สศช.เผยครัวเรือนไทยเกือบ 9 ล้านครัว มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายและหนี้สิน ภัยแล้งซ้ำภาคเกษตรหนี้เพิ่ม
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกปี 2559 ว่า สถิติหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมผ่านสถาบัน การเงิน ณ สิ้นปี 2558 มีมูลค่า 11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 81.5% ของจีดีพีเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับปลายปี 2557 ขณะที่หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนปี 2558 อยู่ที่ 156,770 บาท ลดลง 2% ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนี้สินครัวเรือนในภาพรวมจะลดลง แต่ปรากฏว่าครัวเรือน 8.96 ล้านครัวเรือน หรือ 42% ของครัวเรือนทั้งหมด มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายและหนี้สิน ขณะที่ครัวเรือนอีก 7.79 ล้านครัวเรือน หรือ 35.1% ของครัวเรือนทั้งหมด มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายไม่ถึง 5,000 บาท
“หนี้สินครัวเรือนก้อนใหญ่ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรกรที่มีหนี้สินคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 15% ของหนี้สินครัวเรือนทั้งประเทศ หรือมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน” นายปรเมธี กล่าว
สำหรับสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยไตรมาสแรกปีนี้ยอดผิดนัดชำระหนี้ 9.62 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% คิดเป็นสัดส่วน 26.9% ต่อหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) รวม โดยเป็นการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อบุคคลเกิน 3 เดือน มีมูลค่า 1.12 หมื่นล้านบาท ลดลง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเข้มงวดด้านการให้สินเชื่อและตัดหนี้สูญ แต่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนของสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.7% และคิดเป็นสัดส่วน 3.6% ของสินเชื่อคงค้าง
นาย ปรเมธี กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 ส่งผลให้จีดีพีภาคเกษตรหดตัว 3.8% และทำให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง 4.6 แสนคน ขณะที่ครัวเรือนเกษตรมีรายจ่ายและหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ถือครองทางการเกษตรที่เป็นผู้เช่ามีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 12.46% และหนี้สินเพิ่มขึ้น 28.58% ส่วนคนงานมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 40.28% ในช่วงปี 2555-2557 เนื่องจากรายได้ที่มาจากการทำเกษตรมีอัตราการขยายตัวที่เป็นลบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนจนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคเกษตร
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 31 พ.ค. 2559