ผู้แทนธนาคารโลก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรมพัฒนาพลังงานทดแทน
และอนุรักษ์พลังงาน และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการPMR
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ผู้แทนธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกฉียงใต้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้ร่วมในพิธีเปิดตัวโครงการ “เตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก” (PARTNERSHIP FOR MARKET READNESS:PMR) ซึ่งไทยได้เข้ารับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าของธนาคารโลกจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 30 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานภายในปี 2573 การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลไทยสามารถเตรียมความพร้อมในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านกลไกตลาด ตลอดจนข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายในการกำหนดราคาคาร์บอน โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาภายในโครงการและประสบการณ์ในการสร้างประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนานาประเทศ
นายอูริช ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก (PMR)เป็นแพลทฟอร์ม (Platform) ที่ออกแบบขึ้นเพื่อช่วยให้ภาคีสมาชิกพัฒนาและสามารถริเริ่มกลไกตลาดเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในไทยและระดับโลก”
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 22 ของโลกและมากเป็นที่ 5 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และจะเพิ่มอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง76% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2593 หากยังดำเนินธุรกิจแบบเช่นที่เป็นในปัจจุบัน
ข้อมูลในปี 2555 ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ 1% มีจีนมาเป็นอันดับ 1 22% แทนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยครองแชมป์การปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกมากที่สุด
ด้านนางสาววราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า ในระดับโลกบนเวที Carbon Pricing Leadership Coalition ซึ่งเป็นเวทีผู้นำและนักธุรกิจทั่วโลกโดยสนับสนุนให้นำนโยบายราคามาใช้เป็นเครื่องมือในการลดก๊าซเรือนกระจก ในที่ประชุมมองว่าการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) จะช่วยทำให้นักลงทุนและภาคธุรกิจตระหนักว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมีต้นทุน โดยมองในมุมมองที่ราคาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องเป็นราคาที่แท้จริงและไม่ผลักภาระให้รัฐ อาทิ ความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร ผลกระทบด้านสุขภาพของประชากร ที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยต้องใส่ภาระนี้กลับเข้าไปให้คนที่เป็นคนปล่อย ซึ่งปัจจุบันมีหลายวิธีที่รัฐบาลจะสามารถใส่ราคาไปในคาร์บอน อาทิ ภาษีคาร์บอน ฯลฯ โดยจากรายงานของ OECD เชื่อว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกที่สุดของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“การใส่ราคาในคาร์บอนเป็นการส่งสัญญาณว่าการปล่อยมลพิษมันมีราคา เพราะฉะนั้น คนที่จะปล่อยต้องตัดสินใจให้ดี และอาจจะเป็นทางที่ทำให้ธุรกิจต้องคำนึงถึงทางออกเรื่องเทคโนโลยีสีเขียวมากขึ้น นอกจากนั้นยังจะช่วยให้เกิดการผลักดันในเชิงนโยบายในระดับภาครัฐอีกด้วย”ผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกกล่าว
และกล่าวถึงข้อดีว่า การกำหนดราคาคาร์บอน จะทำให้ภาครัฐมีรายได้กลับคืนมา อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนต้องอาศัยกลไกทางการเมือง เศรษฐกิจ ความเห็นชอบของภาคอุตสาหกรรมซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมมีความละเอียดและซับซ้อน โดยปัจจุบันมีมากกว่า 40 ประเทศและมากกว่า 20 เมืองทั่วโลกที่มีการกำหนดราคาคาร์บอน เช่น จีนที่เปิดตัวโครงการตลาดคาร์บอนมาตั้งแต่ในปี 2556 และเตรียมพร้อมที่จะใช้ใน 7 เมืองภายในปี 2559 ขณะที่เกาหลีใต้ มีระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซ เรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ใน 225 ธุรกิจ 23 เซ็กเตอร์ซึ่งถือเป็น 2 ใน 3 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด ฯลฯ นอกจากนี้ จะเห็นว่าการใช้มาตรการภาษีคาร์บอนนั้นไม่ได้ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง อย่างการใช้มาตรการทางภาษีคาร์บอนในบริติชโคลัมเบีย แต่มีข้อควรระวังในการกำหนดราคาคาร์บอนที่อาจส่งผลกรทบถึงคนจนซึ่งอาจจะต้องมีมาตรการอื่นๆ มาสนับสนุน
“ในประเทศไทย การกำหนดราคาคาร์บอนเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการให้สาธารณะเป็นผู้รับภาระ และการที่คนปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องเป็นคนจ่าย โดยการพัฒนากลไกตลาดจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในการเป็นภาคีภายใต้ PMR จะช่วยในการเตรียมการสำหรับภาคพลังงาน การเกิดเมืองคาร์บอนต่ำ และการเตรียมความพร้อมในระดับนโยบายที่จะนำไปสู่การสร้างระบบการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ” ผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกกล่าว
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)กล่าวว่า ภายใต้ความตกลงปารีส ในการประชุมสมัชชารัฐภาคีฯ ครั้งที่ 21 หรือ COP 21 มีเป้าหมายหลักในการควบคุมอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศา โดยหากพิจารณาจากแผนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Intended Nationally Determined Contributions (INDCs) ในภาพรวมในรายงานสังเคราะห์โดยสำนักเลขาธิการอนุสัญญาระบุว่า ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีเมื่อถึงปี 2568 หรือ ปี 2573 จะไม่สามารถลดลงต่ำกว่า 2 องศาฯ ได้ตามเป้าหมายแม้ทุกประเทศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้สัญญา โดยประเมินว่าเมื่อถึงปี 2643 อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 2.7 องศาฯ
ว่ากันว่า แม้ว่าทุกประเทศทำตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ
นั่นก็อาจไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการลดลงของอุณหภูมิโลกได้ 2 องศาฯ ได้
การเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกโครงการ PMR อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่เราทำได้มากกว่าการลดการปล่อยก๊าซตามแผนเดิมที่การพัฒนากลไกตลาดยังไม่สมบูรณ์
สำหรับประเทศไทยก็เชื่อว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 20% ตามที่กำหนดเป้าหมายไว้เช่นกัน แต่หากในอนาคตต้องการทำให้ดียิ่งขึ้น อาจจะยังต้องใช้กลไกอื่นๆ เข้ามาช่วย เพราะเห็นแล้วว่าในภาพรวมของการลดก๊าซเรือนกระจกแม้จะทำได้แต่ยังอาจไม่มากพอ การเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นหนทางหนึ่ง โดยภาคี 30 ประเทศ แบ่งออกเป็น กลุ่มประเทศผู้สนับสนุนทาง การเงิน 13 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ฯลฯ และประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 17 ประเทศ อาทิ จีน บราซิล เม็กซิโก อินโดนีเซีย ตูนิเซีย เวียดนาม ไทยฯลฯ โดยจีนเป็นประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือในระดับที่สูงถึง 8 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากธนาคารโลกคาดหวังจะให้จีนในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดสามารถแก้ไขปัญหาได้
ที่มา: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
การดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวของไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. สนับสนุนการเตรียมการดำเนินการกลไกเพื่อลดการใช้พลังงาน (Energy Performance Certificate: EPC) โดยการเตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนากลไกด้านตลาด ได้แก่ ระบบการเก็บข้อมูล การสร้างมาตรฐานการวัดการปล่อยก๊าซที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมและอาคารหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งพัฒนาระบบรายงานและการตรวจสอบตลอดจน 2.พัฒนาแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละเทศบาลและการศึกษากลไกราคาสำหรับโครงการเมืองคาร์บอนต่ำ ใน 24 เทศบาล โดยพัฒนาแผนการลดก๊าซเรือนกระจกและการศึกษาการกำหนดราคาคาร์บอนเครดิตในเทศบาลนำร่อง 3.การศึกษาเพื่อให้คำแนะนำด้านนโยบายเรื่องกรอบระเบียบข้อบังคับในการจัดตั้งแนวทางการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ (Emission Trading Scheme: ETS) 4.สนับสนุนการบริหารจัดการโครงการ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในทางเทคนิคแก่เจ้าหน้าที่ที่บริหารโครงการและดำเนินโครงการ
สำหรับความเป็นไปได้ในการพัฒนากลไกตลาดเพื่อไปสู่การเกิดตลาดคาร์บอนได้จริงนั้น ดร.พงษ์วิภากล่าวถึงทิศทางในอนาคตว่า “เมืองไทยกลไกเราค่อนข้างพร้อมแต่ประเด็นเดียวที่เราต้องจัดการคือเราจะหาผู้ซื้อให้ได้ เพราะปัจจุบันแม้ว่าจะมีกลไกทั้งวิธีการตรวจสอบ แต่ภาครัฐยังไม่ได้กำหนดนโยบายและออกมาตรการที่ทำให้ธุรกิจ หรือองค์กรต่างๆ ต้องกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซ ซึ่งหากสามารถทำได้จริงตลาดการซื้อขายก็จะเกิด”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงการ PMR จะดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการอื่นๆ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และเชื่อว่าในอนาคตระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ (ETS) จะเป็นกลไกหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยตามอนุสัญญาฯ หากต้องมีการดำเนินการโดยเครื่องมือใดๆ จะต้องดำเนินการหลังจากปี 2563 ในช่วงนี้จึงถือว่าเป็นช่วงเตรียมความพร้อมของตลาดตลอดจนความพร้อมของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกด้วย
ที่มา : Thaipublica วันที่ 7 เม.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.