ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านความเห็นชอบในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ก็เกิดความวิตกกังวลกับธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ทันที เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ถือครองทรัพย์สินที่เป็นบ้านอยู่อาศัย ที่ดิน อาคารพาณิชย์ ครบทั้ง 4 ประเภท ที่กระทรวงการคลังแยกเก็บภาษี
สินทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์ถือครองไว้อยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอ) เป็นทรัพย์สินที่ธนาคารยึดทรัพย์ชำระหนี้มาจากลูกค้าหลังจากที่จบกระบวนการฟ้องร้องค่า เสียหายกันแล้ว ซึ่งตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์จะถือครองสินทรัพย์เหล่านี้ได้ไม่เกิน 10 ปี จากนั้นจะต้องจำหน่ายออก เพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ของประเทศ
ไม่เพียงแต่ธนาคารพาณิชย์ที่จะได้รับผล กระทบธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ทุกแห่งก็จะประสบกับปัญหาเดียวกัน หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ หากธนาคารยังไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์ออกไปได้ก็จะต้องควักเงินจ่ายภาษีตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นรายได้เพิ่มที่เป็นภาระพอสมควร
สมพร มูลศรีแก้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดินยอมรับว่ากระทบการ บสก. ซึ่งมีพอร์ตสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนหนี้กว่า 50% เป็นที่ดินเปล่า
"ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ชัด แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะต้องมีภาระจ่ายภาษีเพิ่ม ซึ่งต้องรอรายละเอียดและความชัดเจนของโครงสร้างภาษีว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง และจะมีการผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหรือไม่" สมพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สมาคมธนาคารไทยได้มีการหารือกันนอกรอบที่จะเข้าไปหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดินให้กับผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน เพราะหากมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจริงธนาคารพาณิชน์ที่มีเอ็นพีเอและบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ต่างๆ จะได้รับกระทบทำให้ต้นทุนสูง ทั้งๆ มีสินทรัพย์เพื่อประกอบธุรกิจซื้อมาขายไป ไม่ใช่มีสินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร
สมพร กล่าวว่า ขณะนี้ บสก.ก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะจัดทำแผนเพื่อรองรับหากรัฐบาลมีการจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดิน โดยมีแนวคิดที่จะปรับปรุงสินทรัพย์ต่างๆ ให้ใช้ประโยชน์ เช่น ถ้าเป็นที่ดินเปล่าอาจจะไปปลูกต้นไม้ หรือเปิดให้ประชาชนไปเช่าทาธุรกิจหรือทำการเกษตร ที่อยู่อาศัยก็เข้าไปปรับปรุง ถ้ายังขายไม่ได้ก็จะให้เช่าไปก่อน แทนที่จะปล่อยให้รกร้าง เพราะจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงมาก ในขณะเดียวกันจะต้องเร่งจัดทำกระตุ้นการขายสินทรัพย์ด้วย โดยเตรียมโครงการผ่อนถูกกว่าเช่า
ด้านแหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอมรับว่าอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลจะจัดเก็บรวมถึงเอ็นพีเอของธนาคารด้วยจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของธนาคาร แต่คาดว่าเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากธนาคารไม่มีเอ็นพีเอที่เป็นบ้านราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป ยกเว้นที่ดินรกร้างบางแห่งอาจจะมีราคาถึง 50 ล้านบาท
"หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ธนาคารต้องรับภาระภาษีไปก่อน เพราะทางราชการคงไม่ยอมให้มีการค้างชำระภาษีอยู่แล้ว ส่วนภาระภาษีอาจจะรวมอยู่ในราคาขาย แต่จะนับเป็นการผลักภาระหรือไม่ เป็นเรื่องของการต่อรองของธนาคารและผู้ซื้อ หากตกลงราคาสูงกว่าต้นทุนธนาคารก็กำไร แต่หากตกลงราคาต่ำกว่าต้นทุนธนาคารก็ขาดทุน" แหล่งข่าวเปิดเผย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวจะผลกระทบต้นทุนเอ็นพีเอของธนาคารมากน้อยเพียงใด ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนในรายละเอียดของกฎหมาย เช่น ขนาดพื้นที่ การใช้ราคาประเมินจะใช้จากหน่วยงานใด เพราะกรมที่ดินจะประเมินเฉพาะที่ดินแต่สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นหน่วยงานใด เป็นผู้ประเมิน อัตราภาษีที่ชัดเจน รวมทั้งการแบ่งประเภททรัพย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในภาพรวมมองว่าการออกกฎหมาย ดังกล่าวมุ่งเน้นจัดเก็บภาษีที่คนรวย เห็นได้จากการกำหนดเริ่มเก็บภาษีบ้าน 50 ล้านบาทขึ้นไป แต่ต้องมองถึงผลกระทบกับคนที่มีที่ดินแต่ไม่มีรายได้ เช่น คนเฒ่าคนแก่ที่มีที่ดินมรดกจะทำอย่างไร
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยไม่ได้มีการพูดคุยถึงผล กระทบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่เชื่อว่าแต่ละธนาคารอาจกำลังวิเคราะห์ถึงผลกระทบกันอยู่ เพราะแต่ละธนาคารมีเอ็นพีเอที่ถือครองอยู่ในหลักหลายพันล้านบาท สำหรับธนาคารกสิกรไทยมี เอ็นพีเอมูลค่าราว 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนผล กระทบต่อสินเชื่อบ้านอาจจะส่งผลบ้าง สำหรับลูกค้าที่จะซื้อบ้านหลังที่ 2 แต่ยังบอกไม่ได้ว่ากระทบเพียงใด ซึ่งกำลังติดตามรายละเอียดของร่างกฎหมายภาษีอย่างใกล้ชิด
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.