ข่าวดีคือปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข่าวร้ายกลับตามมาติดๆ เพราะปรากฏการณ์ลานิญากำลังจะรับไม้ต่อในเร็วๆ นี้
วอลล์สตรีต เจอร์นัล อ้างรายงานของสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนที่เย็นลง และลมสินค้า (Trade Wind) ที่กลับสู่ภาวะปกติบ่งชี้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวที่แผลงฤทธิ์มาตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2558 ได้ยุติลงแล้ว
ทั้งนี้ "เอลนิโญ" แปลว่า เด็กผู้ชายในภาษาสเปน มีที่มาจากชาวประมงเปรูในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเป็นระยะ ๆ จึงเรียกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า "The boy" เพราะมักเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งมีการฉลองการประสูติของพระเยซู
ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่วิกฤตขาดแคลนน้ำครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่ง นับจากเริ่มมีการบันทึกสถิติในทศวรรษ 1950 ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติในออสเตรเลียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย, ความแห้งแล้งในบางส่วนของแอฟริกา รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนในอเมริกาใต้ สหประชาชาติประเมินว่า ประชากรโลกราว 60 ล้านคน ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหาร อันเนื่องมาจากความแห้งแล้งรอบนี้
สภาพอากาศที่แห้งแล้งยังกดดันให้ราคาโภคภัณฑ์ภาคเกษตรพุ่งสูง อาทิ กาแฟโรบัสต้า น้ำมันปาล์ม และน้ำตาล เพราะซัพพลายลดต่ำ ไม่ใช่เฉพาะโภคภัณฑ์ประเภทอาหารเท่านั้นที่เจอผลกระทบ
ฤดูหนาวที่ไม่หนาวจัดในอเมริกาเหนือและยุโรปจากผลของเอลนิโญ ทำให้ความต้องการใช้พลังงานไม่พุ่งสูงมากนัก ราคาก๊าซธรรมชาติจึงแผ่ว โดยราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐร่วงสู่ระดับต่ำสุดนับจากปี 2541
น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นยังทำให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ "เกรตแบริเออร์รีฟ" ทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก
"ครั้งนี้เป็นเอลนิโญที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ทำให้ปี 2558 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ นอกจากนี้ยังมีส่วนทำให้ไฟป่าในอินโดนีเซียขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว" นายออกัส ซานโทโซ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ระบุ
หลายภูมิภาคทั่วโลกต้องประสบกับหางเลขของเอลนิโญ แต่พื้นที่ที่อ่วมหนักหนีไม่พ้นประเทศกำลังพัฒนา เพราะขาดงบประมาณและเทคโนโลยีในการรับมือ อีกทั้งการประกันภัยไม่ครอบคลุมความเสียหาย เช่น ทางตอนใต้ของแอฟริกาที่ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายหนัก ปศุสัตว์ล้มตายเป็นเบือ ซึ่งไม่เพียงคุกคามความมั่นคงทางอาหาร แต่ยังกระตุ้นให้เกิดการจลาจลและเขย่าเสถียรภาพของรัฐบาลหลายประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม การโบกมือลาของเอลนิโญ ไม่ได้หมายถึงแนวโน้มที่สดใส นักอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ปรากฏการณ์ลานิญาจะตามมาในไม่ช้า โดยสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียคาดว่า มีโอกาส 50% ขณะที่ศูนย์พยากรณ์สภาพภูมิอากาศสหรัฐประเมินว่า มีความเสี่ยงถึง 75%
นายซานโทโซชี้ว่า "ลานิญาจะทำให้เกิดฝนตกหนักในประเทศทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะช่วยบรรเทาความแห้งแล้ง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็จะยกระดับความรุนแรงของพายุไซโคลน และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ขณะที่ในสหรัฐ ลานิญาอาจก่อให้เกิดความแห้งแล้งครั้งใหญ่"
พร้อมเตือนว่า ภาวะโลกร้อนส่อเค้าจะทำให้เอลนิโญและลานิญาแวะเวียนมาสร้างความปั่นป่วนบ่อยขึ้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 พ.ค. 2559