ต้องเกาะติดแบบปล่อยไม่ได้ กับสถานการณ์น้ำแล้งในภาวะปัจจุบันที่ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉเพาะอย่างยิ่งเมื่อผ่านพ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และการนับถอยหลังงวดยิ่งเป็นไปอีก เพื่ออัพเดตข้อมูลล่าสุด ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง(บสส.) รุ่น 6 ของสถาบันอิศรา ได้จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ฝ่า…วิกฤตน้ำ” โดยมีตัวแทนหน่วยงาน 4 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องอีกรอบ “ฐานเศรษฐกิจ”ติดตามมารายงานเพื่อการเตรียมตัวรับมือโดยละเอียด
ปีนี้ไม่เลื่อนฤดูทำนา
โดยนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กล่าวยืนยันว่า หากบริหารจัดการอย่างที่ผ่านมา เชื่อว่าไม่มีปัญหา ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำเพียงพอจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งยังเชื่อมั่นว่า ปีนี้จะไม่มีการประกาศเลื่อนฤดูทำนาปีเหมือนกับปีที่ผ่านมาอีก เพราะกรมชลฯจะใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำท่า ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจำลองสถานการณ์ และจะสามารถชี้แจงรายละเอียดได้ภายหลัง
อย่างไรก็ดี สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานนั้น สถานการณ์น่าห่วง เพราะมีพื้นที่ที่เข้าใกล้วิกฤติเกินครึ่งของประเทศ รวมแล้วมากถึง 152 อำเภอใน 42 จังหวัด
อ่างน้ำทุกเขื่อนยังไม่วิกฤติ
ทั้งนี้แหล่งน้ำสำคัญของไทย ประกอบด้วย แหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 33 แห่ง แหล่งน้ำขนาดกลาง ซึ่งกักเก็บน้ำได้น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จำนวน 448 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดเล็กอีกกว่า 1 หมื่นแห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยพื้นที่ในเขตชลประทานมีปริมา ณน้ำคิดเป็น 22% ของแหล่งกักเก็บ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วกว่า 4 พันล้านลบ.ม. ขณะที่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระ ยา 4 เขื่อนหลักใน 22 จังหวัด กินพื้นที่ 9.5 ล้านไร่ มีปริมาณเพียง 12 % ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วกว่า 2 พันล้านลบ.ม. จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง
“สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรนั้นจะเน้นเกษตรกรที่ปลูกพืชต่อเนื่อง ส่วนการทำนาขอความร่วมมือ ไม่ใช่งด เพราะในบางพื้นที่มีแหล่งน้ำบาดาลอยู่ ซึ่งเกษตรกรสามารถที่จะประเมินตัวเองได้” นายทองเปลว กล่าว
ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ มองว่า อาจมีศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง เนื่องจากปัจจุบันใช้น้ำที่ระดับต่ำสุด ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงในการผลิตกระแสไฟฟ้าไป 8 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว แม้จะเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ถ้าน้ำลดต่ำลงเรื่อยๆ ไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่ม จะต้องลดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำลง อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตเมื่อปี 2536-2537 ส่วนเขื่อนภูมิพลนั้นใช้น้ำสำรอง แต่ยังไม่มีผลต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ยืนยันว่าทุกเขื่อนยังมีปริมาณสำรองที่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติแต่อย่างใด
ชาวนาชงทำแผนฉุกเฉินรายปีรับมือ
หันมาที่นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย และเลขานุการคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ตัวแทนจากภาคเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลประกาศภัยแล้งทุกปี แต่ชาวนาพื้นที่ในเขตชลประทานกลับพบปัญหามากที่สุด ขณะที่ชาวนานอกเขตชลประทานนั้นสามารถปรับตัวได้ เพราะทำนาครั้งเดียว
ส่วนนโยบายภาครัฐที่ช่วยเกษตรกรนั้นเห็นว่า รัฐบาลมีความตั้งใจดีแต่ยังขาดข้อมูลการวางแผน นโยบายดี ถูกใจเกษตรกร แต่ความต้องการระดับพื้นที่ไม่ตรงกับนโยบาย เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อยซึ่งเคยเสนอเมื่อต้นปี 2558 แล้วว่าต้องเตรียมการ แต่ไม่มีการดำเนินการ เมื่อถึงเวลามีภัยก็มีการสั่งการแบบกะทันหันจากส่วนกลาง และกำหนดวันเวลาให้แล้วเสร็จ ทำให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคต้องเร่งทำ เพราะกลัวความผิดจนทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนกับเจ้าหน้าที่น้อยมาก
ขณะเดียวกันข้อมูลก็กระจัดกระจาย ไม่ตรงกัน ไม่มีข้อมูลระดับพื้นที่ ทำให้การแก้ปัญหาผิดวัตถุประสงค์ เช่น โครงการหมู่บ้านละ 5 ล้านบาท ที่สั่งการและเร่งทำโดยไม่มีข้อมูล สุดท้ายก็ไปจบที่การขุดลอกคูคลอง การสร้างศาลา นั่นเป็นเพราะทุกอย่างยังรวมศูนย์ อำนาจตัดสินใจยังอยู่ที่ส่วนกลาง การเร่งดำเนินการทำให้เงินไม่ลงไปสู่พื้นที่ และไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ขอเสนอแนะว่า ให้ทำแผนประจำปีหรือแผนพัฒนาเกษตรกรตามความต้องการของเกษตรกร เมื่อเกิดเหตุเร่งด่วนก็ไม่จำเป็นต้องสอบถามเกษตรกรอีกสามารถที่จะทำได้ทันที
นิคมฯรอดแถมช่วยแจกชุมชน
ด้านนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้น้ำของนิคมอุตสาหกรรมนั้นอยู่ที่ประมาณ 7.5 แสนลบ.ม.ต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนคิดเป็น 0.00365 % เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า น้ำที่นิคมอุตสาหกรรมใช้นั้นมีปริมาณที่น้อยมาก และยืนยันว่า การใช้น้ำของนิคมอุตสาหกรรม ไม่กระทบต่อการปล่อยน้ำของกรมชลประทานอย่างแน่นอน โดย กนอ.เองมีความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 นี้อย่างเต็มที่ มี 3 มาตรการเตรียมรับมือแล้ว คือ
1.นำน้ำที่ผ่านการบำบัด หรือน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) 2.มาตรการการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง และ 3.มาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียง มาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะนิคมฯต่าง ๆ ในภาคเหนือและภาคกลาง ให้มีน้ำใช้ในภาคการผลิตอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้
“ท่านประธานบอร์ด กนอ. (พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร) ได้เห็นภาพรวมการบริหารจัดการน้ำทั้ง หมดแล้ว บอกว่าเฉพาะในส่วนของนิคมฯ เรารอดแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ชุมชนรอบนิคม ทั้งที่จังหวัดลำพูน พิจิตร และหนองแค จ.สระบุรี ซึ่ง กนอ.ก็ได้เตรียมการแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนด้วย” รองผู้ว่า กนอ.กล่าว
มองข้ามชอร์ตระวังชิงทำนาปี
ด้านรศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ยืนยันว่า การจัดการน้ำระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญ มาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยพึ่งเพียง 2 อย่าง คือ 1.การจัดการจากส่วนกลาง และ 2.พระสยามเทวาธิราช ซึ่งจะปล่อยแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีการแก้ปัญหาระยะยาวให้นิ่งให้ได้ และการจัดการน้ำในเขื่อนไม่ใช่เรื่องที่จะต้องจัดการเป็นรายปี สิ่งที่คนไม่เข้าใจโดยเฉพาะนักการเมือง คือ การบริหารน้ำในเขื่อนหากพร่องลงไปจะอันตรายมาก และต้องใช้เวลาสะสมให้น้ำเข้าสู่ปริมาณปกติ และการจัดการเป็นระบบรวมศูนย์จะอ่อนไหวต่อการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้
ทั้งนี้ สำหรับปีนี้การทำนาปรังจะลดลง เนื่องจากราคาข้าวลดลง และกรมชลฯไม่ปล่อยน้ำให้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่า ชาวนาลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างจะไม่ลดการทำนาปีลง เนื่องจากรู้ก่อนหน้าอยู่แล้วว่า น้ำจะแล้งจึงรีบปลูกข้าวเพราะมองว่าคนทำก่อนจะได้น้ำก่อน ดังนั้น รัฐจึงต้องรู้พฤติกรรมลักษณะนี้ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นเกมการเมืองและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ไปตลอด
“โดยส่วนตัวเชื่อว่าปริมาณน้ำปีนี้อาจจะไม่เพียงพอ จะต้องมีคนทำนาปี เพราะถือเป็นหัวใจของเกษตรกรโดยเฉพาะภาคกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมในช่วงปลายฝนที่ต้องเร่งทำนาก่อน ดังนั้น หากมีปริมาณน้ำฝนเท่าเดิมแต่มีการเริ่มทำนาปีก็อาจจะกระทบได้”
เสนอตั้งองค์กรน้ำถาวร
ที่ผ่านมาการจัดการน้ำของไทยเป็นแบบรวมศูนย์ แต่กระจายในหลายกระทรวงและปล่อยให้มีการใช้น้ำฟรี นิคมอุตสาหกรรม เกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำฟรี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเป็นเงินค่าน้ำเพียง 16 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือมาจัดการในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นภาวะน้ำท่วม น้ำแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบ่อย อาจจะมีปัญหาตามมาได้
นอกจากนี้ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาจะมีตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เมื่อผ่านวิกฤติก็ไม่มีการสั่งสมองค์ความรู้ เสนอแนะว่าต้องมีคณะกรรมการถาวร สามารถสั่งงานข้ามกระทรวง มีอำนาจตัดสินใจ มีหน่วยงานมารองรับหากไม่มีวิกฤติก็ต้องทำหน้าที่วางแผนรับมือเมื่อเกิดวิกฤติได้ พร้อมที่จะเผชิญเหตุได้ทันท่วงที
Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 – 16 เมษายน พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 20 เม.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.