จากเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึง ณ ปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลง และได้ส่งผลกระทบกับประเทศไทย ในฐานะ 1 ในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร และเกษตรอุตสาหกรรมรายสำคัญของโลก ทั้งราคาสินค้าตกต่ำ เกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ที่ลดลง และเป็นหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ซ้ำร้ายเวลานี้เกษตรกรยังต้องเผชิญวิกฤติภัยแล้งที่หนักหน่วง ในรอบ 20 ปี “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้สัมภาษณ์พิเศษ “ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงผลงานในรอบ 6 เดือนของการดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีเรื่องด่วนในการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และตามนโยบายของรัฐบาล
แจงรับตำแหน่ง เป็นวาระพิเศษ
“ธีรภัทร” กล่าวยอมรับว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติ อาจไม่ได้รับการโยกย้ายข้ามจากอธิบดีกรมป่าไม้ ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ครั้งนี้ถือเป็นวาระพิเศษ โดยมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่พิจารณาเรื่องความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว ดังนั้นต้องขอบคุณรัฐบาลที่เลือกมา ทั้งนี้ผ่านมา 6 เดือน การทำงานเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว โดยในช่วง 2-3 เดือนแรก เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในกระทรวง ปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของการปรับระบบ ที่ผ่านมากระทรวงมีหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดจำนวน 15 กรม เช่น กรมชลประทาน กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น ซึ่งแต่ละกรมจะมีเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำงานและประสานงาน เช่น เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาลักษณะการทำงานเป็นแท่งแนวตั้ง แต่ละหน่วยงานจะทำหน้าที่ไม่สนใจใคร ต่างคนต่างทำ แต่ขณะนี้ได้มาปรับระบบใหม่ให้มีการบูรณาการมากขึ้น
โดยได้นำเอาระบบซิงเกิลคอมมานด์มาใช้ (โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯแบบเบ็ดเสร็จในระดับจังหวัด รายงานตรงถึงปลัดกระทรวงเกษตรฯ ถึงความคืบหน้าการทำงานด้านต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชันไลน์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อนำเสนอให้รมว.เกษตรฯสั่งการ ได้รวดเร็วขึ้น) ซึ่งได้ทำมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ร่วม 3 เดือนแล้ว การทำงานก็เป็นไปด้วยดี และบังเกิดผลเป็นที่น่าพอใจ
แปลงนโยบายรมต.เป็นโครงการ
“ในฐานะผู้ขับเคลื่อนได้มีการปฏิบัติการอย่างเข้มข้นตามนโยบาย ของรัฐมนตรี ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งใน 8 มาตรการช่วยภัยแล้ง เช่น การจ้างงานชลประทาน การส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย และเชื่อมโยงตลาดให้มีผู้ซื้อมารับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกร หรือพื้นที่ไหนไม่มีแหล่งน้ำ ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการสนับสนุนสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ มากมาย ให้ปรับเปลี่ยนอาชีพตามความต้องการของเกษตรกรหรือคนในพื้นที่นั้นๆ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ และในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการของบอร์ด ธ.ก.ส. ก็เห็นว่ามีสินเชื่อออกมาเป็นระยะๆ ร่วมแสนล้านบาททั้งช่วยเกษตรกรโดยตรงและทางอ้อม”
4 เรื่องเร่งด่วนต้องเสร็จ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย 2. การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยระบบส่งเสริมการ เกษตรแบบแปลงใหญ่ 3. การจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกร และ 4. การส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะเน้นการสร้างแรงจูงในการทำงานให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ จะมีการจัดการประกวดเกษตรแบบแปลงใหญ่ ส่งประกวดจังหวัดละ1 แปลง รวม 76 แปลงทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้มีผลสำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นศูนย์การเรียนรู้สาธิตให้กับพื้นที่อื่นๆ เพื่อรณรงค์ในการลดต้นทุนการผลิต ปลายปีนี้จะประกาศผลว่าจังหวัดใดจะคว้ารางวัล แต่สิ่งสำคัญกว่ารางวัลคือเกษตรกรมีรายได้ที่ดี และนำไปสู่การปฏิรูปการเกษตรแบบยั่งยืน
ทั้งนี้ทุกจังหวัดต้องเร่งผลักดันแนวนโยบายต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรของไทยภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศูนย์เรียนรู้ (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ เพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยให้กรมต่างๆ ร่วมบูรณาการในศูนย์ การใช้แผนที่การเกษตร (Agri Map) เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกของทุกจังหวัด โดยอาศัยความร่วมมือในรูปแบบ ประชารัฐ ได้แก่ เกษตรกรมีการปรับตัว ภาครัฐสนับสนุนองค์ความรู้ นวัตกรรม และงบประมาณที่จำเป็น โดยมีภาคเอกชน ช่วยเหลือในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการและด้านการตลาด ดังนั้นทุกภาคส่วนจะมีส่วนสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก
“ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าการปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติของ ซิงเกิลคอมมานด์จะยังพบปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะต้องปรับการทำงานจากลักษณะที่ต่างหน่วยงานต่างทำตามภารกิจมาบูรณาการในพื้นที่เดียวกันเพื่อพัฒนาอย่างครบวงจร เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯในระดับจังหวัดทั้งหมด ต้องให้ความร่วมมือกับซิงเกิลคอมมานด์ในการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน ในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร และสร้างรากฐานการพัฒนาการเกษตรของประเทศให้เกิดขึ้นโดยเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”
ศก.โลกบีบเกษตรกรต้องปรับตัว
“ธีรภัทร” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินมีความผันผวน คู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีการซื้อขายลดน้อยลง จึงทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตก็ลดลงเพราะบางพื้นที่ประสบภัยแล้ง จะเห็นว่าปัจจัยต่างๆ เข้ามาบีบรัด ทำให้ส่วนหนึ่งเกษตรกรจะต้องปรับตัว และลดต้นทุน รวมกันให้เป็นแปลงใหญ่ ร่วมกันผลิต ปันส่วนค่าใช้จ่ายในการผลิต เพิ่มคุณภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่ผลิตสินค้าเกษตรคล้ายคลึงกันได้ แต่วันนี้กลับไม่มีใครกล่าวถึงเลย เกษตรกรและสังคม กลับมุ่งไปที่ราคาสินค้าเกษตร ทั้งที่จริงไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวง แต่จะบอกปัดไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเกษตรกร ส่งผลให้ที่ผ่านมาโพลหลายสำนักได้ให้คะแนนผลงานของกระทรวงเกษตรฯค่อนข้างต่ำ
“ผมเห็นใจท่านรัฐมนตรีมาก ที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมเท่าที่ควร แต่อีกด้านหนึ่งก็ให้กำลังใจแก่ข้าราชการในพื้นที่ซึ่งทำงานกันหนักและเหนื่อยมาก อย่างไรก็ตามเรายังต้องเข้มแข็งต่อสู้ในเรื่องนี้ ท้อไม่ได้ เมื่อเห็นปัญหาต่างๆ ค่อยปรับแก้ไข ให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคมมากขึ้นว่า หน้าที่หลักของกระทรวงคือปรับโครง สร้างการผลิต เพิ่มรายได้ ไม่ใช่เรื่องราคาสินค้า ที่มีกระทรวงหลัก (ก.พาณิชย์) ทำอยู่แล้ว ต้องยอมรับว่าปีนี้สินค้าเกษตร ราคาจะทรงๆ แบบนี้ทั้งปี”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 – 9 เมษายน พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 7 เม.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.