ความมุ่งหมายของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาที่เป็นต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์ในอีสานตอนใต้
2. เพื่อศึกษาแบบแผนการทำนาเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาในอีสานตอนใต้
3. เพื่อนำเสนอต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาในอีสานตอนใต้
วิธีการวิจัย
การศึกษาครั้งนี้ ใช้วิธีการศึกษาแบบเชิงคุณภาพ ทำการศึกษาในพื้นที่ประชาชนที่ประกอบอาชีพทำนาและอาศัยอยู่ในชุมชนของอีสานตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นพื้นที่ที่ทำการวิจัย โดยผู้วิจัยใช้วิธีเลือกพื้นที่สนามการวิจัยแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ในลักษณะที่เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ที่เป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียง ตลอดจนประสบผลสำเร็จในการดำเนินวิถีชีวิตทั่งในชุมชนและโดยทั่วไป ประกอบด้วย หมู่บ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม หมู่บ้านนาดีน้อย ตำบลนาสะไมย์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร หมู่บ้านหนองตาใกล้ ตำบลห้วยไร่ อำเภอเมือง หมู่บ้านโคกกลาง ตำบลนาเวียง อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ
กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยกลุ่มผู้รู้ กลุ่มผู้ปฏิบัติ และบุคคลทั่วไป ในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 81 คน ด้วยวิธีเลือกแบบเจาะจง การเก็บรวบรวมข้อมูลโดย การศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก สนทนากลุ่ม และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นหลัก ใช้ระยะเวลาในการศึกษาภาคสนามประมาณ 12 เดือน ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2554 ถึง เดือนมกราคม พ.ศ. 2555 นำข้อมูลที่ได้มาจำแนกวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ โดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัย
ด้านประวัติความเป็นมาของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาที่เป็นต้นแบบการทำนา
เกษตรอินทรีย์ในอีสานตอนใต้ พบว่า สภาพชุมชนในเขตพื้นที่อีสานตอนใต้ในพื้นที่วิจัยของสองจังหวัด
ที่ประกอบด้วย จังหวัดยโสธรกับจังหวัดอำนาจเจริญนั้น ในอดีตทั้งสองจังหวัดก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานีมาก่อน เพิ่งมาแยกตัวยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดของประเทศเมื่อปี พ.ศ.2515 และ พ.ศ. 2536 ตามลำดับ ดังนั้นสภาพโดยทั่วไปของจังหวัดทั้งสองก็จะมีความคล้ายคลึงกันมากทั้งด้านทำเลที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ เป็นต้น ประกอบกับพื้นที่วิจัยก็มีลักษณะมีอาณาเขตติดกันโดยมีแนวถนนอรุณประเสริฐเป็นแนวแบ่ง โดยฝั่งตะวันออกของถนนจะเป็นที่ตั้งชุมชนที่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ส่วนฝั่งตะวันตกของถนนจะเป็นที่ตั้งชุมชนในเขตจังหวัดยโสธร ซึ่งมีสภาพการตั้งทำเลหมู่บ้านหรือชุมชนติดกับถนนสายหลักหรือแหล่งน้ำเป็นสำคัญ มีลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ส่วนใหญ่มีเป็นที่ราบที่มีความสูงจากระดับ น้ำทะเลเฉลี่ยปานกลาง ประมาณ 200 เมตร มีอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงเกือบตลอดปี สภาพสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนทั้ง 4 แห่งมีรากเหง้ามาจากแหล่งเดียวกัน คือ มาจากนครเวียงจันทน์ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี และค่อยมาแยกเป็นจังหวัดกันภายหลัง ดังนั้นสังคมโดยทั่วไปก็ยังเป็นสังคมชนบทที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ทำมาหากินด้วยการทำนาเป็นหลักและหาปลาเป็นอาหาร มีความเชื่อและประเพณีที่ยึดฮีตสิบสองคองสิบสี่
สำหรับความเป็นมาของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ขาวนา เกิดจากการที่ชาวบ้านได้ใช้เรียก ขานกลุ่มของตัวเอง ที่ทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2548 โดยมี พ่อบุญกอง สุวรรณเพชร ชาวบ้านหมู่บ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เป็นผู้ตั้งชื่อ พร้อมกับให้ความว่า “เป็นผู้หลุดพ้นจากสารเคมีแล้ว เป็นชาวนาที่ไม่หวนหากับการใช้สารเคมียาทุกชนิด รู้แจ้งเห็นจริงในหลักการพึ่งพาตัวเองนำตนเองหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ได้สำเร็จ” พร้อมกับขยายความให้รวมเรียกกลุ่มเกษตรกรที่ทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในโซนอาณาบริเวณแนวถนนอรุณประเสริฐ ทั้งฝั่งตะวันออกของถนนอันเป็นที่ตั้งชุมชนที่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ส่วนฝั่งตะวันตกของถนนอันเป็นที่ตั้งชุมชนในเขตจังหวัดยโสธร และมีลักษณะการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกร อรหันต์ชาวนาขึ้นมาเป็น 2 ลักษณะ คือ กลุ่มลักษณะไม่เป็นทางการ และกลุ่มลักษณะทางการ กล่าวคือ กลุ่มลักษณะไม่เป็นทางการได้แก่ กลุ่มที่มีลักษณะการก่อตั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยที่มีผู้นำหรือบุคคลจำนวนหนึ่งเป็นแกนนำได้ไปศึกษาดูงานที่กลุ่มอื่นที่สำเร็จที่อยู่ในเขตภูมิศาสตร์เดียวกันหรือในเขตด้านถนนแนวเดียวกัน และได้นำมาพูดคุยกันเพื่อทำกิจกรรมการทำนาเกษตรอินทรีย์ขึ้นในหมู่บ้านของตนและเชื่อมโยงไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงกัน หรือห่างไกลกันไม่เกิน 30 กิโลเมตร และกลุ่มลักษณะทางการ ได้แก่ กลุ่มทีมีลักษณะการก่อตั้งที่เกิดขึ้นโดยการจัดตั้งตามโครงสร้างของหน่วยงานราชการและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่กลุ่มเกษตรกรทั้งสองลักษณะต่างก็มีวัตถุประสงค์อย่างเดี่ยวกันคือมุ่งการทำนาที่ปลอดสารเคมี ยาฆ่าแมลงหรือวัชพืช และการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาทั้ง 2 กลุ่ม ประกอบด้วยโครงสร้างกลุ่มคล้าย ๆ กันคือ ประวัติความเป็นมาและการก่อตั้งกลุ่ม, วัตถุประสงค์และ
เป้าหมายของกลุ่ม, ลักษณะโครงสร้างการบริหารของกลุ่ม, การจัดกิจกรรมของกลุ่ม, ระเบียบข้อบังคับ, และการบริการชุมชุนและการพึ่งพาตนเอง
กลุ่มเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มที่เป็นต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรลักษณะไม่เป็น
ทางการและกลุ่มเกษตรกรลักษณะเป็นทางการ ต่างก็ต้องการมีวัตถุประสงค์อย่างเดี่ยวกันคือมุ่งการทำนาที่ปลอดสารเคมี ยาฆ่าแมลงหรือวัชพืช และการพึ่งพาตนเองได้ เข้าใจธรรมชาติ การเห็นคุณค่าผู้อื่น เ
ท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก คุณค่าของท้องถิ่นที่สัมพันธ์กันโดยธรรมชาติและลงมือทำร่วมกันเป็นกลุ่มและทำอย่างมีส่วนร่วม สู่ความยั่งยืนและเข้มแข็งของหมู่บ้านหรือชุมชน
ด้านต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาในอีสานตอนใต้ พบว่า
ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์
ตัวอย่างหรือแบบอย่างวิธีการการทำนาเกษตรอินทรีย์ในอีสานตอนใต้นั้น นับเป็นตัวอย่างของการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในระดับภาคและระดับ
ประเทศ การที่จะได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เพียงแต่ปฏิบัติตามหลักการ 4 อย่าง คือ 1. เลิกใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง 2. การรักษาวัตถุอินทรีย์ในพื้นที่ไว้ คือ ไม่เผาทำลาย 3. หาวัตถุอินทรีย์เข้ามาเพิ่ม และ 4. รักษาระบบนิเวศ เพียงแค่นี้ยังไม่สามารถจะสะท้อนความเป็นต้นแบบออกมาได้ หากแต่การจะเป็นต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์ได้นั้น ต้องเปลี่ยนทัศนคติการทำนาของชาวบ้านในพื้นที่ และร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมลงมือวิธีการทำนาแบบอินทรีย์อย่างเข้าใจและเกื้อกูลในธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการการเรียนรู้ทั้งก่อนทำ เรียนรู้ระหว่างทำ เรียนรู้หลังทำ เป็นวัฏจักรในการทำนา จนกว่าจะเกิดความกระจ่างแจ้งกลายเป็นต้นแบบของการทำนาแบบอินทรีย์ได้ในที่สุด ซึ่งตัวอย่างหรือแบบอย่างวิธีการการทำนาเกษตรอินทรีย์ในอีสานตอนใต้ มีลักษณะที่สำคัญ 6 อย่าง คือ
1. การเรียนรู้
2. การจัดการทรัพยากร (ดินและน้ำ)
3. การคัดเลือกพันธุ์ข้าว
4. การจัดกิจกรรมในแปลงนา
5. การตลาด
6. การสร้างเครือข่าย
จากลักษณะที่สำคัญดังกล่าวสามารถจำแนกต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์ในอีสานตอนใต้
โดยยึดการปรับปรุงแปลงนาได้ 3 ต้นแบบ คือ
1. ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์แบบเชิงเดี่ยว
2. ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์แบบหลากหลายในแปลงนา
3. ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์แบบแนวคิดทฤษฎีใหม่
ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์แบบเชิงเดี่ยว เป็นแบบอย่างการทำนาที่มุ่งการเพาะปลูกข้าวเพียงชนิดเดียวในพื้นที่หรือแปลงนานั้น ๆ ไม่มีความหลากหลายของพืชผล หรือไม้ใช้สอย เป็นต้น พบมากในชุมชนพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ
ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์แบบหลากหลายในแปลงนา เป็นแบบอย่างการทำนาที่มุ่งการเพาะปลูกพืชหรือทำกิจกรรมในพื้นที่หรือแปลงนานั้น ๆ อย่างหลากหลายทั้งพืชผล หรือไม้ใช้สอย รวมถึงสัตว์ที่เลี้ยงนานาชนิด ลักษณะประสมประสานกันในแปลงนาให้มีความหลากหลายในระบบ เป็นต้น พบมากในชุมชนพื้นที่จังหวัดยโสธร บริเวณอำเภอกุดชุม
ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์แบบแนวคิดทฤษฎีใหม่ เป็นแบบอย่างการทำนาที่นำแนวคิดทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของในหลวง เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี ซึ่งชาวนาได้นำมาปรับแก้และพัฒนาเข้ากับการทำนาของตน การเกษตรแบบนี้จะเน้นไปในเรื่องการจัดสรรที่ดินที่มีอยู่และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ทั้งหมด 4 ส่วน ตามอัตราที่สมดุลและเกื้อกูลกันและกัน ซึ่งมีการจัดสรรดังนี้ คือ ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ซึ่งหมายถึง
- พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณร้อยละ 30 ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ
- พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณร้อยละ 30 ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
- พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณร้อยละ 30 ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
- พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณร้อยละ 10 เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และโรงเรือนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณเท่านั้น สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ดิน ปริมาณน้ำฝนและสภาพแวดล้อม
เกษตรกรตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนา
เกษตรกรต้นแบบหรือตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการทำนาเกษตรอินทรีย์ในอีสานตอนใต้ที่สามารถเป็นแบบอย่างหรือแม่แบบให้บุคคลอื่นทั้งในอาชีพทำนาหรืออาชีพอื่น ๆ ได้เอาอย่างพร้อมศึกษาตามพฤติกรรมต้นแบบ แล้วทำตามแบบ เลียนแบบ ต่อมาก็อาจ ประยุกต์แบบนั้น หรือเกิดแรงบันดาลใจให้อยากกระทำตามเกษตรกรต้นแบบเหล่านั้น ด้วยความศรัทธา เพราะทุกคนต่างยอมรับว่า เกษตรกรตัวอย่างหรือเกษตรกรต้นแบบคือแบบอย่างของพวกเขาที่มี่ลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ ต้นแบบสอนให้รู้ ต้นแบบทำให้ดู และต้นแบบอยู่ให้เห็น สุดท้ายคือเกษตรกรต้นแบบเป็นต้นแบบที่ดีต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อทุกคน
การเป็นอรหันต์ชาวนาได้นั้นต้องผ่านเกณฑ์หรือคุณลักษณะที่สำคัญ 5 ประการ คือ
1. สอนให้รู้ หมายถึง ได้รับการเรียนรู้ การถ่ายทอด ประสบการณ์ด้านเกษตรอินทรีย์จากผู้รู้หรือหน่วยงานราชการ ตลอดจนหน่วยงานภาคเอกชนเป็นอย่างดี สามารถนำไปปฏิบัติต่อตนเองและบุคคลอื่นได้อย่างชัดแจ้ง เปรียบตนเองเหมือนแก้วน้ำไม่มีวัน เต็มสามารถรับความรู้ต่าง ๆ ได้ เพราะการเรียนรู้ การทำให้ตนรู้ ไม่มีวันจบสิ้น เปรียบดังว่าการศึกษาคือชีวิต และไม่มีใครแก่เกินเรียนหรือแก่เกินรู้
2. ทำให้ดู หมายถึง การนำเอาความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในแปลงนาของตนอย่างจริงจัง ตั้งแต่การจัดระบบโครงสร้างแปลงนาใหม่ และเกิดผลงอกเงยเป็นตัวอย่างให้แก่บุคคลทั่วไปให้พบได้เห็นเพื่อให้บุคคลอื่นได้กระทำตาม นอกจากนี้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเกษตรอินทรีย์อย่างเคร่งครัด
3. อยู่ให้เห็น หมายถึง บุคคลที่ทำนาเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นแบบอย่างหรือตัวอย่างให้บุคคลอื่นได้พบได้เห็นเป็นตัวอย่างได้กล่าวถึงว่าเป็นบุคคลที่เป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์โดยแท้ เช่น ถ้าพูดถึง แหลมยโสธร ทุกคนก็รู้ทันทีว่าเขาคือคนหนุ่มที่ได้รับยกย่องให้เป็นอรหันต์ชาวนาคนแรกของกลุ่ม เป็นต้น
4. กัลยาณมิตรเพียบคุณธรรม หมายถึง ความเป็นญาติกับทุกคนที่ต้องการอยากมาเรียนรู้กับตนเองไม่ว่าจากใกล้มาไกล ถือเสมือนเป็นเครือญาติร่วมชุมชน หรือร่วมโลกเดียวกันที่ต้องการอยากปลดถ่ายความทุกข์ยากออกจากตน และต้องมีคุณธรรมที่เป็นหลักของพุทธศาสนาในการครองตนเพื่อเป็นหลักถือหลักคิดในการทำงานของตน เพื่อตนเองจะได้ไม่หลงไปกับกิเลศหรือสิ่งชั่วร้ายที่ดีอยู่ในสังคม
5. อรหันต์ชาวนา หมายถึง การทำให้ตนเองหลุดพ้นจาการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงหรือวัชพืช ด้วยการทำตนให้ถูกต้องตามหลักการเกษตรอินทรีย์ ท้ายสุดก็นำไปสู่การปลดหนี้สินพาครอบครัวและสมาชิกของกลุ่มสู่ความเป็นสุขที่แท้จริง ไม่เวียนว่ายกับสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยอีกต่อไปถือว่าตนเองหลุดพ้นบ่วงพิษทั้งหลายแล้ว
สรุปและอภิปรายผล
ประวัติความเป็นมาของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาที่เป็นต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์ในอีสานตอนใต้ ในประเด็นนี้ผู้วิจัยได้พบว่า สภาพภูมิศาสตร์ของชุมชนหรือหมู่บ้านในภาคอีสานตอนใต้ที่ใช้ในการเลือกทำเลที่ตั้งถิ่นฐานมีลักษณะเด่น คือ ชุมชนที่ตั้งใกล้กับแหล่งน้ำเป็นส่วนใหญ่ และ ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้ถนนสายหลักเป็นที่ดอนหรือที่เป็นเนินสูงน้ำท่วมไม่ ซึ่งลักษณะภูมิศาสตร์ดังกล่าวเป็นทำเลที่ตั้งของชุมชนหรือหมู่บ้านที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ทั้งนี้ในระยะแรกของการก่อตั้งชุมชนหรือหมู่บ้านจะมีการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวบ้านเพื่อหาที่ทำกินแห่งใหม่ที่ดีกว่าแหล่งเดิมด้วยการแสวงนาดี เริ่มต้นโดยอพยพมาอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนในลักษณะกลุ่มเครือญาติหรือหมู่บ้านเดียวกัน แล้วจึงค่อยขยายและเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น หมู่บ้านในที่สุด เป็นสังคมหมู่บ้านที่ “เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน” ที่มีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ทำหน้าที่เป็นกฎ ระเบียบ ในชุมชนประพฤติปฏิบัติตาม อันนำไปสู่ความสงบสุขร่วมกันของชุมชน เป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีระบบการผลิตใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นสำคัญ
กระบวนการที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชน คือ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการค้า ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตที่นำเอาเครื่องจักร เทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานและสัตว์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อบริโภคมาเป็นการผลิตเพื่อการค้า โครงสร้างทางสังคมได้ถูกเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกายภาพและการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในชุมชน ด้วยการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ ในสังคม อาทิ ดินเค็ม น้ำเน่า อากาศร้อน เป็นต้น
ซึ่งผลการค้นพบสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุวิทย์ ธีรศาศวัต (2546 : 17-18) ได้ศึกษาเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้าน อีสาน 2488 – 2544 พบว่า พัฒนาการของหมู่บ้านมี 3 ยุค คือ ยุคก่อตั้งถิ่นฐาน (เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน – พ.ศ. 2499) ยุคทุนพัฒนา (พ.ศ. 2500 – 2519) ยุคแสวงหาทางออก (พ.ศ. 2520 – 2532) โดยเฉพาะในยุคทุนนิยมซึ่งเข้ามาเต็มตัวในช่วง พ.ศ. 2500 – 2519 บทบาทของทุนนิยมและรัฐเข้ามาอย่างเต็มที่ การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย การผลิตเพื่อพอกินพอใช้ได้เปลี่ยนไปสู่การหาเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการจากภายนอก มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งข้าวและพืชไร่ มีการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้อย่างมากเพื่อผลิตให้ได้มาก นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิดประวัติศาสตร์ชุมชนที่ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ (2546) นำเสนอไว้ว่า ความรู้ความเข้าใจเชิงประวัติศาสตร์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจถึงความเป็นมาของชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจโลกของชาวบ้าน และยังช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ในชุมชนได้ ซึ่งฐานความคิดดังกล่าวสามารถบอกถึง เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนในด้านต่าง ๆ ทั้งทาง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ทำให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เกิดความรู้สึกร่วมกับชุมชน ทำให้ได้เห็นภาพรวมของชุมชนชัดเจนมากยิ่งขึ้น ว่าเหตุการณ์แต่ละช่วงมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนเหล่านั้นได้ส่งผลกระทบต่อคน และสิ่งแวดล้อมจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร และเมื่อใดก็ตามที่เรามีความเข้าใจสภาพความเป็นชุมชนอย่างที่เป็นอยู่ ได้เห็นวิถีชีวิตของเขาว่ามีความเป็นมาอย่างไร ความรู้สึกเราต่อชุมชนก็จะเปลี่ยนแปลงไป เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชนชัดเจนมากกว่าเดิม รวมทั้งเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านมากขึ้น
ยังพบว่า ในด้านความเป็นมาของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ขาวนา เกิดจากการที่ชาวบ้านได้ใช้เรียก ขานกลุ่มของตัวเอง ที่ทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2548 เพื่อบอกให้กลุ่มตนเอง ว่า เป็นผู้หลุดพ้นจากสารเคมีแล้ว เป็นชาวนาที่ไม่หวนหากับการใช้สารเคมียาทุกชนิด รู้แจ้งเห็นจริงในหลักการพึ่งพาตัวเองนำตนเองหลุดพ้นจาก การเป็นหนี้ได้สำเร็จ มุ่งการทำนาที่ปลอดสารเคมี ยาฆ่าแมลงหรือวัชพืช และการพึ่งพาตนเองได้ เข้าใจธรรมชาติ การเห็นคุณค่าผู้อื่น เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก คุณค่าของท้องถิ่นที่สัมพันธ์กันโดยธรรมชาติและลงมือทำร่วมกันเป็นกลุ่มและทำอย่างมีส่วนร่วม สู่ความยั่งยืนและเข้มแข็งของหมู่บ้านหรือชุมชน และมีลักษณะการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาขึ้นมาเป็น 2 ลักษณะ คือ กลุ่มลักษณะไม่เป็นทางการ และกลุ่มลักษณะทางการ
ซึ่งผลการค้นพบสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุชาดา ศรีศักดิ์ (2553 : 209-225) ได้ศึกษา วัฒนธรรมข้าวอินทรีย์ในชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง : รูปแบบเครือข่ายการผลิตและตลาดเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พบว่า วัฒนธรรมข้าวอินทรีย์ในชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับข้าวมีการผลิตข้าวอินทรีย์ มีชุมชนต้นแบบการทำนาข้าอินทรีย์ การทำนาเริ่มย้อนกลีบไปหาแนวทางธรรมชาติ เริ่มมีความเข้าใจ มีความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาในกระบวนการทำนา หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริม ทำให้มั่นใจและหันมาปลูกพืชและทำนาแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีการรวมเป็นกลุ่มเกษตรกร ศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ พลิกฟื้นการทำไร่ ทำนา ร่วมกันทำปุ๋ยและน้ำสกัดชีวภาพไล่แมลงขึ้นมาใช้เอง มีการตั้งเครือข่ายข้าวอินทรีย์ในการผลิตและการตลาดในชุมชน มีโครงสร้างความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน ตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ ภายในชุมชนไปจนถึงระดับจังหวัด เริ่มจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือกันรวมถึงมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ลักษณะของกลุ่มเครือข่าย คือ ระบบความเชื่อดั้งเดิมยังคงเหลืออยู่ในชุมชน การสิบทอดการทำนามาตั้งแต่อดีต การพึ่งพาอาศัยกันในชุมชน ทำให้ง่ายต่อการพัฒนา ทำให้ระบบกลุ่มสมาชิกในเครือข่ายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชมชนต่อไป
และยังสอดคล้องกับทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ (Structural and Functional Theory) ของ พาร์สันส์ (Parsons) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวว่า ระบบสังคมที่สามารถจะรักษาระบบไว้ได้นั้น จะต้องมีวัตถุประสงค์และดำเนินไปเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ (Goal Attainment) วัตถุประสงค์ของสังคมมีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดแห่งสังคม สมาชิกในสังคมจะอยู่ได้อย่างสงบสุข ทำอย่างไรที่จะถ่ายทอดวัตถุประสงค์ของสังคมนี้ไปสู่สมาชิกในสังคม มีการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย และมีการควบคุมอย่างไรที่จะทำให้สมาชิกได้ปฏิบัติไปสู่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของสังคม และ ระบบสังคมจะต้องมีการปรับตัว (Adaptation) การปรับตัวมีความจำเป็นและสำคัญมากต่อการมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน การที่สมาชิกในสังคมมีความสัมพันธ์ และกระทำระหว่างกันนั้น จำเป็นต้องคิดหาเทคนิควิธีต่างๆ ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของสังคม และเสริมสร้างพลังต่างๆ ภายในระบบให้ดีขึ้น สถาบันทางสังคมที่จะช่วยทำหน้าที่นี้อย่างมากได้แก่สถาบันเศรษฐกิจ อาทิ การตั้งกลุ่ม
วิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ เป็นต้น
ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรอรหันต์ชาวนาในอีสานตอนใต้ ประเด็นนี้ผู้วิจัยค้นพบว่า ต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมคือ ต้นแบบ
การทำนาเกษตรอินทรีย์แบบแนวคิดทฤษฎีใหม่ เป็นแบบอย่างการทำนาที่นำแนวคิดทฤษฎีใหม่ตาม
แนวพระราชดำริของในหลวง เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยน
แปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี ซึ่งชาวนาได้นำมาปรับแก้และพัฒนาเข้ากับการทำนาของตน การเกษตรแบบนี้จะเน้นไปในเรื่องการจัดสรรที่ดินที่มีอยู่และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ทั้งหมด 4 ส่วน ตามอัตราที่สมดุลและเกื้อกูลกันและกัน ซึ่งมีการจัดสรรดังนี้ คือ ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 หรืออัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณเท่านั้น สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ดิน ปริมาณน้ำฝนและสภาพแวดล้อมได้
สำหรับต้นแบบการทำนาเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมนี้ ชาวบ้านได้กล่าวว่าจะต้องมีพื้นที่อย่างน้อยตั้งแต่ 15 ไร่ขึ้นไป และที่เหมาะสมที่สุดคือประมาณ 30 ไร่ โดยผู้วิจัยได้นำเสนอเฉพาะแปลงนาที่มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ อยู่ในอัตราส่วน 53.33 : 16.67 : 23.33 : 6.67 ( ข้าว : น้ำ : ป่าไม้ พืชผัก : ที่อยู่อาศัย) กรณีน้ำอาจมีอัตราส่วนน้อยไป แต่ก็แก้ไขได้โดยใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ข้าวกับ ป่าไม้พืชผัก สามารถถ่วงน้ำหนักกันไปมาได้หรือเปลี่ยนแปลงสลับกันกับการปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่นั้น ๆ ได้
ซึ่งผลการค้นพบสอดคล้องกับงานวิจัยของ Shingo Hokazono, and Kiyotada
Hayashi (2012 : 101–112) ได้ศึกษา ความแปรปรวนในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระหว่างการแปลงจากเดิมเพื่อให้การทำเกษตรอินทรีย์: การเปรียบเทียบระหว่างทั้งสามระบบการผลิตข้าวในประเทศญี่ปุ่น พบว่า ก่อนหน้าการใช้วงรอบการประเมินผลของชีวิตข้าว เพื่อเปรียบเทียบความกังวลการทำเกษตรอินทรีย์กับการเกษตรแบบเดิม จะไม่คงที่ ในการศึกษาครั้งนี้ในระยะเวลาห้าปีที่ทดลองในไร่นาถูกนำไปใช้และมีการประเมินทั้งของสามระบบการผลิตข้าวในประเทศญี่ปุ่น อินทรีย์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนประเภททั่วโลก ผลกระทบและความผันผวนเหล่านี้ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และผลผลิตข้าวอินทรีย์ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับทฤษฎีใหม่ ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้
พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ว่า เพื่อพออยู่พอกิน เลี้ยงตัวได้เป็นวิธีปฏิบัติสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวน น้อย แปลงเล็กประมาณ 15 ไร่ ทำการเกษตรลักษณะไร่นาสวนผสม โดยเป็น พื้นที่นา 5 ไร่ สวน/พืชไร่ 5 ไร่ สระน้ำ 3 ไร่ ที่อยู่อาศัย/อื่น ๆ 2 ไร่ ข้อสำคัญ สระเก็บน้ำ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร จุน้ำได้ 19,000 ลบ.ม. ในฤดูแล้งระดับน้ำในสระ อาจลดลงเหลือใช้เพียง 4,750 ลบ.ม.จึงต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมให้เพียงพอ
ยังพบว่า เกษตรกรตัวอย่างหรือเกษตรกรต้นแบบคือแบบอย่างของพวกเขาที่มี่ลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ ต้นแบบสอนให้รู้ ต้นแบบทำให้ดู และต้นแบบอยู่ให้เห็น สุดท้ายคือเกษตรกรต้นแบบเป็นต้นแบบที่ดีต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อทุกคน
เอกสารอ้างอิง
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. วิถีชุมชน คู่มือการเรียนรู้ที่ทำให้งานชุมชนง่ายได้ผลและสนุก.
นนทบุรี : สถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพ, 2546.
ธำรงค์ อุดมไพจิตรกุล. เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เบื้องต้น. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, ม.ป.ป.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เอกสารการสอนชุดวิชา เศรษฐกิจไทย หน่วยที่ 1-7. พิมพ์ครั้งที่
2. นนทบุรี : หาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2544.
ศุภวรรณ์ ใจแสน. ข้าวอินทรีย์ การผลิตข้าวต้นทุนต่ำให้ผลผลิตสูง. กรุงเทพฯ : บริษัทนาคาอินเตอร์
มิเดีย, 2551.
สมคิด ดิสถาพร. เกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากลประเทศไทย. กรุงเทพฯ : จามจุรีโปรดักท์, 2549.
สุชาดา ศรีศักดิ์. วัฒนธรรมข้าวอินทรีย์ในชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รูปแบบเครือข่ายการผลิต
และการตลาด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน. วิทยานิพนธ์ ปร.ด. มหาสารคาม,
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน 2488-2544. กรุงเทพฯ :
สร้างสรรค์, 2546.
เอี่ยม ทองดี. ควาย ข้าว พระ ผี พิธีกรรม ในกระบวนการพัฒนาชนบทไทย. กรุงเทพฯ :
สหธรรมิก, 2547.
. วัฒนธรรมข้าว : พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา. กรุงเทพฯ : สหธรรมิก,
2532.
Shingo Hokazono, and Kiyotada Hayashi. Variability in environmental impacts during
conversion from conventional to organic farming: a comparison among three
rice production systems in Japan. Journal of Cleaner Production. 28(2)
: 101–112 : June 2012.
ที่มา : ครูบ้านนอกบล๊อก วันที่ 7 พ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.