นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้เสนอแนวคิด เก็บภาษีจากที่ดินที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ จนทำให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยจะเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจากคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐ อาทิ เจ้าของที่ดินที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ เพื่อนำรายได้จากภาษีดังกล่าว นำไปพัฒนาประเทศต่อไป
ทั้งนี้ การเก็บภาษีดังกล่าว จะเป็นคนละตัวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และในช่วงที่ผ่านการพัฒนารถไฟฟ้าสีต่างๆ ส่งผลให้ราคาประเมินของที่ดินตาม แนวรถไฟฟ้า 6 เส้น คือ สายสีเขียวเข้ม สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง แอร์พอรต์ลิงก์ และสายสีแดงเข้ม ปรับสูงขึ้น เฉลี่ย 31.47% โดยราคาที่ปรับสูงสุดคือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยศเส-สะพานตากสิน-บางหว้า มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทั้งสาย 48.88% สูงสุดคือถนนราชพฤกษ์ ปรับเพิ่มขึ้น 122% จาก 9 หมื่นบาทต่อตารางวา(ตร.ว.) เป็น 2 แสนบาทต่อตร.ว. ถนนธนบุรีปรับเพิ่มขึ้น 109% จากราคาประเมินช่วงปี 2555-2558 อยู่ที่ 2.15 แสนบาทต่อตร.ว. ในรอบการประเมิน 2559-2562 ปรับขึ้นเป็น 4.5 แสนบาทต่อตร.ว.
ทาง ด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์ ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้จาก 5 พันล้านบาท เป็น 1 หมื่นล้านบาทภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยมีแผนเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ที่มาเช่าที่ราชพัสดุเพื่อดำเนินการ ในเชิงพาณิชย์ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่จ่ายรายได้ให้กรมประมาณ 1,800 ล้านบาทในปัจจุบัน และจะหมดสัญญาเช่าในปีนี้ ซึ่งได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาแนวทางการปรับค่าเช่ากับทอท.
ส่วนรัฐวิสาหกิจรายอื่น ก็จะมีการปรับค่าเช่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่นกัน โดยรัฐวิสาหกิจที่จ่ายค่าเช่าสูงสุด ให้กรมธนารักษ์ในปีงบ 2558 ได้แก่ ทอท. 1,595 ล้านบาท, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 564 ล้านบาท, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 200 ล้านบาท, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 169 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้เตรียมปรับค่าเช่าที่ ให้เป็นปัจจุบัน โดยใช้ฐานของราคาประเมินที่ดิน ราคาตลาด และมูลค่ารวมของที่ดิน มาคิดผลตอบแทนใหม่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย
ที่มา : มติชน วันที่ 13 มิ.ย. 2559