รองนายกฯ “สมคิด” เผยการเติบโต ศก.ไทยอ่อนแรง จำเป็นต้องเร่งปฏิรูป และสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขณะที่อดีตขุนคลังยอมรับเงินเฟ้อต่ำ การลงทุนไม่ขยับ การบริโภคไม่เพิ่ม ทำให้ระบบ ศก.ไม่เกิดการหมุนเวียน แนะปรับทัศนคติ และการผลิตในเชิงคุณภาพ
นาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในงาน “นิด้า 5 ทศวรรษกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยระบุว่า ขณะนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงจากปัญหา และอุปสรรคภายใน ดังนั้น หากไม่เร่งปฏิรูปในด้านต่างๆ ในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า จีดีพีของไทยจะขยายตัวแบบไม่ยั่งยืน และลดต่ำกว่าร้อยละ 3 อย่างแน่นอน
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องใช้โอกาสในช่วง 2 ปีนี้เร่งรัดการปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อให้มีความเข้มแข็งมาจากภายใน ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนจากภาคเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายผลผลิตเพียงอย่างเดียว ปรับมาเป็นปลูกพืชหลากหลายตามความต้องการของตลาด นำไปสู่การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ภาคเกษตรมีความเข้มแข็ง เพราะขณะนี้รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมตลาดประชารัฐ ผลักดันห้างสรรพสินค้าช่วยเป็นตลาดรับซื้อ การให้สินเชื่อจากแบงก์รัฐเพื่อเติมทุนให้ภาคเกษตร
2.การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยผ่านการใช้บทวิจัย แนวคิดนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทย ต่อไปหากต้องการขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอต้องมีเงื่อนไขการเน้นวิจัย และพัฒนา
3.การสร้างศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเน้นทางเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ผ่านการพัฒนาด้วยพื้นฐานเทคโนโลยี ในการนำสินค้าเดิมที่มีอยู่มาต่อยอดกับการออกแบบผ่านการสนับสนุนโดยเอกชนรายใหญ่ และรัฐบาล
4.ต้องการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตรพัฒนาแนวคิดให้นักศึกษาใช้แนวคิดใหม่ผ่านหลักสูตรคณิตศาสตร์ประยุกต์ การวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม
ด้าน นายทนง พทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีอัตราการว่างงานต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 1 อัตราเงินเฟ้อแทบติดลบ อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่การลงทุนไม่ขยับตัว การบริโภคไม่ขยายเพิ่ม จึงทำให้เศรษฐกิจไม่เกิดการหมุนเวียน การว่างงานต่ำมาก จึงดูเหมือนคนมีงานทำทุกคน แต่ผลิตภาพ และผลผลิตกลับไม่มีคุณภาพ นับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งต้องเร่งทำการปฏิรูป เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา นับว่าขาดคุณภาพ
ดังนั้น เพื่อพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้องปรับทัศนคติ แนวคิด ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความพอดี ทั้งการสร้างหนี้สิน ขยายกิจการ ภาครัฐต้องสร้างจิตสำนึกธรรมาภิบาลให้เกิดต่อทุกภาคส่วน จากนั้นเร่งผลักดันภาคเกษตรพัฒนาไปสู่ภาคอุตสาหกรรมแปรรูป หรือภาคบริการ เพราะภาคเกษตรไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ดังนั้น ในช่วง 10 ปีข้างหน้าต้องลดภาคเกษตรให้ได้กว่า 10 ล้านคน เฉลี่ยปีละ 1 ล้านคน คาดว่าจะสร้างกำลังซื้อ และพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพสูงขึ้นในอนาคต
ที่มา : MGR Online วันที่ 31 มี.ค. 2559