นายวรวุฒิ หิรัญไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชีย แปซิฟิกโปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด(มหาชน) นับเป็นเหมืองแร่โปแตซใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย เปิดเผยกับ ”ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี ที่ขณะนี้ก้าวหน้าไปกว่า 90% และหลังจากรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาโดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เหมืองแร่ มาตรา 88/7 แล้ว คาดว่าจะได้รับอนุญาตประทานบัตรราวกลางปีนี้ ซึ่งนับเป็นรายที่ 3 ของประเทศต่อจากโครงการที่จังหวัดชัยภูมิและที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา บมจ. อิตาเลียนไทย ได้ซื้อกิจการเหมืองแร่โปแตซต่อจาก บริษัทฯเดิมซึ่งเป็นชาวแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2549 ขณะที่ความขัดแย้งของคนพื้นที่กับโครงการเกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่ บมจ. อิตาเลียนไทย จะเข้ามาซื้อกิจการ
ปัญหาที่ผ่านมาอาจเป็นความเห็นต่างที่ได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนตรงกัน ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ทางบริษัทฯ ได้ทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ตลอด ล่าสุดการต่อต้านลดลงซึ่งเกิดจาก ความจริงใจต่อกิจกรรม นอกเหนือในสัญญาที่ระบุ เช่น การตั้งกองทุน 8 กองทุน เป็นเงิน 3.2 พันล้านบาท เช่นกองทุนค่าลอดใต้ถุนบ้าน กองทุนช่วยเหลือรายครัวเรือน กองทุนเฝ้ารอสุขภาพ กองทุนส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวความคิดเดียวกับกองทุนโรงไฟฟ้ารอบชุมชน
ที่สำคัญโครงการดังกล่าวยังสร้างแหล่งงานให้คนอุดรฯตามประชาสัมพันธ์ที่ว่า ”เหมืองชุมชนนำคนกลับบ้าน”ซึ่งล่าสุดมีคนสนใจกว่า100ราย และหากโครงการสามารถผลิตแร่โปแตซได้จะทำให้ GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) ของชาวจังหวัดอุดรธานี ที่อยู่ในอันดับ 4 ขณะนี้ จะขยับไปอยู่อันดับ 2 ได้อย่างแน่นอน
แม้ อิตาเลียนไทยจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการก่อสร้าง เหมืองแร่ถือเป็นเรื่องใหม่และยังไม่มีโนว์ฮาว ดังนั้นจึงคัดเลือกบริษัทก่อสร้างจากต่างประเทศทั่วโลกประมาณ 6-7 บริษัทมาร่วมดำเนินการ โดย อิตาเลียนไทยฯ จะเป็นตัวหลักในการก่อสร้าง นอกจากนี้การที่มีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการสำรวจหาแหล่งแร่โปแตซในพื้นที่ภาคอีสาน และมีกว่า 30 แห่งหลังยื่นขออนุญาตอยู่นั้น ตนเองไม่ได้ห่วงหรือถือว่าเป็นคู่แข่งในเชิงธุรกิจแต่อย่างใด
ทั้งนี้ข้อมูลเดิมเมื่อ ปี พ.ศ. 2536 บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เดิมชื่อบริษัท ไทยอกริโก โปแตซ จำกัด ได้มีการขออนุญาตจากรัฐบาลไทยในการขอสัมปทานสำรวจหาแหล่งแร่โปแตซในจังหวัดอุดรธานี จากกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ 2,333 ตร.กม. หลังทำการสำรวจเบื้องต้นแล้วลดพื้นที่ลงเหลือ 850 ตร.กม. สำหรับพื้นที่ของโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี พื้นที่ที่มีการขอสัมปทานบัตรจำนวน 26,446 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 ตำบล 2 อำเภอคือ อ.เมืองอุดรธานี ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ และ ต.หนองขอนกว้าง ส่วน อ.ประจักษ์ศิลปาคม คือ ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งโปแตซที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
การสำรวจเบื้องต้นนั้นพบว่าพื้นที่ของทั้ง 2 อำเภอดังกล่าวมีแหล่งโปแตซอยู่ประมาณ 1.3พัน ล้านตัน คือที่แหล่ง”สมบูรณ์” ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินการในเวลานี้ประมาณ 300 ล้านตัน และที่พื้นที่แหล่ง”อุดร” อีก 1พัน ล้านตัน ทั้งนี้โครงการจะมีระยะดำเนินการผลิตแร่โปแตซ เป็นเวลา 25 ปี และมีเป้าหมายการผลิต 2 ล้านตันต่อปี จำนวน 80 % ส่งขายตลาดโลก ทั้งในเอเซียและประเทศกลุ่มยุโรป
ด้านนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี สะท้อนว่า โครงการดังกล่าวต่อต้านมากว่า 10 ปี ส่วนอนาคต จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญคือการไม่ยอมรับจากกลุ่มต่อต้านในพื้นที่ ขณะที่ปัญหาใหม่ คือ แม้โครงการจะดำเนินการอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ก็มีอำนาจพิเศษที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่นการให้ประทานบัตรโครงการเหมืองแร่อาเซียน ที่จังหวัดชัยภูมิ ฯลฯ ส่วนโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี ก็กำลังถูกภาครัฐเร่งดำเนินการต่างๆให้ลุล่วงไปในที่สุดตามที่ตั้งเป้าไว้
มุมกลับกันหากมองแง่เศรษฐกิจโครงการดังกล่าวใช้เงินสูงถึง 3.5หมื่น- 4 หมื่นล้านบาท จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจเกิดขึ้น ประเด็นต่อมาคือเมื่อถึงขั้นตอนการผลิต จะเกิดการซื้อ-ขาย สินแร่โปแตซขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายของการลงทุนมีเป้าหมายว่า จะทำการผลิตแร่โปแตซได้ปีละ 2 ล้านตัน และ ประมาณ 1.3 ล้านตัน หรือประมาณ 80% จะทำการส่งออกไปขายให้ต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศมีความต้องการใช้เพียง 7 แสนตันเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้บริษัทเอกชนมีรายรับจากโครงการเป็นเงินจำนวนมากมายมหาศาล
Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.