กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่ออยู่ๆ ราคาข้าวเหนียวในท้องตลาดปรับตัวสูงต่อเนื่อง และแซงหน้าราคาข้าวหอมมะลิ ตันละ 1,000-2,000 บาท ล่าสุดราคาข้าวเปลือกเหนียววิ่งไปถึงตันละ 13,000-15,000 บาท ขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ทรงตัวเฉลี่ยตันละ 11,000 บาท ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดได้ไม่บ่อยนัก
แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็แสดงความเป็นห่วง ออกมาเตือนเรื่องหันปลูกข้าวเหนียว เพราะมองแค่ราคาสูงระวังเจ๊ง
- เร่งสอบเหตุราคาข้าวเหนียวแพง
ทำให้กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานหลักในการดูแลเสถียรภาพราคาข้าวและอยู่ระหว่างจัดทำ ยุทธศาสตร์ข้าวแบบครบวงจร นั่งไม่ติด นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สั่งการด่วนให้กรมการค้าภายใน (คน.) และกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ตรวจสอบข้อมูลจริง เพราะเกรงว่าราคาข้าวเหนียวสูงกว่าราคาข้าวหอมมะลิ นานๆ ไปจะมีผลจิตวิทยาต่อฤดูกาลผลิตใหม่ของชาวนา ที่จะแห่ปลูกข้าวเหนียวเป็นหลัก จากราคาที่เคยสูงก็จะตกต่ำลงทันที ตั้งแต่ยังไม่เก็บเกี่ยวหลังเริ่มลงต้นกล้าเพียง 3-4 เดือน
สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการรู้คือ ราคาข้าวเหนียวที่สูงจนทุบสถิติในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการแท้จริง หรือเป็นความต้องการเทียม เพราะปกติการเพาะปลูกข้าวเหนียวของชาวนาไทย ส่วนใหญ่ 70-80% ผลิตเพื่อบริโภคกันเองในประเทศ ส่วนส่งออกข้าวเหนียวตัวเลขต่อปีก็ยังไม่ถึง 3 แสนตัน อาจมีบางปีที่ผิดปกติก็แค่เมื่อ 5 ปีก่อน จีนเพิ่มนำเข้าเพื่อป้อนอุตสาหกรรมผลิตแอลกอฮอล์ อีกเหตุผลตามสถานการณ์ เช่น ภัยแล้งของประเทศเพื่อนบ้านหนักจนต้องลักลอบนำเข้าจากไทย หรือพ่อค้ากว้านซื้อเพื่อเก็งกำไรเพราะวิตกปลูกรอบใหม่ผลผลิตอาจหายไปกว่าครึ่งเหมือนพืชเกษตรหลายชนิด หรือพันธุ์ข้าวที่ราชการจัดสรรลงหมู่บ้านไม่ได้เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่ต้องการ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องได้ข้อเท็จจริงภายในเดือนพฤษภาคม เพราะต้องนำไปประกอบแผนบริหารจัดการข้าวครบวงจร ที่ทางการจะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้
ถึงขณะนี้ในส่วนของกรมการค้าภายในระบุเพียงกำลังเร่งตรวจสอบและส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ โดยเบื้องต้นเชื่อว่าราคาข้าวเหนียวแพงเพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตรอบก่อนลดลงมาก เหลือเพียงสำรวจความต้องการเพื่อการบริโภคของคนไทย แรงงานเพื่อนบ้าน และภาคอุตสาหกรรมว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่
- ผู้ส่งออกชี้ราคาผันผวน
โดยผู้ส่งออก ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า ขณะนี้ราคาข้าวสารเหนียวเป็นข้าวที่ราคาดีที่สุด ราคาข้าวสารเหนียวนาปรังออกใหม่อยู่ ที่ 28-29 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สูงกว่าข้าวสารหอมมะลิ อยู่ที่ 23 บาทต่อ กก. และข้าวสารขาว 5% อยู่ที่ 14 บาทต่อ กก. ยิ่งเป็นข้าวเหนียว กข6 นาปี ราคาจะสูงกว่านี้ เพราะคุณภาพดีกว่า ราคาขายในพื้นที่อีสานสูงถึง 29-29.50 บาทต่อ กก. ส่วนภาคเหนืออยู่ที่ 31.50-32 บาทต่อ กก. ระดับราคานี้ถือว่าสูงมากแล้ว มองว่าเป็นเพราะแล้งกระทบต่อผลผลิตได้น้อยลง อีกทั้งบางพื้นที่ลดพื้นที่เพาะปลูกเกรงว่าขายไม่ได้ราคาเพราะไม่มีโครงการรับจำนำ และบางส่วนหันไปปลูกข้าวเจ้าหอมมะลิ เพราะทางการได้ประกันสูงกว่า
"ตอนนี้ข้าวไม่มีระดับราคาปกติ อยู่ที่ตลาดเลย ราคาไม่นิ่ง ขึ้นกับความต้องการและการผลิต พยายามบอกว่าราคาในอดีตเป็นเท่าไหร่ ไม่ได้แสดงออกว่าราคาในอนาคตจะเป็นเท่านั้นเท่านี้ คล้ายกับราคาหุ้น ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูนาปรัง ของน้อย โรงสีจึงซื้อเก็บจนกว่าของใหม่จะออกตลาด ยอมรับราคาสูงส่งออกยาก เพราะข้าวเหนียวเวียดนามถูกกว่าไทย ที่ปลูกส่วนใหญ่บริโภคในประเทศเกือบ 90% และมีผลผลิตปีละ 7-8 ล้านตัน หากต่อจากนี้ไม่มีฝนจนถึงทำนาอีกรอบคาดว่าราคาข้าวเหนียวจากนี้จะไม่ลง เป็นธรรมดาของกลไกตลาด ชาวนาเห็นราคาดีก็จะเฮโลกันปลูก หากขึ้นลงตามความต้องการให้ประเทศก็น่าวิตกนัก"
ส่วนโรงสี นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเหนียวขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ไม่ได้ขึ้นมาเฉพาะช่วงนี้ เนื่องจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตมีน้อย สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกเหนียวแห้งอยู่ที่ 16,000-18,000 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาขึ้นมากสุดแล้ว เนื่องจากโรงสีแย่งกันซื้อจนแพงเกินจริง ตอนนี้ราคาอ่อนตัวลงบ้าง สาเหตุเล็งเห็นว่าผลผลิตนาปรังฤดูกาลนี้มีเล็กน้อยและใกล้หมดแล้วจากภัยแล้ง แล้วทยอยขาย ไม่ได้เก็บเพื่อเก็งราคา จะปล่อยออกตามความต้องการบริโภคแต่ไม่รีบขายอย่างข้าวขาว ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิทรงตัวตันละ 12,000-13,000 บาท
- แนวโน้มกลางปีขยับรุนแรง
อีกเสียงอย่างนายศิริ ไชยสถิตวานิช อดีตประธานชมรมโรงสีข้าว จ.เชียงราย กล่าวว่า ประเมินกันว่าภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวต่อไร่หายไป 20-30% กระทบต่อราคาข้าวเหนียวแซงหน้าหอมมะลิตั้งแต่ต้นปี และราคาห่างกันมากอย่างไม่ค่อยเห็น จนสังคมให้ความสนใจกันมาก จึงเป็นเรื่องปกติที่ข้าวหายไปจากตลาดต้องแย่งซื้อ ยอมรับข้าวเหนียวปีนี้แพงกว่าทุกๆ ปี ชาวนาเห็นราคาก็จะหันมาปลูกแข่ง เป็นเรื่องดีที่กระทรวงพาณิชย์ตื่นตัวและประชาสัมพันธ์ว่าอย่าปลูกข้าวเหนียวกันมากไป ราคาจะตก ต้องหามาตรการอุ้มเหมือนในอดีต ซึ่งราคาปกติข้าวเปลือกเหนียวควรอยู่ที่ 11,000-13,000 บาทต่อตัน
ส่วนกลุ่มพ่อค้า นายพิเชษฐ์ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปโรงสีข้าว บริษัท ธรรมธุรกิจ ข้าวเหนียวสันป่าตอง จำกัด กล่าวว่า สิ้นเดือนพฤษภาคม จะหมดฤดูกาลนาปรัง ข้าวเปลือกเหนียวจะเริ่มต้นเก็บเกี่ยวอีกครั้งเดือนตุลาคม ทำให้ช่วง 4 เดือนจากนี้จะไม่มีข้าวเปลือกเหนียวออกสู่ตลาด ชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเก็บในยุ้งฉางเท่านั้น เชื่อได้ว่าเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้ ราคาข้าวเหนียวจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่า ณ ปัจจุบันอีก แม้รัฐบาลจะระบายข้าวเก่าในคลัง แต่ตลาดบริโภคข้าวเหนียวจะไม่ยอมรับคุณภาพข้าวสารเหนียวเก่าเก็บนาน 3 ปีแม้ราคาถูกกว่า 10 บาทต่อ กก.ก็ตาม
"ครั้งนี้สาเหตุหลักทำให้ราคาข้าวเหนียวแพงคือฝนน้อยตั้งแต่นาปี 2558 ผลผลิตลดลงมาก แต่ความต้องการไม่ได้ลดลงมากเท่า จึงไม่สมดุล แต่ 4 เดือนแรกของผลผลิตราคาไม่เคลื่อนไหวมากนัก เพราะทุกคนเชื่อว่าจะมีข้าวเปลือกเหนียวนาปรังจากภาคเหนือและอีสานเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมแต่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ปรากฏพื้นที่เพาะปลูกลดลงอย่างมากในรอบ 10 ปีที่มีการทำข้าวนาปรัง เพราะไม่มีน้ำทำนา"
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า น่าเป็นห่วงตรงที่เกษตรกรเห็นราคาที่ดีของข้าวเหนียวแล้วจะหันไปปลูกกันมาก จนทำให้ปริมาณผลผลิตเกินความต้องการ ราคาอาจปรับลงอย่างรวดเร็ว เพราะราคาข้าวเหนียวไวต่อตลาดอย่างมาก เมื่อผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคราคาจะขึ้นเร็ว หากผลผลิตล้นราคาก็ลงหวบเช่นกัน ดังนั้นอาจต้องเตือนชาวนาให้คำนึงถึงความเสี่ยงข้อนี้ด้วย ระมัดระวังด้วย แม้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวจะปลูกได้ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า
- ชาวนาเชียร์จัดโซนนิ่งแก้ปัญหา
ในแง่ชาวนา นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย มองในเรื่องนี้ว่า "ราคาข้าวเหนียวที่ขึ้นมา เพราะไม่มีข้าวพอต่อความต้องการจะซื้อของโรงสี ชาวนาก็ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้เพราะไม่มีน้ำ ส่วนนาปีจะเริ่มปลูกพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีน้ำให้ทำนาหรือไม่ ต้องรอฝน แม้ราคาข้าวเหนียวจะดี แต่ใช่ว่าทุกคนจะปลูกได้เพราะต้องพึ่ง ดินและปริมาณน้ำ หากน้ำไม่มีก็ปลูกไม่ขึ้น ดังนั้น ควรจัดระบบพื้นที่ปลูกข้าว ควรทำแบบโซนนิ่ง โดยชาวนาต้องตั้งกลุ่มให้ได้ เพื่อหารือกันจะใช้เมล็ดพันธุ์ ใช้ปุ๋ยอย่างไร พอผลผลิตออกมาก็บริหารจัดการด้วยชาวนาเอง อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งนโยบาย"
ขณะที่นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าแผนบริหารจัดการข้าวครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาข้าว ว่า ได้กำหนดพื้นที่ปลูกและการใช้เมล็ดพันธุ์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรในฤดูกาลใหม่ ตามแผนของคณะกรรมการนโยบายและบริการจัดการข้าว (นบข.) มอบหมายทุกหน่วยงานปฏิรูปการทำงานระหว่างกระทรวง กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย โดยกำหนดผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังปี 2559/60 ไว้ที่ 27 ล้านตันข้าวเปลือก ที่สอดคล้องกับความต้องการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงชนิดพันธุ์ที่เหมาะสม เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวสี และข้าวอินทรีย์
ทั้งหมดสะท้อนได้ถึงสถานการณ์ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่ง ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะหากเผลอ อาจก่อปัญหาลุกลาม ร้องขอประกันราคาหรือเปิดรับจำนำอีกรอบ
ที่มา : มติชน วันที่ 23 พ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.