“หนี้สิน” เป็นประเด็นปัญหาของเกษตรกรที่ถูกกล่าวถึงเป็นอันดับต้นๆ หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะนำไปสู่ความแตกแยกล่มสลายของชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดิน กลายเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง ทั้งที่เกษตรกรรมถือเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของไทยมาแต่ครั้งอดีต
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิจำเนียร สาระนาด และผู้จัดการโครงการโมเดลนาข้าวสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ย่อมเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน ในเมื่อเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยล้วนใช้บริการ ธ.ก.ส. มิใช่ในฐานะลูกค้าเงินฝาก แต่เป็น “ลูกหนี้”ในมุมมองของอดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส.หนึ่งในประเด็นปัญหาใหญ่ คือการขาด “ความรู้เรื่องทางการเงิน” (Financial literacy) ของเกษตรกรไทย
นั่นคือการที่ชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีการบันทึกรายรับรายจ่าย ขณะที่การเพาะปลูกร่วมสมัย ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนที่เป็นตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงค่าจ้างแรงงาน วันใดที่ไร่นาไม่ให้ผลผลิตดังที่คาดหวัง เงินที่กู้ยืมมาลงทุนก็กลายสภาพเป็นหนี้สิน
นอกจากนี้ ยังมีรายจ่ายในชีวิตประจำวันอื่น ที่หากไม่มีการวางแผนและคิดคำนวณอย่างรอบคอบ ก็จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายไม่สมดุลกับรายรับสิ่งที่จะเป็นกุญแจเพื่อไขสู่ทางออกของเรื่องนี้ ในมุมมองของผู้บริหารธนาคารเพื่อเกษตรกรก็คือ การทำ “บัญชีครัวเรือน”
“บัญชีครัวเรือนไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นเครื่องมือ เหมือนเป็นใบตรวจโรค ที่จะช่วยให้วินิจฉัยความเจ็บป่วยเพื่อจะหาทางเยียวยารักษา เพื่อให้เกษตรกรรอบรู้เท่าทันและจัดการได้ ”
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส.เล่าถึงประสบการณ์การทำงาน ที่เคยกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรที่จะมากู้ยืมเงินกับ ธ.ก.ส.ต้องทำบัญชีครัวเรือนอย่างง่าย ๆ ได้แก่ การบันทึกรายรับและรายจ่ายเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของแต่ละครอบครัว แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก
“คนไทยเราไม่ชอบจดบันทึก หรือบางครั้งมีปัญหาว่าจดไปทุกวัน รู้สึกว่าทำไมมีแต่รายจ่าย เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้ก็เฉพาะช่วงที่ขายผลผลิต ก็เลยจดบ้างไม่จดบ้าง จดไปก็ไม่ได้อะไร บางครั้งชาวบ้านก็เขียนไม่เก่ง เราต้องใช้วิธีไปขอความร่วมมือกับทางโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมาช่วยกันจดรายรับรายจ่ายของครอบครัว พ่อแม่บอกให้ลูกจดเพื่อให้ลูกได้คะแนน”
วิธีการสำคัญคือต้องมีการวางเงื่อนไขให้มีการบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำทุกวัน และมีการนำมาวิเคราะห์เป็นระยะ เช่น ทุก 3-4 เดือน เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และมีบางชุมชน ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความร่วมมือ โดยส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีการทำบัญชีครัวเรือน เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกันก็จะทำให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้จ่ายของชุมชนได้อย่างชัดเจน
“พอถึงสิ้นเดือนไปเก็บสมุดบัญชีของทุกบ้าน นำมาประมวลผลข้อมูล แล้วชวนคนในชุมชนมาวิเคราะห์ตัวเลข ด้วยกัน เห็นเลยว่า ค่าใช้จ่ายของทั้งตำบล เป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นสูงมาก ค่าเหล้า ค่าหวย ค่ามือถือ รวมๆ แล้วสูงกว่าค่าอาหารหรือค่าเล่าเรียนของลูกเสียอีก”
อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส.ยกตัวอย่างเพื่อขยายความการเปรียบเทียบบัญชีครัวเรือนว่าเป็นเสมือน “ใบตรวจโรค” ที่จะทำให้แต่ละครอบครัวเห็นถึงสถานะทางการเงินของตน และนำไปสู่การวางแผนใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
“ความยากจนที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จัดการได้ ที่มีการพูดว่าระบบตลาดไม่เป็นธรรม เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นจริงส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเกษตรกรรู้ต้นทุน รู้จักเปรียบเทียบมูลค่าราคา ก็จะไม่ถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบได้ ง่าย ชาวบ้านที่เก่งๆ เวลาเอาผลผลิตไปขาย จะมีการทดสอบตาชั่ง มีการเทียบราคา ถ้าพ่อค้าเจ้านี้รับซื้อถูก ก็ไปขายเจ้าอื่น หรือก่อนจะลงทุนปลูกอะไรจะมีการหาข้อมูลและประเมินความคุ้มค่ารวมทั้งความเสี่ยงก่อนจะลงมือทำ”
ธ.ก.ส.ในยุคนั้น ยังมีการดำเนินงานเพื่อให้เกษตรกรเริ่มต้นการออม มีการจูงใจด้วยการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ที่มีรางวัลชิงโชคเพื่อทดแทนการเล่นหวยของชาวบ้าน เนื่องจากตระหนักถึงความนิยมในการเสี่ยงโชคของประชาชน โดยเชิญชวนให้ซื้อสลากออมทรัพย์เพื่อสร้างความหวัง พร้อมไปกับการออมเงิน
“เราไม่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิต และความเชื่อของคนในชุมชนได้ แต่เราต้องเอาสิ่งอื่นมาทดแทนและให้เขาเห็นว่าได้รับประโยชน์จริง”
เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 15 ปี พบว่าเงินออมจากสลากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นมากถึง 100,000 ล้านบาท เนื่องจาก เกษตรกรจำนวนมาก ไม่ได้มีการถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกไป เพราะถือเป็นเงินเก็บก้อนแรกในชีวิตสำหรับหลายคน และเป็นกำลังใจเพื่อจะเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็นต่อไปหนุนเกษตรกร-ชุมชนเข้มแข็ง
หัวใจของการประกอบอาชีพเกษตรกรนั้น อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส.เน้นย้ำถึงหลักการสำคัญของ “เกษตรทฤษฎีใหม่” อันเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบาก ได้แก่ การพึ่งตนเองใน 3 ระดับ ได้แก่ระดับครัวเรือน เกษตรกรต้องเข้าใจหลักการและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ในที่ดินของตนเองจนได้ผล สามารถพึ่งพาตนเองได้ ระดับชุมชน โดยการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชน จนเกิดความเข้มแข็ง เมื่อผ่านทั้งสองขั้นตอนนี้แล้ว จึงจะติดต่อประสานงานกับภายนอกโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และนำไปสู่การพัฒนา ระดับประเทศ อย่างยั่งยืนได้
อย่างไรก็ตาม อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยอมรับว่า นโยบายทางการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังเป็นการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาแบบรวดเร็ว ทำให้เห็นผลในระยะสั้น ยังขาดกระบวนการและความเข้าใจถึงวิธีคิด ลักษณะความเป็นอยู่ของเกษตรกร และขาดการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โครงการโมเดลนาข้าวของสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นโครงการนำร่องในที่ดินซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนครปฐม โดยมีเกษตรกรอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อสร้างต้นแบบของชุมชนเกษตรกรในการพึ่งตนเองบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“เป็นการทดลองเพื่อให้เกษตรกรได้ลงมือทำจริงด้วยตนเอง ในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ รวมถึงให้ชาวบ้านได้มีวิธีคิดในการจัดการและพึ่งพาตนเองได้ โดยมีหน่วยงานวิชาการสนับสนุนองค์ความรู้ ซึ่งจะต้องมาดูว่า อะไรบ้างเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ปุ๋ยเคมีถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก แต่ถ้าเกษตรกรรู้วิธีที่จะบำรุงดิน รวมทั้งเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหันมาใช้วิธีธรรมชาติก็ช่วยให้ลดต้นทุนลงได้”
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้จัดการโครงการโมเดลนาข้าวของสำนักงานทรัพย์สินฯ เน้นย้ำ คือการที่เกษตรกรอาสาสมัครร่วมโครงการต้องมีการทำบัญชีครัวเรือนควบคู่กันไป เพื่อจะสามารถวางแผนและบริหารจัดการด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม อันจะนำไปสู่การปลดเปลื้องหนี้สิน และเพิ่มพูนรายได้ เพื่อให้ครัวเรือนและทั้งชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในท้ายที่สุด