การพัฒนาตามแนวทางเดิมยิ่งวันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำขยายความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งพัฒนาครอบครัวและชุมชนยิ่งแตกสลาย ประชาชนที่ประกอบสัมมาชีพในชุมชนพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจจากภาคแรงงานและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เนื่องจากขาดการส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในด้านการประกอบอาชีพอย่างเป็นระบบ จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ
จากการศึกษาพบว่า การพัฒนาระดับสัมมาชีพชุมชน จำเป็นต้องมีกลไกหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการสานพลัง (Synergy) องค์กรภาคีต่างๆ ให้เข้ามาทำงานแบบภาคียุทธศาสตร์ โดยเฉพาะกับองค์กรภาคธุรกิจ ที่ปัจจุบันดำเนินการบนฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) เข้ามาทำงานโดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Based Collaborative Development) และใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นเครื่องมือ
ซึ่งกระบวนการพัฒนาแนวทางนี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เกื้อกูลไม่เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน เป็นเป็นภาพที่พึงประสงค์ของทุกฝ่าย แต่ปัจจุบันยังไม่มีองค์กรรัฐใดที่ทำหน้าที่ดังกล่าว
กลไกที่จะทำหน้าที่สัมมาชีพชุมชนดังกล่าวข้างต้นนี้ จำต้องใช้บุคลากรที่มีความสามารถหลากหลาย (Multi Skills) เพราะมีบทบาทหน้าที่หลากหลาย (Multi Tasks) โดยเฉพาะความสามารถในการเชื่อมโยงกับองค์กรภาคธุรกิจทุกระดับ ให้เข้ามาร่วมเป็นองค์กรภาคียุทธศาสตร์ เพื่อร่วมมือกันลงไปสนับสนุนการทำงานในชุมชน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จำเป็นต้องมีกลไกนี้
ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนจะได้รับ หรือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิรูปครั้งนี้ คือ 1.ชุมชนมีช่องทางในการเชื่อมโยงกับหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายในการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน ที่มีความคล่องตัว ทำงานที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างทันท่วงที
2. เกิดนวัตกรรมการผลิตเพื่อการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยไม่ทำลายทุนของชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน และจะส่งผลต่อสังคม และประเทศในวงกว้าง
3.สังคมเกิดสันติสุข ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน คนในชุมชนคืนกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน เพราะมีช่องทางประกอบอาชีพ ครอบครัวไม่ต้องแยกกันอยู่ ชุมชนเกิดความรักสามัคคี และนำไปสู่ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง และยั่งยืนในที่สุด
ตามรายงานฉบับนี้ระบุเป้าหมายการดำเนินการ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมให้แก่เศรษฐกิจชุมชน โดยการพัฒนาตามแนวคิดสัมมาชีพชุมชนอย่างน้อย 500 ตำบล ในช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินการ
แผนปฏิรูปสัมมาชีพชุมชนชิ้นนี้ คือฐานคิดของแนวทางประชารัฐที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” ประกาศเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจฐานราก และได้เริ่มงานภาคปฏิบัติการไปแล้ว โดยจัดตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) ขึ้นมา 12 ชุด
แม้ว่าโดยโครงสร้างบทบาทของภาคประชาสังคมอาจไม่ชัดนัก เพราะมีหัวหน้าทีมภาครัฐทำงานประกบคู่กับหัวหน้าทีมภาคเอกชน โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมแซมอยู่ประปราย แต่ในคณะทำงานชุดเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งเป็นชุดเรือธง มีกิจกรรมหลากหลายต่อเนื่องและรัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ อาทิ โครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยส่งเงินผ่านไปทางกองทุนหมู่บ้าน เพื่อทำโครงการที่พื้นที่ทำ ประชาคมร่วมกันแล้ว ไม่เกินหมู่บ้านละ 5 แสนบาท ปั้นเอสเอ็มอี.เกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ธ.ก.ส.ตั้งวงเงินสินเชื่อตำบลละ 10 ล้านบาท รวม 7.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกับแผนงานดึงธุรกิจใหญ่เปิดพื้นที่ขายและช่องทางขายสินค้าโอท็อปและผลิตภัณฑ์ชุมชน
เป็นรูปธรรมการพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และระดมภาคีทุกภาคส่วนเข้าร่วมประสานงานการพัฒนา แต่ทั้งหมดยังขับเคลื่อนด้วยนโยบายทางการเมืองของรัฐบาล แต่ยังไม่มีกลไกสัมมาชีพชุมชนอย่างถาวร ในรายงานฉบับนี้จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน (องค์กรมหาชน) พ.ศ… ตามฐานอำนาจจากพ.ร.บ.ว่าด้วยองค์กรมหาชน พ.ศ.2542 มาเป็นตัวอย่าง
โดยนอกจากแนวทางจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชนดังข้อเสนอข้างต้นแล้ว รายงานฉบับนี้เสนอทางเลือกอื่นให้พิจารณาด้วย อาทิ ตั้งเป็นสำนักส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน ในสังกัดสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) (องค์กรอิสระ) หรือตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งเป็นองค์การขึ้นเป็นการเฉพาะ
รวมถึงทางเลือกที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ แต่ใช้อำนาจทางบริหาร เช่น ตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน โดยรัฐลงทุนประเดิมร่วมกับเงินบริจาคขององค์กรธุรกิจ หรือทำเป็นโครงการพิเศษในสังกัดกลไกรัฐที่มีอยู่ เช่น สำนักนายกฯ กระทรวงมหาดไทย ตั้งเป็นหน่วยให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน หรือเป็นคณะกรรมการโดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม หรือไม่ก็สนับสนุนให้องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ไม่แสวงกำไร ไปดำเนินการให้เกิดระบบสัมมาชีพชุมชน
รอการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะเลือกสร้างกลไกถาวรสนับสนุนระบบสัมมาชีพชุมชนให้เดินหน้าในระยะยาวหรือไม่ และใช้แนวทางใด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 25 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.