สสค. ร่วม ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลวิจัย พบ ปริญญาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของแรงงานรุ่นใหม่
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเวทีประชุมนานาชาติหัวข้อ “การยกระดับกำลังคนของไทย:ทางออกจากกับดักรายได้ปานกลาง”โดยมีผู้ที่เข้าร่วมการประชุมระบุว่า
น.ส.อกิโกะ ซากาโมโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะและการจ้างงานจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า แรงงานที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานในอาเซียนกลับมีทักษะไม่ต่างจากแรงงานที่กำลังเกษียณ และพบว่าในยุคการทำงานที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง กลุ่มแรงงานผู้หญิงและกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หากไม่มีการพัฒนาทักษะ นอกจากนี้จากการสำรวจแรงงานรุ่นใหม่ (อายุ 18-24 ปี) ของไทยมีความสนใจงานด้านข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร การจัดการการเงิน และด้านศิลปะบันเทิง โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะสร้างการเรียนรู้อย่างไรให้สอดรับกับทักษะที่ตลาดโลกต้องการ ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง แต่ทักษะของบัณฑิตและผู้จบการศึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศกัมพูชากลับสวนทาง
มล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุถึงตัวเลขล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 15-59 ปี จำนวนทั้งสิ้น 39 ล้านคน แต่มีแรงงานเพียง 11 ล้านคนที่เป็นแรงงานในระบบ หากสามารถดึงแรงงานนอกระบบที่เหลือคืนสู่ระบบก็จะสร้างรายได้เพิ่มให้ประเทศ ฉะนั้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำเป็นต้องมองภาพทั้งสองด้านคือภาพแรงงานในระบบและนอกระบบไปพร้อมกัน และเชื่อมต่อกับภาพรวมด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไป
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสค. กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบแนวโน้มของแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การทำงานกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนสูงขึ้น จึงต้องหาวิธีการให้โรงเรียนผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะแรงงานคือ “ทุน” สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หากประเทศไทยสามารถสังเคราะห์ยุทธศาสตร์ในการทำงานในตลาด SMEs
นายแอนเดรียส ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ (โออีซีดี) กล่าวว่าจากผลการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ (Survey on Adults Skills) อายุ 16-59 ปี ในกลุ่มประเทศสมาชิกจำนวน 24 ประเทศ พบว่าประเทศไทย นอกจากทักษะของบุคลากรที่จบมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภาคการผลิตของประเทศส่วนใหญ่ยังผลิตสินค้าราคาถูก ใช้แรงงานฝีมือไม่สูง และค่าจ้างถูก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารกทางการแข่งขันของไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐภาคเอกชน และประชาชน ต้องคิดและหาทางออกร่วมกันเพื่อช่วยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง
นายไมค์ วาย เค กู อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติผิงตุง ไต้หวัน กล่าวว่า แรงงานไทยและประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมระดับความสามารถด้านการผลิตและการบริหารจัดการโดยการใช้เกษตรกรรมฐานความรู้ และมีทักษะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีได้เช่นเดียวกับไต้หวัน “เมื่อ 60 ปีที่แล้วไต้หวันเคยเป็นประเทศที่มีภาคเกษตรขนาดใหญ่ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศไทย แต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมไฮเทค ส่งผลให้ภาคเกษตรปรับตัวอย่างมากโดยเปลี่ยนจากการทำเกษตรที่มุ่ง สร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องอาหารปลอดภัย คุณภาพทางโภชนาการ การผลิตที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาชนบท และการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวด ล้อม โดยถึงแม้ว่า จีดีพีภาคเกษตรจะลดลงจาก 30 % ในปี 2493 เป็น 2 % ในปี 2558 และจำนวนเกษตรกรลดลงจาก 50% ในปี 2493 เหลือ6-10% ในปี 2558 แต่ก็ทำให้เกษตรกรจำนวนดังกล่าวมีรายได้สูงขึ้นมาก เพราะใช้ ICT, GIS, GPS, เทคโนโลยีชีวภาพ เข้ามาช่วยในงานเกษตรกรรม”
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าผลงานวิจัยเพื่อศึกษาตลาดแรงงานและผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอสเอ็มอีนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ ตราด และภูเก็ต) พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับวุฒิของลูกจ้างเรียงตามลำดับคือ ทักษะทางอาชีพ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ความซื่อสัตย์ และวุฒิการศึกษา อย่างไรก็ตามพบว่าบ้านเรายังมีช่องว่างทางทักษะของแรงงานที่สูงมาก และเมื่อมองไปยังตลาดเอสเอ็มอี แม้ว่าจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจภาพรวมของไทย ยังพบด้วยว่า 35% ของเอสเอ็มอีไทยจะไปไม่รอดภายในสามปี เพราะผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ และในกลุ่มของเอสเอ็มอีที่อยู่รอด 65% จะมีเพียงแค่ 7-8% เท่านั้นที่โตขึ้น แต่ที่เหลืออาจต้องใช้ไม่น้อยกว่า 7-8 ปี ที่จะเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สัดส่วนที่โตขึ้นน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียถึงสามเท่า
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.