ล่าสุด รัฐบาล "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กำลังปัดฝุ่นการแก้ปัญหา "หนี้นอกระบบ" ขึ้นมาอีกครั้ง โดยในการประชุมร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง (ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมี "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมดังกล่าว
"สมคิด" ตอกย้ำว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางกระทรวงการคลังกำลังร่วมกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จัดทำเป็นนโยบายพิเศษ และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดูแลไม่ให้มีการ "ขูดรีด" (ดอกเบี้ย) จากประชาชนมากเกินไป และสุดท้ายจะต้องนำไปสู่จุดที่เจ้าหนี้นอกระบบต้อง"เปลี่ยนพฤติกรรม" เลิกคิด "ดอกเบี้ยแพง ๆ" เหมือนที่ผ่านมา
"การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้าเจ้าหนี้เดิมอยากจะปล่อยกู้อยู่ จะให้เข้ามาอยู่ในระบบ รัฐบาลจะออกนโยบายพิเศษ คุมไม่ให้มีการปล่อยดอกเบี้ยสูง ซึ่งไม่เรียกว่านาโนไฟแนนซ์ เพราะแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ไม่อยากให้สับสน แต่คนที่เป็นเจ้าหนี้เดิม ก็จะให้ปล่อยกู้ต่อได้ เพียงแต่ต้องอยู่ในกรอบดอกเบี้ยที่ไม่เกินระดับหนึ่ง ส่วนลูกหนี้ถ้าไม่ต้องการใช้บริการจากเจ้าหนี้เดิม ก็สามารถ Converse (เปลี่ยน) ไปใช้บริการออมสิน หรือ ธ.ก.ส.ได้" นี่คือแนวคิดที่สื่อออกมาของรองนายกฯ
ขณะที่ธนาคารออมสินก็จะเปิดหน่วยธุรกิจ (BU) ใหม่ เพื่อรองรับการกู้เงินฉุกเฉินเร่งด่วนของประชาชนระดับฐานราก เช่น ช่วงเปิดเทอมที่เงินขาดมือ เป็นต้น ซึ่งได้มอบนโยบายว่า ต่อไปนี้ต้องเป็นธนาคารเพื่อประชาชนฐานรากจริง ๆ เน้นลงไปที่รายย่อยให้มากขึ้น
"วงเงินปล่อยกู้ที่อยากเห็นจริง ๆ ของแบงก์ออมสินคือ ไม่ใช่แบงก์ที่ปล่อยวงเงินสูง ๆ 40-50 ล้านบาท เราต้องการเห็นรายย่อยมากขึ้น" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน "ชาติชาย พยุหนาวีชัย" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ก็เห็นว่า การแก้ไขหนี้นอกระบบในภาพรวมที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะถึงแม้จะมีการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ขึ้นมา เพื่อมุ่งหวังจะช่วยลดหนี้นอกระบบก็ตาม แต่ก็จะเห็นได้ว่า ความสามารถในการเข้าไปปล่อยกู้ของผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ก็ยังทำได้ค่อนข้างยาก
"ทั้งทุนจดทะเบียนที่น้อยแค่ 50 ล้านบาท ทำให้ความสามารถปล่อยกู้ไม่เต็มศักยภาพ อีกทั้งก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้กู้มากนัก เนื่องจากติดปัญหาด้านกระบวนการปล่อยกู้ และความสามารถในการปล่อยกู้ที่ทำได้น้อย ทำให้ในปี 2558 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ปล่อยกู้ได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท"
ส่วนที่รัฐบาลกำลังจะมีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอีกครั้ง คงต้องรอนโยบายจากกระทรวงการคลังที่จะให้ออมสินเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งการกำหนดรูปแบบและแนวทางต่าง ๆ ซึ่งในเบื้องต้นออมสินจัดตั้ง "ทีมพิเศษ" ที่เป็นฝ่ายงานใหม่ ทำเกี่ยวกับหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ และดูแลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนฐานราก ที่มีหนี้นอกระบบอยู่จำนวนมาก
พร้อมกันนี้ออมสินจะมีการทบทวนการปล่อยสินเชื่อธนาคารประชาชน โดยพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงขั้นตอนการขอสินเชื่อใหม่ จากปัจจุบันที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.75% ต่อเดือน (หรือ 18% ต่อปี) และจะปรับปรุงให้เอื้อต่อการขอสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้กลุ่มลูกหนี้นอกระบบเข้ามาขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
"ปัจจุบันกลุ่มหนี้นอกระบบยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว เพราะติดเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ยังหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูงถึง 10-20% ต่อเดือนอยู่ เพราะทุกวันนี้กลุ่มฐานรากเข้ามาขอสินเชื่อของธนาคารไม่ได้ ส่วนหนึ่งคือ เขาไม่เดินมาหาเรา แต่เดินไปหาหนี้นอกระบบดีกว่า ดังนั้น ก็ต้องทำให้ลูกหนี้อยากเดินมาหาเรา ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ เอื้อ เราก็จะสามารถแก้หนี้นอกระบบได้อีกจุดหนึ่ง" ชาติชายกล่าว
การเดินหน้าครั้งนี้ของนายกฯ จะแก้ปัญหาได้จริงจังแค่ไหน แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จะมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตาม "มาตรา 44" เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถเข้ามาอยู่ในระบบได้ เหมือนกับ "นาโนไฟแนนซ์" เพียงแต่เป็น "นาโนไฟแนนซ์ภาคบุคคล" ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมได้ไม่เกิน 36% ก็จะเหมือนกับนาโนไฟแนนซ์ และหากคิดดอกเบี้ยเกินกำหนดจะมีลงโทษที่รุนแรง
ที่ผ่านมา หลาย ๆ รัฐบาลก็เคยพยายามที่จะแก้ปัญหาการกู้หนี้นอกระบบ ด้วยการสร้างกลไกผ่านช่องทางธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ให้เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้นอกระบบ และใช้กลไกทางปกครองในการเจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบให้มีการ "ลดต้นลดดอก" ให้ลูกหนี้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เรื้อรังอยู่คู่สังคมไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ
จากนี้คงต้องดูว่า หากจะมีการใช้มาตรา 44 จริง จะพิสูจน์อำนาจนี้แข็งแกร่งทลายระบบ "กู้นอกระบบ" ได้มากน้อยเพียงใด
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 เม.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.