เอกชนคึกคัก 12 คณะทำงานเทพลังขับเคลื่อนประชารัฐ คัดแผนงานเด่นเสนอนายกฯ18 เม.ย.นี้ “ฐาปน” ชูโมเดลตั้งบริษัทเพื่อสังคมนำร่อง 5 จังหวัดชุมชนต้นแบบเป็นกองหน้าทะ ลวงตลาดสินค้าชุมชน ด้านธุรกิจท่องเที่ยวดัน “อยุธยา” ตามแนว“เกียวโต” เพิ่มจุดขายใหม่ “สนั่น” ชง 3 กลยุทธ์ดันส่งออกไทยเป็นบวก ปิ๊งไอเดียตั้ง“กรอ.ต่างประเทศ” ใช้ไทยทาวน์เป็นหัวหอกเจาะตลาด
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์ สานพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยผนึกพลังภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างสรรค์สังคมร่วมกัน และมีคำสั่งตั้งคณะทำงานประชารัฐ 12 คณะเมื่อปลายปีก่อน โดยตั้งผู้บริหารกิจการรายใหญ่มีหัวหน้าทีมภาคเอกชน ทำงานร่วมกับหัวหน้าทีมภาครัฐที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และได้ผลักดันแผนงานต่าง ๆ เป็นลำดับ และในวันที่ 18 เมษายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.จะมาเป็นประธานการประชุม ติดตามความคืบหน้างานแต่ละชุด ซึ่งต่างเร่งสรุปเสนอแผนงานเด่นของแต่ละชุดมารายงานอย่างคึกคัก
ดัน8 เรื่องหลักนำร่อง
แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในวันที่ 18 เมษายน 2559 นี้ คณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน หรือคณะทำงานประชารัฐ 12 คณะ จะประชุมร่วมโดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้านับแต่มีคำสั่งตั้งเมื่อธันวาคม 2558 โดยคณะทำงานแต่ละคณะจะรายงานความคืบหน้าแผนงานหลัก ๆ ที่โดดเด่นและมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมในคณะทำงาน อาทิ
ข้อเสนอแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น((Manmade Tourism) เริ่มที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เหมือนเมืองเกียวโตของญี่ปุ่น ฃ การจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีในพื้นที่ต่าง ๆ เริ่มแล้วที่ภูเก็ต และจะขยายในจังหวัดนำร่อง เพื่อช่วยเป็นช่องทางการตลาดให้สินค้าชุมชน หรือการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและกลไกภาครัฐ เพื่อปลดล็อคกฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย. หรือที่เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือEIA เหมือนที่หลายประเทศเคยปฏิรูประบบกฎหมายจนพัฒนาขึ้นมาได้ เพราะการมีกฎหมายมาก ซ้ำซ้อน เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือการผลักดัน 10 กิจกรรมเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน
“การนำเสนอใน 7-8 เรื่องหลักนี้ก่อน เพื่อหวังให้เห็นการผลักดันที่เป็นรูปธรรม และเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่จะสร้างแรงผลักดันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในการประชุมร่วมกันในครั้งนี้ก็เป็นโอกาสที่จะ นำเสนอความคืบหน้าในการทำงานของแต่ละคณะทำงานฯส่วนโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากเห็นความจำเป็นที่ต้องได้รับงบประมาณในการสนับสนุนการทำงาน ก็ต้องมีการหารือ ซึ่งบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน บางเรื่องเอกชนก็อาจสนับสนุนงบในการดำเนินการได้ หรือจะเป็นการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย
SEหัวหอกการตลาดสินค้าชุมชน
ด้านนายฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานประชารัฐด้านเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กล่าวว่า ทางกลุ่มจะนำเสนอการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีอุดรธานี จำกัด เป็นโมเดลการเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก โดยเฟสแรกตั้งเป้าจะดำเนินการ 5 จังหวัดได้แก่ ภูเก็ต อุดรธานี เพชรบุรี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์
บริษัทที่จัดตั้งขึ้นไม่มุ่งหวังด้านผลกำไร แต่จะทำหน้าที่ดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นองค์กรที่มีอิสระในการบริหารจัดการ เพราะจัดตั้งเป็นนิติบุคคล มีงบประมาณจากภาคเอกชนให้การสนับสนุน โดยบริษัทจะทำหน้าที่หาตลาด กระจายสินค้า รวมไปถึงทำให้เกิดการขาย และมีกำไรเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งเอกชนจะไม่รับเงินปันผลกลับมา แต่จะให้เงินดังกล่าวไปต่อยอดช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการอื่นๆ ต่อไป เช่น เกษตรกรผู้เพาะปลูกสัปปะรด เมื่อมารวมกันก็จะมีทั้งการจำหน่ายผลิตผล การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า เป็นต้น
ที่เลือก 5 จังหวัดต้นแบบใน 4 ภาคนี้ เพราะเป็นจังหวัดมีความพร้อม มีผลผลิตทางการเกษตรที่โดดเด่นเฉพาะตัว มีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว มีรากฐานการผลิตใหญ่ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง เช่น การพัฒนาธุรกิจผักปลอดสารพิษ ธุรกิจนมแพะ ธุรกิจกุ้งมังกร และพัฒนาธุรกิจผ้าบาติก เป็นต้น
“ด้วยเป้าหมายของภาครัฐบาลที่ต้องการสร้างรายได้ให้ชุมชน และมีความสุขอย่างยั่งยืน การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน จึงต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางใน 3 เรื่อง คือ การเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน โดยเบื้องต้นเป็นการช่วยให้ชุมชนเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุน เมล็ดพันธุ์ พัฒนาการบริหารจัดการ ช่วยส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ในชุมชน พร้อมทั้งช่วยหาช่องทางการตลาดและส่งเสริมให้มีการรับรู้ส่งข้อมูลข่าวสารสำคัญต่อเนื่อง” นายฐาปน กล่าวและว่า
การจัดตั้ง Area Based Social Enterprise เพื่อบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล สร้างประโยชน์กลับสู่ชุมชนใน 76 จังหวัด จัดเป็น 18 กลุ่มจังหวัด โดยจะมีบริษัทโฮลดิ้งเป็นตัวกลาง มีเป้าหมายเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด เป็นรูปแบบธุรกิจที่รับรายได้หลักมาจากการขายสินค้าและบริการ ซึ่งกำไรต้องนำไปขยายผล ไม่ใช่เพื่อปันผลเพื่อประโยชน์คนใดคนหนึ่ง และการจดทะเบียนรูปแบบบริษัทให้ถูกต้อง
ส่วน การดำเนินงานในระยะที่ 2 ประกอบไปด้วย 13 จังหวัด ได้แก่ น่าน , อุบลราชธานี ,ชุมพร ,พิษณุโลก ,ร้อยเอ็ด ,สระแก้ว ,สงขลา ,สกลนคร , กาญจนบุรี ,ตราด ,อุทัยธานี ,สระบุรี และชัยนาท โดยเฟส 2 นี้เป็นพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่ต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการ 12-18 เดือน โดยการพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกษตรอินทรีย์ , กาแฟ , ผักออแกนิกส์ และท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น
ปั้นอยุธยาตามแนว”เกียวโต”
ส่วนแผนงานของคณะทำงานด้านการสร้างรายได้และกระตุ้นการ ใช้จ่ายของประเทศ ซึ่งมีนายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CRC) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน ท จะเสนอแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Manmade Tourism) เริ่มที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั้น เนื่องจากมีเอกลักษณ์ของความเป็นมรดกโลก มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เหมือนกับเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยจะเน้นปรับปรุงทัศนียภาพ การเข้าถึง การจัดแสงสี รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างกิมมิกในการท่องเที่ยว อาทิ ปั่นจักรยานในเส้นทางเมืองเก่า ซึ่งจะเป็นการพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ
ขณะที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. กล่าวว่า นอกจากนี้แล้วคณะทำงานฯ จะเสนอประเด็นเรื่องของไทยฟู้ดแอนด์ ฟรุ๊ต ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ประเด็น Quick win ด้านการท่องเที่ยว มานำเสนอก่อน เพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรมในช่วง 6 เดือนนี้ ที่จะผลักดันให้เป็นรูปธรรม โดยจะโปรโมทอาหารไทย 6 อย่างและผลไม้ไทยตามฤดูกาล เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ในทุกจุด นับตั้งแต่ตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทย ได้แก่ ส้มตำ มัสมั่น แกงเขียวหวาน ต้มข่า ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสนามบิน บนเครื่องบิน โรงแรม สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อโปรโมทและสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอาหารและผลไม้ไทย 6 ชนิดนี้
ด้านนายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) และหนึ่งในคณะทำงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ กล่าวว่า ในแผน 10 Quick Win ด้านการท่องเที่ยว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม ได้นำเสนอ 2 เรื่อง คือ 1.ขอให้รัฐบาลออกมาตรการจูงใจด้านภาษี เพื่อส่งเสริมให้โรงแรมที่ดำเนินการปรับปรุงโรงแรม (รีโนเวท) สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่อทำให้เกิดการจ้างแรงงานและสนับสนุนให้เกิดการลงทุน และการปรับปรุงกม.ต่าง ๆ เพื่อให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกม.
ชูไทยเป็น”ไบโอฮับ”
ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสา หกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และมีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)หรือพีทีทีจีซี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชนนั้น มีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพหรือไบโอเบส อินดัสตรี้ โดยนายประเสริฐจะเสนอเรื่องการขับเคลื่อนให้เกิดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกไบโอชีวภาพในไทย (ไบโอพลาสติก) เพราะไทยมีศักยภาพแหล่งวัตถุดิงทางการเกษตร ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ทั้งยังมีฐานผลิตปิโตรเคมี เน้นต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่า รวมถึงการสร้างการท่องเที่ยวระดับไฮน์ แวลู อาทิเช่น ยกระดับเมดิคัล ฮับ เป็นต้น
รวมทั้งจะรายงานข้อเสนอของภาคเอกชน ที่จะให้รัฐบาลช่วยเร่งขับเคลื่อนการลงทุนให้เป็นรูปธรรม ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นลำดับแรกก่อน เนื่องจากมีกลุ่มผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีอุปสรรคที่จะต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง กฎระเบียบเรื่องสิ่งแวดล้อมในการปล่อยมลพิษ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค เช่น ท่าเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการบริการจัดการน้ำดิบเพื่ออุตสาหกรรม ที่จะใช้ในอนาคตไม่เพียงพอ
-เสนอตอ.เป็นเขตพัฒนาศก.พิเศษ
นอกจากนี้ สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนเห็นตรงกัน จะเสนอให้รัฐบาลเร่งตั้งสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกขึ้นมา เพื่อมากำกับดูแลแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว พร้อมทั้งให้มีการขยายขอบเขตประเภทกิจการ ของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะได้รับการส่งเสริมให้มากขึ้นภายใต้ 6 นิยาม ตามที่ภาคเอกชนเสนอ
อีกทั้ง หากจะให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นในประเทศ ภาคเอกชนเห็นว่า ภาครัฐจะต้องให้การส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของเอกชนด้วยมาตรการทางภาษี ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพนำไปหักลด ค่าใช้จ่ายได้ 200-300 % ในการคำนวณภาษีนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5 ปี อีกทั้ง ให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมสูงกว่าทั่วไปไม่เกิน 20 % เมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไป เป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น
เร่ง3กลยุทธดันส่งออกโตบวก
ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน ในคณะทำงานประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ 18 เมษายนนี้ ทางคณะเตรียมเสนอในหลายเรื่อง ที่สำคัญคือจะเสนอเรื่องการผลักดันการส่งออกของไทยปี 2559 ให้ขยายตัวอย่างน้อย 2% จากเป้าหมายตั้งไว้ที่เติบโต 5%
ทั้ง นี้เพื่อผลักดันสู่เป้าหมาย ได้แบ่งตลาดส่งออกออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ตลาดหลัก(Mature Market) ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป(อียู) และญี่ปุ่น ซึ่งตลาดเหล่านี้คาดจะขยายตัวได้ไม่มากเพราะค่อนข้างอิ่มตัว แต่จะติดตามอย่างใกล้ชิด โดยผลักดันการส่งออกสินค้าที่ยังมีโอกาสขยายตัว กลุ่มที่ 2 ตลาดที่มาแรงและมีโอกาสขับเคลื่อนให้ ขยายตัวได้อีกมาก (Dynamic Market) เช่น CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 9% ของการส่งออกไทยในภาพรวม โดยการผลักดันการเพิ่มการค้าชายแดน รวมถึงร่วมมือของภาครัฐในการช่วยลดอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ โดยในปีนี้การส่งออกของไทยไปยังตลาด CLMV น่าจะขยายตัวได้ที่ 21% ซึ่งจะสามารถใช้ CLMV เป็นต้นแบบในการผลักดันการส่งออกของไทยไปยังตลาดจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นอีก 2 ตลาดใหญ่ได้
กลุ่ม ที่ 3 ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่น แอฟริกา ลาตินอเมริกา เอเชียใต้ รัสเซีย อิหร่าน ซึ่งลูกค้ายังมีขนาดเล็ก อาจตั้งบริษัทไทย หรือบริษัทในประเทศนั้นเป็นเทรดเดอร์ ช่วยทำตลาดโดยไม่ต้องผ่านสิงคโปร์
ชงตั้ง กรอ.ในต่างประเทศ
ขณะที่ในส่วนของการขยายการค้าและการลงทุน จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ในประเทศที่มีคนไทยไปลงทุน โดยให้ทูตไทยที่ประจำอยู่ในประเทศนั้น ๆ เป็นหัวหน้าทีม และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยที่ประจำการอยู่ในประเทศนั้น เช่นบีโอไอ ทูตพาณิชย์ หรือตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารของบริษัทเอกชนไทยที่มีการลงทุนในประเทศดังกล่าวร่วมเป็นคณะทำงาน มีเป้าหมายเพื่อช่วยกันวางแผน และคิดวิเคราะห์ในการวางยุทธศาสตร์ขยายการค้า การลงทุนในประเทศนั้น
“ยกตัวอย่างในเวียดนาม มีบริษัทห้างร้านของไทยเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานหรือขยายกิจการกว่า 400 ราย ซึ่งเวลามีปัญหาก็จะกระทบไปหมด เช่นล่าสุดเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยถูกสื่อเวียดนามโจมตีว่าไปฮุบธุรกิจค้าปลีก ซึ่งหากเรามีคณะ กรอ.นี้ก็จะสามารถเจรจาหรือชี้แจง เพื่อทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของเวียดนามในเบื้องต้นได้ ซึ่งจะมีความคล่องตัวมากกว่ารัฐบาล และ กรอ.ยังสามารถชี้ช่อง หรือช่วยขยายการค้า การลงทุนของบริษัทเอสเอ็มอีไทยได้ในลักษณะพี่ช่วยน้อง”
นอกจากนี้จะเสนอตั้ง Thai Town ในแต่ละประเทศ โดยอาจตั้งในลักษณะร่วมกับคนในท้องถิ่น เช่น Viet-Thai Town เพื่อขยายธุรกิจไทย เช่น การเปิดร้านอาหาร ร้านขายอัญมณีและเครื่องประดับไทย ร้านสปา คลีนิกรักษาสัตว์ โรงเรียนสอนภาษาไทย หรือภาษาเวียดนามเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และส่งเสริมการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่ายได้มากขึ้นในอนาคต
อนึ่ง คณะทำงานขับเคลื่อนประชารัฐทั้ง 12 ด้าน แบ่งเป็นกลุ่มตัวขับเคลื่อน 7 ด้าน ได้แก่ การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น การส่งเสริมการท่องเที่ยว และMICE การส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต( New S-Curve) การเกษตรสมัยใหม่ และด้านการสร้างรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ
อีกกลุ่มเป็นปัจจัยสนับสนุนมี 5 ด้าน ได้แก่ การดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การยกระดับคุณภาพวิชาชีพ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ และการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ
(อ่านประกอบ “มท.ชงฯ”หน้า 12)
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 – 20 เมษายน พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 19 เม.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.