พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในระหว่างลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานคณะทำงานการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ว่า การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกันผลิตสินค้าทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การรวมกันผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมถึงการจำหน่าย เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนแปลงใหญ่ประชารัฐที่ได้รับรองโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของ จังหวัดแล้ว 44 แปลง โดยมีพื้นที่ 67,899.5 ไร่ เกษตรกร 5,118 ราย รวม 11 สินค้า ได้แก่ ข้าว 13 แปลง มันสำปะหลัง 3 แปลง อ้อยโรงงาน 4 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 แปลง ผัก 8 แปลง ผลไม้ 1 แปลง สมุนไพร 1 แปลง หม่อนไหม 1 แปลง กุ้งขาว 6 แปลง โคเนื้อ/โคนม 1 แปลง และปลานิล 2 แปลง
“จุดเด่นของแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ คือ จะมีการกำหนดผู้จัดการแปลงภาครัฐและผู้จัดการแปลงภาคเอกชนในลักษณะการทำงานร่วมกัน โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการบริหารจัดการของภาคเอกชนมาช่วยในการพัฒนา เช่น ข้าว ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ มีพื้นที่ 3,780 ไร่ สมาชิก 297 ราย บริหารงานโดยวิสาหกิจุมชนชน ซึ่งส่วนปัญหาการต้นทุนการผลิตสูง จึงได้กำหนดเป้าหมายในการร่วมกันผลิต แบบแปลงใหญ่ ทำให้การลดต้นทุนการผลิตลง สำหรับนาดำ จาก 4,620 บาท/ไร่ เป็น 4,050 บาท/ไร่ หรือต้นทุนจาก 11.55 บาท/กิโลกรัม (กก.) ให้เหลือ 7.36 บาท/กก. และช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 400 กก./ไร่ เป็น 550 กก./ไร่ ส่วนนาหยอด ลดต้นทุนการผลิตจาก 4,620 บาท/ไร่ เป็น 3,285 บาท/ไร่ และเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 400 กก./ไร่ เป็น 500 กก./ไร่” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ตามแนวนโยบายประชารัฐซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรของไทยนั้น สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คือ การใช้ความเชี่ยวชาญในเชิงการตลาด ความเข้าใจผู้บริโภค มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อีกทั้งการใช้องค์ความรู้ และการจัดการเกษตรสมัยใหม่ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาครัฐ และเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะมีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณ ค่าของภาคเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง อาทิ การพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการผลิต สินค้าเกษตรปลอดภัย สามารถติดตามผลสอบย้อนกลับได้ กลางทาง อาทิ การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และถึงปลายทางในการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่าย โดยการเชื่อมโยงความต้องการของตลาด กับผลผลิตของเกษตรกรและชุมชน ซึ่งในอนาคตจะมีการรวมกลุ่มทำการผลิต ด้วยการนำระบบการจัดการเกษตรสมัยใหม่ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อลดการพึ่งพิงฟ้าฝน ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
ที่มา : มติชน วันที่ 2 ก.ค.2559