สำนักงานจัดรูปที่ดิน รุกพัฒนาระบบชลประทานในไร่นา เผยผลดำเนินการสำเร็จแล้ว 13 ล้านไร่ พร้อมเร่งผลักดันระบบน้ำและจัดรูปที่ดินที่ทันสมัย 3 รูปแบบ เน้นประสิทธิภาพการชลประทาน หวังบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรทั่วประเทศ
วันนี้ (26 มิ.ย. 59) นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง เปิดเผยว่า เพื่อรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำที่ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงพื้นที่ไร่นา ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาแล้วกว่า 13 ล้านไร่ ยังเหลือพื้นที่ ที่สามารถดำเนินการพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาอีกจำนวนมาก สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางจึงได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาใหม่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
ด้วยการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะเป็นการจัดระบบน้ำที่ลัดเลาะตามแปลงที่นาตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง ซึ่งระบบแรกทำได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเกษตรกร สำหรับเนื้อที่ที่จะต้องหักไป ใช้ทำคูส่งน้ำหรือท่อส่งน้ำ คูระบายน้ำ และทางลำเลียงในไร่นา อันเป็นสาธารณประโยชน์โดยประมาน 1-3 % ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะสามารถกระจายน้ำได้ทั่วพื้นที่ 40-80% แต่ประสิทธิภาพการชลประทานยังคงอยู่ในระดับต่ำ 55-60% เพราะต้องส่งน้ำผ่านแปลงหนึ่งต่อไปยังแปลงถัดไป
ส่วนแบบที่ 2 งานจัดรูปที่ดินกึ่งสมบูรณ์แบบ (Extensive) เป็นการจัดรูปที่ดินแบบบางส่วน โดยจัดทำคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และทางลำเลียงในไร่นา ลัดเลาะแนวเขตแปลงไปถึงทุกแปลงหรือเกือบทุกแปลง ทำให้ทุกแปลงได้รับน้ำและระบายน้ำได้โดยตรง พื้นที่ที่หักเพื่อใช้ทำคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และทางลำเลียงในไร่นาอันเป็นสาธารณประโยชน์โดยประมาน 4% ของพื้นที่ทั้งหมด สามารถกระจายน้ำได้ทั่วพื้นที่ 90-95% ทำให้ประสิทธิภาพการชลประทานเพิ่มขึ้นเป็น 70% และมีการออกโฉนดใหม่โดยตัดเนื้อที่ทำคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และทางลำเลียงออก
ส่วนแบบสุดท้าย เป็นงานจัดรูปที่ดินสมบูรณ์แบบ (Intensive) ซึ่งรูปแปลงจะถูกจัดระเบียบใหม่ให้การกระจายน้ำเข้าแปลง การระบายน้ำโดยตรง และเส้นทางลำเลียง ที่มีการปรับระดับพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยใช้เนื้อที่ที่หักไปทำคูส่งน้ำ คูระบาย และทางลำเลียงในไร่นาอันเป็นสาธารณประโยชน์ประมาน 5% แต่ไม่เกิน 7% และจะสามารถกระจายน้ำได้ทั่วพื้นที่ 100% มีประสิทธิภาพการชลประทานสูงขึ้นประมาณ 75% ซึ่งหากพื้นที่สำหรับทำการเกษตรนั้นได้รับการจัดระบบน้ำ และจัดรูปที่ดินให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ จะสามารถช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้อย่างแน่นอน
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 26 มิ.ย. 2559