“อภิศักดิ์” ชงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าครม. 7 มิ.ย. เว้นภาษีที่ดินเพื่อทำการเกษตร/บ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน เคาะสูตรคำนวณภาษีสำเร็จรูปใช้ทั่วประเทศ จ่ายตามขนาดพื้นที่ /แปลงที่ดิน หวังกันพวกชอบใช้ดุลพินิจเลี่ยงภาษี สร้างรายได้เข้ารัฐ 6 หมื่นล้านต่อปี ขุนคลังวอนเอกชนถึงเวลาลงทุนเพื่อชาติ มั่นใจแคมเปญ “หักค่าเสื่อม 2 เท่าถึงปีนี้” รัฐให้มากสุดๆยกตัวอย่างลงทุน 1 หมื่นล้าน ไม่ต่างกับรัฐแจกฟรี 2 พันล้านบ.
นาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ”เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ถึงความคืบหน้าการปฏิรูประบบภาษีว่า ในส่วนของโครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ได้เสนอรายละเอียด ตลอดจนโครงสร้างของภาษีดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาแล้ว โดยอยู่ระหว่างเตรียมเสนอเป็นวาระพิจารณา ขณะนี้อยู่ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอเป็นวาระเพื่อพิจารณาในวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559
โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะจัดเก็บภาษีตามมูลค่าของสิ่งปลูก สร้าง แต่จะยกเว้น กรณีบ้านที่อยู่อาศัยหลังแรก, ที่ดินเพื่อทำการเกษตร ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50ล้านบาท แต่หากเป็นบ้านหลังที่ 2 , บ้านหลังที่ 2 เพื่อการเช่า ,สิ่งปลูกสร้างเพื่อธุรกิจเป็นศูนย์การค้า/โรงแรม ฯลฯ ต้องเสียภาษี
คำนวณภาษีตามขนาดพื้นที่
บนหลักการที่รัฐต้องการส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่เก็บภาษีกับประชานกลุ่มนี้ ซึ่งวิธีการคำนวณภาษีจะแยกเป็น 2ส่วนคือ 1.ส่วนของที่ดิน และ 2.สิ่งปลูกสร้าง ส่วนของที่ดินจะอิงตามกรมธนารักษ์ (ประกาศราคาประเมินใหม่ ตั้งแต่1 มกราคม เป็นต้นมา) และ 2.มูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง กำหนดราคาต่อตารางเมตรโดยเฉลี่ยรายแปลง
“ครั้งก่อนที่เสนอไปมีกระแสต้านเยอะ เราได้นำมาศึกษาทบทวนใหม่ และจุดที่แก้ไขครั้งนี้ คือการตัดปัญหาในเรื่อง การใช้ดุลพินิจต่าง ๆให้หมด โดยจะระบุให้ชัดเจนว่าที่ดินแต่ละแปลงเท่าไร และจำกัดบ้านและสิ่งปลูกสร้างให้เหลือเพียงไม่กี่แบบ เช่น เป็นบ้าน 2 ชั้น ก็จะระบุให้ชัดว่าตารางเมตรละกี่บาท บ้านเดี่ยวตารางเมตรละกี่บาท เป็นต้น
สูตรสำเร็จรูป/ป้องเลี่ยงภาษี
ขณะที่ อปท.หรือหน่วยงานจัดเก็บภาษี ก็เพียงมีหน้าที่ดูว่าพื้นที่เท่าไร และคูณด้วย คอสต์ ( cost ) โดยเราจะคำนวณสูตรให้เสร็จสรรพ ส่วนประชาชนสิ่งที่ต้องไปดู คือดูว่าตัวเองมีบ้านกี่ตารางเมตร และคูณออกมาเพื่อคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งจะเป็นสูตรเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อแก้การใช้ดุลพินิจ ป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี
อย่างไรก็ดีอัตราเพดานการจัดเก็บภาษี บนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้แบ่งที่ดินเป็น 4 ประเภท คือ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร 2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ที่กล่าวข้างต้น ) , 3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอื่นๆ และ 4 .ที่ดินเปล่า นั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมครม.จะเป็นผู้พิจารณาสุดท้ายว่าจะกำหนดเพดานภาษีแต่ละประเภทเท่าไร
สร้างรายได้เข้าปท. 6 หมื่นล้าน/ปี
ทั้งนี้ประเมินว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะช่วยให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บเพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งจะไปสู่ท้องถิ่น เทียบกับปัจจุบันที่องค์การปกครองส่วนท้องที่ หรือ อปท. จะเก็บรายได้ได้เพียง 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น โดยกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560 ดังนั้นจะเห็นรายได้จากการจัดเก็บเพิ่มในปลายปี 2560-2561
นายอภิศักดิ์ ยังได้แสดงความเป็นห่วงว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยในไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตถึง 3.2 % ซึ่งก็เป็นผลจากมาตรการรัฐที่ได้ใส่เงินสู่ระบบอย่างต่อเนื่องทั้งมาตรการระยะสั้น กลาง ไปมากพอสมควร ดังนั้นถึงเวลาที่ภาคเอกชนควรจะเริ่มลงทุนได้แล้ว
ชี้ถึงเวลาภาคเอกชนต้องลงทุน
“ต้องเข้าใจว่าการลงทุนของรัฐทำ เต็มที่ก็เพียงกว่า 10% ของจีดีพี แต่เอกชนสามารถทำได้ถึง 30-40% แต่ว่าวันนี้การลงทุนของเอกชน กลับทำได้เพียงเท่ารัฐ ซึ่งการลงทุนในระดับนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ และส่งผลตามมาคือเมื่อประเทศ ลงทุนน้อย ประสิทธิภาพตามมาก็น้อย เทคโนโลยีก็ต่ำ เพราะไม่มีการปรับเปลี่ยน ส่งผลต่อเนื่องถึงประเทศ อย่างส่งออกของไทยที่สู้ต่างชาติอย่างเวียดนามไม่ได้ ก็เพราะเศรษฐกิจโลกขาลง ใครๆก็หันไปซื้อสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูง ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เวียดนามส่งออกยังเป็นบวก
เพราะหากจะย้อนหลัง 4-5 ปีที่แล้ว ก็เป็นผลจากที่เวียดนามลงทุนมหาศาล ภาคเอกชนลงทุนจำนวนมาก มีการลงทุนผลิตสินค้าโปรดักต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ถ้าเอกชนไม่คิดถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ลงทุน ประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ ต้องเดินด้วยเอกชน ภาครัฐมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกให้สามารถทำธุรกิจได้ดี ” นายอภิศักดิ์ และว่า
รัฐให้ยิ่งกว่าสุดยอดโปรโมชั่น
มาตรการสิทธิประโยชน์ที่ออกมาก่อหน้า ระบุว่าหากมีการลงทุนในปีนี้ จะได้สิทธิประโยชน์ภาษี โดยกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่แล้วก็จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มอีก ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ มาหักได้ 2 เท่า
“คนที่คำนวณเป็น จะรู้เลยว่ารัฐให้ประโยชน์มหาศาล อย่างภาษีนิติบุคคล ปัจจุบันจัดเก็บในอัตราที่ 20% การให้สิทธิประโยชน์หักค่าเสื่อม ได้ถึง 2 เท่า ก็เท่ากับว่ารัฐให้คุณแล้วถึง 20% เช่นลงทุน 1 หมื่นล้านบาท คำนวณแล้วรัฐบาลออกให้ฟรี ๆ ถึง 2 พันล้านบาท อย่างนี้ไม่มากหรือ ? ยังมากกว่ากว่าบีโอไออีก แต่คนคำนวณไม่คิด ”
เปรยCFOคิดไม่เป็นให้ลาออก
อย่างไรก็ดี ของเดิมระบุว่าจะต้องลงทุนทั้งหมด ภายในปีนี้ และเริ่มโอเปอเรตได้ถึงจะให้ แต่เมื่อไปคุยโรงงาน , บริษัทใหญ่ ๆ การจะดำเนินการ ( Implement )ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เขาอิมพลีเมนต์ ก็ต้องเอาเฉพาะการลงทุนในปีนี้ให้มาหักได้ 2 เท่า งานนี้เรียกว่า เราให้ยิ่งกว่าสุดยอดโปรโมชันอีก หากเอกชนยังคิดไม่ออกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ผมว่าควรไปไล่ CFO ออกให้หมด ”
ส่วนคำถามที่ว่า เพราะสาเหตุใดภาคเอกชนยังลังเลไม่ยอมลงทุน นายอภิศักดิ์ กล่าว ส่วนหนึ่งยังอ้างว่า รอดีมานด์ ,ความมั่นใจ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ นักลงทุนควรจะคิดลงทุนได้แล้ว แทนที่มานั่งรอ
ทั้งนี้การประชุมของครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ได้เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในเรื่องการขยายการลงทุนให้ครอบคลุมยิ่งกว่าเดิม จากเดิมที่กำหนดว่าการลงทุนจะต้องเสร็จสมบูรณ์และดำเนินการพร้อมใช้งานภายในปี 2559 แต่จากการประเมินพบว่า หากธุรกิจที่มาขอมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ใช้สิทธิทางด้านภาษีจะต้องเดินเครื่องพร้อมใช้งานได้ภายในปี 2559
แต่ภายหลังจากการประเมินผลบวกและลบ กลับพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่มองว่าใช้มาตรการดังกล่าวได้น้อยเนื่องจากไม่มีความครอบคลุม เห็นได้จากธุรกิจขนาดใหญ่มากมีแผนการลงทุนเป็นระยะ และหากประเมินมีจำนวนไม่น้อยที่ภายในปีแรกไม่สามารถลงทุนได้ครบทั้ง 100% หรือสูงสุดอาจลงทุนได้เพียง 80-90% ส่งผลให้ธุรกิจโรงงานดังกล่าวไม่สามารถเปิดเดินเครื่องหรือเดินสายการผลิตได้ จึงถูกมองว่าไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ไฟเขียวขยายลงทุนให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
“ตอนนี้ ครม. เห็นชอบแล้วว่าอะไรก็ตามที่ลงทุนไปแล้วในปีนี้ก็ให้สามารถนำมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า แต่จะให้เริ่มหักได้ก็ต่อเมื่อของหรือโรงงานนั้นนั้นได้เปิดดำเนินการแล้ว โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่โรงงานหรือธุรกิจนั้นนั้นเริ่มเปิดดำเนินการ” นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกครั้ง (เมื่อวันที่ 31 พ.ค.)
รมว.คลังระบุว่า หากครม.อนุมัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในต้นสัปดาห์หน้าแล้ว ต้องถือว่าแผนปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังค่อนข้างครบ แต่สิ่งที่จะแคมเปญต่อไป คือ แคมเปญในเรื่องที่ไม่ให้หลีกเลี่ยงภาษี เช่นที่กระทรวงคลังส่งเสริมในเรื่องการทำบัญชีเดียวเพื่อให้ธุรกิจทำบัญชีได้ถูกต้อง เรื่องระบบการชำระเงิน(อี-เพย์เมนต์) เป็นต้น เพราะต่อไป ระบบจะเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ หากเอสเอ็มอีหรือธุรกิจไม่เข้าบัญชีเดี่ยว ในปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ก็อาจไม่รับทำธุรกรรมได้
มั่นใจจัดเก็บภาษีหลังปี 60 เพิ่มชัด
กระทรวงการคลัง ประเมินว่าการปฏิรูประบบภาษี จะทำให้ฐานจัดเก็บภาษีนิติบุคคลในอนาคตจะกว้างขึ้น ขณะที่ภาษีบุคคลธรรมดาจะได้น้อยลง แต่รายได้โดยรวมสุทธิเมื่อรวมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้วคาดว่าภาพรวมจะเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเห็นชัดหลังปี 2560 เป็นต้นไป
อนึ่งครม. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ตีกลับให้กระทรวงการคลัง ไปทบทวนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ อยู่หลายรอบ และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25เดือนเมษายน 2559 ได้ให้กระทรวงการคลังกลับไปทำกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลัก ก่อนที่จะกลับมาเสนอให้ครม. เห็นชอบทั้งหมด เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที หลังจากที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
โดยร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กระทรวงการคลังเสนอไปก่อนหน้านั้น กำหนดอัตราภาษีไว้ 4ประเภทคือ 1. อัตราภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานสูงสุดที่ 0.05%2.อัตราภาษีที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยกำหนดเพดานสูงสุด 0.5% และ 3.ที่ดินเพื่อเชิงพาณิชย์กำหนด เพดานสูงสุดไม่เกิน 2% แต่จัดเก็บจริงอัตรา0.2% และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จัดเก็บเพดานสูงสุดไม่เกิน 2% เก็บจริงในอัตรา0.5% แต่เพิ่มขึ้นทุก 3 ปี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 4 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.