หวั่นกลายเป็นศึกแย่งน้ำ เผยสวนกล้วยหอมจีนใช้น้ำปริมาณมหาศาล-สูบน้ำอิงมาใช้แล้ว อ้างชาวบ้านท้ายน้ำไม่เดือดร้อนเพราะน้ำเริ่มไหล อนุกสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เตรียมประชุมร่วมทุกฝ่าย 27 มิย.
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2559 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการกสม.ในฐานะประธานอนุฯได้ลงพื้นที่สวนกล้วยหอมจีนริมแม่น้ำอิง อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ชาวบ้านต้า อ.ขุนตาล ซึ่งอยู่ท้ายน้ำจากสวนกล้วยร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการทำสวนกล้วยแห่งนี้ โดยมีนายกฤตชัย สุวรรณ์ ปลัดอำเภอพญาเม็งราย และตัวแทนจากบริษัทที่ดูแลสวนกล้วยหอมเป็นผู้ชี้แจงมูล
นายทวนชัย วลัยสุข หัวหน้าคนงานสวนกล้วยหอมกล่าวว่า ขณะนี้ส่วนกล้วยหอมได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนพญาเม็งราย การเกษตร โดยมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยเช่าที่ดินบริเวณนี้จำนวน 2,700 ไร่ ทำสัญญา 9 ปีและต่อให้อีกครั้งละ 3 ปี และเริ่มทำการปลูกกล้วยหอมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 100 ไร่ และขณะนี้ได้ทยอยปลูกเพิ่มแล้วราว 1,000 ไร่หรือ 1.6 แสนต้น ซึ่งกล้วยหอมทั้งหมดส่งขายให้กับบริษัทของชาวจีน
“ตอนนี้เริ่มมีฝนและน้ำในแม่น้ำอิงเริ่มขยับไหล เราจึงสูบน้ำในแม่น้ำมาใช้ หลังจากที่ในช่วงหน้าแล้วได้งดใช้น้ำตามคำสั่งของนายอำเภอ การสูบขึ้นมาใช้ครั้งนี้ไม่ได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะไม่รู้ อย่างไรก็ตามเราเองก็ได้ขุดบ่อบาดาลเพื่อสูบน้ำมาใช้ด้วย 3 บ่อ แต่ในอนาคตหากต้องประสบภัยแล้งเหมือนในปีที่ผ่านมาก็อาจจะขุดเพิ่มอีก 20 บ่อ”นายทวนชัย กล่าว
นายทวนชัยกล่าวว่า ตนเคยเดินทางไปดูการทำสวนกล้วยหอมจีนในฝั่งลาว และยืนยันว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสวนกล้วยที่ตนทำอยู่ เพราะสวนกล้วยฝั่งลาวใช้ยาและสารเคมีเข้มข้น แค่เดินเข้าไปในสวนก็แสบจมูกแล้ว แต่สวนกล้วยที่ตนทำงานอยู่นั้น สามารถเข้าไปเดินเล่นโดยไม่มีสารเคมี
เมื่ออนุกรรมการฯถามถึงการใช้สารเคมีตอนไหนบ้าง นายทวนชัยกล่าวว่าเริ่มต้นจากการใช้รองก้นหลุมเมื่อปลูกเพื่อป้องกันเชื้อรา และใช้ยาฆ่าหญ้าเมื่อกล้วยยังต้นเล็ก และใช้ยาฉีนป้องกันแมลงฉีดใบเพียงปีละ 1 ครั้ง สุดท้ายคือให้ฮอร์โมน ทั้งนี้ปัจจุบันสวนกล้วยมีคนงานราว 150 คน โดยเป็นลูกจ้างประจำ 83 คน ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น
ดร.สำนึก จงมีวศิน อนุกรรมการฯกล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า มีข้อเท็จจริงที่ต้องสืบค้นอีกหลายประเด็นคือ 1.เรื่องการใช้น้ำของสวนกล้วยนั้น ต้องการน้ำแท้จริงในปริมาณที่เท่าไหร่ เพราะจากการคำนวนเบื้องต้นไม่น่าจะน้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งทางสวนกล้วยบอกว่าสามารถขุดบ่อบาดาลเพิ่มขึ้นได้ แต่หากใช้น้ำปริมาณนี้ต่อให้เจาะเพิ่มอีก 20 บ่อก็ไม่พอ และจะกลายเป็นศึกแย่งน้ำแน่ 2.เรื่องการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าได้ไหลลงไปในพื้นที่ดินหรือแหล่งน้ำขนาดไหน แม้ทางสวนกล้วยแจ้งว่ามีคันดินปิด แต่โดยข้อเท็จจริงคือสารเคมีบางชนิดก็สามารถซึมผ่านได้ 3.มีการจัดเก็บสารเคมีในบริเวณเดียวกับกล้วย 4.ผลการศึกษาของสาธารณสุขบอกว่าตรวจคนงานไปเพียง 43 คน ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 3 ของคนงานทั้งหมด และผลการตรวจยังมีความคลุมเครือหลายประการ และทำไมถึงยังไม่มีการตรวจสอบดินและน้ำ
นายกฤตชัย สุวรรณ์ ปลัดอำเภอพญาเม็งราย กล่าวว่า การที่สวนกล้วยหอมสูบน้ำจากแม่น้ำอิงไปใช้นั้น คงต้องตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้มีการขออนุญาตหรือไม่ เพราะหน้าแล้งที่ผ่านมานายอำเภอได้มีคำสั่งห้ามสูบน้ำจากแม่น้ำอิงไปใช้
ด้านนายเลื่อน ผิวผ่อง กำนันตำบลต้า อ.ขุนตาล จังหวัดเชียงราย ซึ่งชุมชนได้รับผลกระทบจากการถูกแย่งน้ำในแม่น้ำอิง กล่าวว่าตนยังไม่ทราบถึงกรณีที่สวนกล้วยหอมได้สูบน้ำไปใช้หลังจากที่นายอำเภอเคยมีคำสั่งให้หยุด เนื่องจากขณะนี้แม่น้ำอิงเริ่มไหลจึงไม่ทราบว่ามีการดึงน้ำไปใช้หรือไม่ อย่างไรก็ตามการใช้น้ำของสวนเกษตรขนาดใหญ่เช่นนี้ ควรมีกติกาเพราะมิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้ายน้ำ หรือแม้กระทั่งเรื่องการขุดบ่อบาดาลก็ควรมีกติกาด้วยเช่นกัน เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านที่ทำไร่ทำสวนต่างก็ใช้น้ำจากบ่อบาดาลรดต้นไม้ หากบริษัทสวนกล้วยขุดบ่อบาดาลในปริมาณมากก็เป็นการแย่งน้ำบาดาลไปจากชาวไร่ชาวนสวน
“ชุมชนของพวกเราอยู่ท้ายน้ำ หากพื้นที่เหนือขึ้นไปใช้น้ำปริมาณมาก เราย่อมได้รับผลกระทบ ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบควรกำหนดกติกาให้ชัดเจน จริงอยู่แม้สวนกล้วยหอมจะทำให้เกิดการจ้างงาน แต่ก็ต้องดูด้วยว่าคนในพื้นที่ได้ประโยชน์นั้นจริงหรือไม่ ชาวไร่ชาวนาได้รับผลกระทบอย่างไร”นายเลื่อน กล่าว
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.