รัฐบาลขานรับ 5 แนวทางบริหารน้ำ ส่งสัญญาณตั้งหน่วยงานหลักแบบรวมศูนย์บริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว ป้องกันวิกฤติน้ำอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน Thailand Sustainable Water Management Forum 2016 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำคัญของแหล่งน้ำว่า เป็นต้นทุนสำคัญของชีวิต โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม และถือเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลได้ขานรับต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้ง 5 ข้อ ที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชุมชนต้นน้ำไปจนถึงภาคเอกชน โดยรัฐบาลรับปากว่าจะผลักดันทุกแนวทางให้เกิดขึ้นให้ได้ พร้อมส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประสบความสำเร็จมาใช้เป็นต้นแบบในการนำไปปฏิบัติ
“ทุกคนต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด เพื่อการเชื่อมโยงร่วมกันไปสู่การแข่งขัน การเพิ่มขีดความสามารถ ประเทศไทยต้องเตรียมการให้พร้อม เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นหลัก” นายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า วันนี้ต้องมาพูดคุยกัน ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันทุกโครงการให้เกิดขึ้นให้ได้ เราต้องแยกกิจกรรมน้ำอย่างชัดเจน ถามว่าวันนี้เราเตรียมความพร้อมหรือยัง นี่คือความท้าทายของทุกคน เราต้องมีผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ต้องวางแผนเป็นภูมิภาค เพราะเรามีทรัพยากรที่แตกต่างกันออกไป นั่นคือแนวทางที่จะเดินหน้าประเทศให้เป็นรูปแบบของความเชื่อมโยง เดินหน้าประชารัฐเพื่อเจริญเติบโตไปด้วยกัน
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่เหนือสุด เพราะกลางน้ำสามารถมีพื้นที่ต้นน้ำในที่สูง ที่เป็นแหล่งต้นน้ำให้ลำน้ำสาขาได้เช่นกัน ความสำคัญคือการทำให้น้ำอยู่กับป่าได้นานด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ
สำหรับพื้นที่ต้นแบบนั้น สามารถดูได้จากโครงการดอยตุงของสมเด็จพระศรีนคริทราบ รมราชชนนี ในพื้นที่น้ำลาว ใช้วิธีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อลดเกษตรเชิงเดี่ยว โดยชุมชนร่วมกับเกษตรในพื้นที่ เน้นไม้ท้องถิ่น ให้มีการดูแลโดยเจ้าของพื้นที่ ส่วนปัญหาไฟป่า และการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ คืออีกหนึ่งประเด็นข้อสำคัญ โดยเฉพาะในภาคประชาชน โดยข้อสรุปที่ได้จากการระดมความคิดที่มาจากชาวบ้านนอกเขตชลประทาน ทุกคนเห็นพ้องว่า จำเป็นจะต้องมีการทราบปริมาณน้ำที่แท้จริง ที่สำคัญคือ คนในพื้นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานะของปริมาณน้ำที่มีให้สมดุลแก่การใช้ชีวิต ในส่วนของพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาแก้มลิง และมีการสร้างกฎเกณฑ์ในการใช้น้ำร่วมกับพื้นที่ในเมือง ตลอดจนมีการเชื่อมโยงแหล่งน้ำดิบอย่างเป็นระบบ มีการสำรองน้ำที่ชัดเจน ซึ่งในตัวเมืองมีข้อเสนอให้ใช้ระบบไอที และต้องแก้ปัญหาน้ำรั่วไหลที่มีอัตราถึงร้อยละ 25 -30
ทั้งนี้ แนวทางบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยเป็น 5 แนวทางที่สำคัญ ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดของชาวชุมชนต้นน้ำ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการหาทางออกร่วมกัน ได้แก่
1. การจัดตั้งหน่วยงานหลัก มีบทบาทคล้ายเป็นสภาพัฒน์ฯ เรื่องน้ำ โดยเป็นสำนักงานเลขาที่บริหารแบบรวมศูนย์ ทำหน้าที่วางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว
2.ให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างกว่า 600 โครงการที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ พร้อมขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียง
3.ทบทวนเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ในเขตป่าไม้ ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการพัฒนาป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
4.การฟื้นฟูประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและคูคลอง รวมทั้งแหล่งน้ำบาดาลให้เกิดระบบใช้และระบบเติมพร้อมกัน ไม่ปล่อยทิ้งให้เสื่อมโทรม เน้นเรื่องการบูรณะของเก่าแทนการสร้างใหม่
5.จัดให้มีระบบและเครื่องมือบริหารการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การประหยัดน้ำและการใช้น้ำซ้ำ ตัวอย่างน้ำในนาข้าวที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้แทนการปล่อยทิ้ง เป็นต้น
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 21 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.