ก.เกษตร เดินหน้าสางหนี้นอกระบบคืบ ฟุ้งเจรจาประนอมหนี้สำเร็จแล้ว 5.21 หมื่นราย มูลหนี้ กว่า 9.48 พันล้าน จากผู้ที่ยื่นคำร้องมาทั้งสิ้น 8.56 หมื่นราย ยอมรับเจรจาไม่สำเร็จกว่า 3 หมื่นราย ด้านปลัดเกษตรเข้มสั่งทางไลน์กระตุ้นถึงอธิบดีทุกรมในสังกัด โหมโรงเร่งคลอดแผนคิกออฟอุ้มเกษตรกรทั่วประเทศ ต้องให้เสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร (หนี้นอกระบบ) ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 9 สิงหาคม 2558 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมอบให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการ โดยใช้กลไกกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ
ความคืบหน้าล่าสุดมีเกษตรกรได้ยื่น คำร้องมาแล้วทั้งสิ้น 8.56 หมื่น ราย มูลหนี้รวม 1.54 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ทางกระทรวงได้ ดำเนินการไกล่เกลี่ยจำนวน 8.26 หมื่นราย มูลหนี้ 1.51 หมื่นล้านบาท เจรจาสำเร็จ จำนวน 5.21 หมื่นราย ราย มูลหนี้ 9.48 พันล้านบาท เจรจาไม่สำเร็จประมาณ 3 หมื่นราย มูลหนี้ 5.62 พันล้านบาท ส่วนการปลดเปลื้องหนี้สิน จำนวน 1.32 หมื่นราย มูลหนี้ 1.72 พันล้านบาท จำแนกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ส่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ (ธ.ก.ส.) พิจารณา จำนวน 8.53 พันราย มูลหนี้ 1.1 พันล้านบาท อีกด้านหนึ่งให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน(อชก.) ส่วนกลาง ได้มีมติอนุมัติเงินกู้จากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนเพื่อให้กู้เกษตรกรกู้จำนวน 4.67 พันราย มูลหนี้กว่า 600 ล้านบาทเพื่อแก้ไขจัดการหนี้ต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ เผยอีกว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมานายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการสั่งงานผ่านแอพพลิเคชันไลน์ ถึงอธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนเร่งด่วนที่ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยมีนโยบายสำคัญๆ อาทิ ให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งรัดดำเนินการจัดทำแผนการสนับสนุนปัจจัยการผลิตช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกรายอำเภอ และจะต้องมีแผนเปิดตัวเพื่อให้บริการคำแนะนำเกษตรกร รวมทั้งแผนการเปิดตัวโครงการเกษตรแปลงใหญ่ด้วย ส่วนกรมการข้าว จะต้องบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร รวมถึงการจัดงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายนนี้
ขณะที่ กรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน จะต้องเร่งรัดส่งแผนที่และคู่มือ Agri-Map ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประสานกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมหม่อนไหม เพื่อส่งมอบต่อให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งรัดดำเนินการนำร่องตามแผนปรับโครงสร้างการผลิตตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก Agri-Map พร้อมสั่งให้กรมปศุสัตว์เตรียมเปิดตัวโครงการนำร่องปรับโครงสร้างการผลิตเปลี่ยนจากพืชเกษตรเป็นการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังเร่งรัดให้จัดทำรายงานเสนอ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องข้อมูลที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วประเทศแปลงใหญ่ที่ถูกบุกรุกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยึดกลับคืนมา
“ยังมีเรื่องสำคัญ ๆ อีกหลายเรื่องที่เร่งรัด เช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้เร่งจัดทำแผนการบริหารจัดการยางพาราครบวงจรเพื่อเตรียมการเปิดฤดูกรีดยางใหม่ และให้กรมวิชาการเกษตร โอนทรัพย์สินและครุภัณฑ์ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับ กยท.ให้เรียบร้อย ส่วนกรมประมงเร่งรัดดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น”
Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 5 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.