ตีกลับร่างภาษีที่ดินฯ "อภิศักดิ์" แจงต้องเสนอ ครม. พร้อมกฎหมายลูก ระบุหลักการไม่เก็บที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านหลังแรกที่ราคาไม่แพง หวังดึงรายได้เข้ารัฐเพิ่ม 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 เมษายน 2559 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กระทรวงการคลังเสนอไปได้ราว 1 เดือนแล้ว กลับมาให้ปรับปรุงใหม่ โดยให้จัดทำกฎหมายลูกประกอบไปด้วย
"ตามปกติเราจะทำกฎหมายหลัก พอเข้า ครม. เห็นชอบแล้ว หลักการเป็นอย่างไร ก็จะมาแก้ไข แล้วก็ค่อยออกกฎหมายลูก แต่คราวนี้ให้ทำกฎหมายลูกประกอบไปด้วยซึ่งก็คงไม่ช้า เพราะเราก็ร่างไว้เกือบหมดแล้ว เพราะก่อนเสนอผมก็สั่งให้เขาทำไว้แล้ว พวกระเบียบในการประเมินไม่ให้ใช้ดุลยพินิจ แต่ก็ไม่รู้ว่ามีอย่างอื่นอีกหรือ เปล่า ทั้งนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่า ถ้าไม่เสนอพร้อมกัน กฎหมายลูกจะถูกดองไว้ กฎหมายก็ไม่ได้ใช้งานเสียที จึงบอกให้ร่างไว้เลย ผ่านปุ๊บจะได้ใช้เลย" นายอภิศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ตามหลักการที่เสนอไปเรื่องภาษีที่ดินฯ ก็คือ บ้านที่เป็นที่อยู่อาศัยอยู่ในวิสัยที่ไม่ควรเก็บภาษีเพิ่มเติมแล้ว อย่างบางประเทศก็มองว่า เป็นปัจจัย 4 หรือบางประเทศให้นำไปหักภาษีได้ด้วยซ้ำสำหรับบ้านหลังแรก
"พอเราดู ถ้าจะไม่เก็บบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัยทั้งหมดเลย ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะบางคนมีหลายหลังก็ไม่ใช่อยู่อาศัย อาจจะมีไว้ให้เช่า หรือพักผ่อน พวกนั้นก็ต้องเสีย เราเลยกำหนดเป็นบ้านหลังแรก แต่ก็มีคนทักว่าบ้านหลังแรกบางคนแพงมาก เราก็เลยกำหนดวงเงินขึ้นมาวงหนึ่ง ว่าถ้าเกินจำนวนนั้น ก็ให้เสียด้วย แต่ไม่เสียอัตราสูงนัก" นายอภิศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้จะกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ร่างกฎหมายที่กระทรวงการคลังเสนอก็จะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่สูญเสียรายได้ 3.2 หมื่นล้านบาท จากการปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 เม.ย. 2559