ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ดร.โสภณ เสนอ 8 ข้อวิพากษ์เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ ควร และยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีกมาก พร้อมตั้งข้อสังเกต สังคมไม่เคยได้มีโอกาสเห็นร่าง พรบ.ฉบับนี้เลย รัฐบาลได้แต่ "โยนหินถามทาง" ไปเรื่อย
สำหรับหลักเกณฑ์การจัดเก็บนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงว่าว่าจะมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยมีเกณฑ์ดังนี้ (http://bit.ly/1WCSURl):
1. สำหรับผู้ที่มีที่อยู่อาศัยหลังเดียว ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.5% ด้านผู้ที่มีที่อยู่อาศัย หรือมีบ้านตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป จะเสียภาษีทันทีตั้งแต่บาทแรก โดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.5%
2. พื้นที่เกษตรกรรม โดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.2%
3. สำหรับพาณิชย์ อุตสาหกรรม จะเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 2% และ
4. กลุ่มที่ดินรกร้าง ว่างเปล่าและไม่ใช้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 5% สำหรับในปีที่ 1-3 หลังจากนั้น หากไม่ได้มีการทำประโยชน์ในปีที่ 4-6 จะเก็บเพิ่มอีกเท่าตัว
ข้อนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขออนุญาตวิพากษ์ดังนี้:
1. การให้เก็บภาษีก็ต่อเมื่อมีราคาสูงถึง 50 ล้านบาทนั้น จะทำให้บ้านที่ต้องเสียภาษีมีน้อย อาจไม่คุ้มค่าจัดเก็บ จากฐานข้อมูลของศูนย์ฯ ในช่วงปี 2537-59 มีบ้านที่มีราคาเกิน 50 ล้านบาทในตลาดอยู่เพียง 1,351 หน่วย แยกเป็นบ้านเดี่ยว 572 หน่วย ห้องชุด 764 หน่วย และอื่น ๆ จากฐานข้อมูล 1,8490,789 หน่วย ของบ้านทั้งหมดประมาณ 4.7 ล้านหน่วยที่มีอยู่ทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เท่ากับมีบ้านราคาเกิน 50 ล้านบาทเพียง 0.007% เท่านั้น
2. ในความเป็นจริงไม่ควรมีการยกเว้นใด ๆ โดยไม่จำเป็นเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน การยกเว้น การลดหย่อน มักเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้มีรายได้สูง เพราะผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางก็ถูกเก็บภาษีไม่มากนักอยู่แล้ว
3. หลักเกณฑ์ที่ผ่าน ครม. ข้างต้น ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แสดงให้เห็นว่า ประชาชนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสได้รู้ข้อมูลที่ชัดเจน รัฐบาลจึงควรนำเสนอหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด ราคาบ้านที่เกิน 50 ล้านบาทนั้น รัฐบาลไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะจัดเก็บเฉพาะส่วนที่เกินหรือไม่
4. การกำหนดให้ผู้ครอบครองบ้านหลังที่ 2 ต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรกนั้น อาจทำให้เกิดการถ่ายโอนกันใหญ่ เพื่อจะได้ไม่เสียภาษีนั่นเอง อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีควรให้จัดเก็บโดยไม่มีข้อยกเว้นอยู่แล้ว ในโครงการบ้านจัดสรรหรืออาคารชุด ก็มีการจัดเก็บค่าส่วนกลางโดยไม่มีข้อยกเว้น จักรยานยนต์เก่าคันละ 10,000 บาท ก็ยังเสียภาษีประมาณ 1% ทุกปี
5. การแบ่งแยกประเภทการใช้สอยที่ดินอาจไม่ชัดเจน เช่น เกษตรกรรม รัฐบาลควรส่งเสริมหรืออุดหนุนการเกษตรทางอื่นแทนที่จะยกเว้นภาษีที่ดิน การ ให้ข้อยกเว้นนี้ บางคนจึงอาจแสร้งทำการเกษตรกรรมบังหน้าเพื่อให้เสียภาษีแต่น้อย
6. อาจทำให้ประชาชนพากันแบ่งแยกโฉนด ซอยให้เป็นแปลงย่อย จะได้ไม่เสียภาษีตามเกณฑ์ รวมทั้งการแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นอะพาร์ตเมนต์ ส่วนที่ปลูกบ้านของตนเอง ส่วนที่ทำการเกษตกรรม ออกจากกันเป็นต้น
7. แม้กฏหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ จะอ้างว่าผ่าน ครม. แต่หากไปดูในผลการประชุม ครม. ก็ไม่ปรากฏว่ามีวาระนี้ในการประชุม ครม. และควรจะมีออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ชัดเจนด้วย และแม้จะผ่าน ครม. แล้ว กว่าจะไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา และเข้าสภา ก็ยังอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกมาก เช่น ร่างเดิม ยกเว้นบ้านที่มีราคาไม่เกิน 300,000 บาท แต่มาในร่างนี้ยกเว้นบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาท เป็นต้น
8. ถ้ารัฐบาลจะออกกฎหมายนี้จริง ควรทำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เช่น ในสมัยจะเปลี่ยนมาใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐบาลจะใช้ทุกองคาพยพในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ แต่นี่มีแต่การปรับเปลี่ยนไปมา สร้างความสับสนให้กับประชาชน และอาจกลายเป็นกฎหมายที่ "เป็นหมัน" กลายเป็น "คลื่นกระทบฝั่ง" ไปในที่สุด
รัฐบาลควรให้ประชาชนได้เข้าใจว่าภาษีนี้ดีต่อส่วนรวม ทำให้มูลค่าทรัพย์เพิ่มพูนกว่าภาษีที่ต้องเสียเพราะมีการพัฒนาท้องถิ่นมาก ขึ้น จะได้ยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรมและซ้ำซ้อนอื่น เช่น ภาษีโรงเรือน จะช่วยให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น สร้างประชาธิปไตยขั้นรากฐานมากขึ้น เป็นต้น
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับ ปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.