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้ อปท. ชุมชนต่างๆ ศึกษาดูงานเพื่อนำไปดำเนินการในพื้นที่ของตนเอง โดย สสส.ตั้งเป้าภายในปี 2560 จะสนับสนุนให้เกิดระบบอาหารชุมชนมั่นคงปลอดภัยอย่างน้อย 300 ตำบล ทั่วทุกภูมิภาค
“คนไทยยังทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก 44.5 % และทำเกษตรเป็นอาชีพเสริมถึง50 % แต่เกษตรกรเกือบทุกครัวเรือนเป็นหนี้สิน ซึ่งจากการสำรวจปัญหาหนี้สินของเกษตรกรพบว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารสูงเป็นอันดับที่ 3 ถัดจากค่าใช้จ่ายจากการทำเกษตร และค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาบุตร หากสามารถลดค่าใช่จ่ายด้านอาหาร คือ มีการบริหารจัดการอาหารในชุมชน เช่น ปลูกผักกินแทนการซื้อและผูกเชื่อมโยงระบบอาหารในชุมชน พัฒนากลไกการกระจายอาหารที่ดี เชื่อว่าจะทำให้ชุมชนมีอาหารการกินสมบูรณ์ ปลอดภัย และทำให้คนมีสุขภาพที่ดี” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนกล่าว
ด้านนายแดนชัย บุลมาก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า อบต.โป่งงามได้ริเริ่มโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเองเมื่อปี 2553 โดยได้สำรวจครัวเรือนในพื้นที่ที่ต้องการเมล็ดพันธุ์ผัก แล้วใช้งบประมาณของ อบต. จัดซื้อเมล็ดพันธุ์แจกจ่าย ในช่วงเริ่มต้นมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 10 หลังคาเรือนจากจำนวนประชากรที่อยู่อาศัย 2,200 ครัวเรือน และในปีเดียวกันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานต้นกล้าไม้ผลและทรงแนะนำให้ชาวบ้านปลูกผักนอกบ้าน จนกลายเป็นโครงการซอยนี้มีรักปลูกผักแบ่งปัน ทำให้ชาวบ้านเข้าร่วมปลูกผักกินเองเพิ่มเป็น 1,250 ครัวเรือนและช่วยกันปลูกผักในพื้นที่สาธารณะที่แบ่งปันกันกินในชุมชน พร้อมกันนี้ทรงสนับสนุนให้มีแหล่ง โปรตีนในชุมชน มีการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาในกระชัง จัดตลาดนัดสีเขียวในชุมชน ซึ่งปัจจุบันชาว ต.โป่งงามมีรายได้ปีละ 25 ล้านบาท จากการปลูกผักส่งขายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ที่มา : บ้านเมือง วันที่ 11 ก.ค. 2559