สถานการณ์ภัยแล้งทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 12 จังหวัด 47 อำเภอ 217 ตำบล 1,902 หมู่บ้าน คิดเป็น 2.54% ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด และภาคตะวันออก 1 จังหวัด โดยเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหลือระดับน้ำใช้การเพียง 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
หากไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในเขื่อนและยังคงการระบายน้ำรวมกันไว้ที่วันละ 17.8 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่มีอยู่ในเขื่อนขณะนี้เพียงพอใช้ไปอีกประมาณ 150 วัน หรือ 5 เดือน หรือจนถึงสิ้นเดือน ก.ค. แต่หากล่วงถึงเวลานั้นแล้วยังไม่มีฝนตกลงมา ข้อมูลด้านวิชาการ โดย สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายให้เห็นภาพอันน่าวิตกอย่างยิ่ง
“หากถึงเดือน ส.ค.แล้วยังไม่มีฝนตกหลายพื้นที่จะเข้าสู่วิกฤตอย่างเต็มที่จนถึงระดับทะเลทราย” สุจริต ระบุ
สุจริต กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการน้ำอย่างต่ำ 3,500 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในขณะนี้กันไว้เป็นน้ำสำหรับการอุปโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 12 ล้าน ลบ.ม. เพื่อระบบนิเวศ 1,385 ล้าน ลบ.ม. โดยหากชาวนาแต่ละพื้นที่ไม่ฝืนปลูกข้าวนาปรังก็สามารถยื้อไปได้ถึงถึงต้นเดือน มิ.ย. และหากภาคครัวเรือนช่วยกันประหยัดน้ำได้ 20% จากจำนวนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็จะช่วยยืดอายุการขาดน้ำไปได้อีกประมาณ 1 เดือน
ข้อมูลของสุจริตชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยตรึงภัยแล้งไว้ได้เพียงแค่เดือน ก.ค.เท่านั้น แต่หากล่วงถึงเดือน ส.ค.แล้วยังไม่มีฝนมาเติมน้ำก็เข้าสู่ภาวะสุดวิกฤต
“รัฐบาลควรเตรียมแผนฉุกเฉินที่ชัดเจนในการประหยัดน้ำ เพราะที่ผ่านมาการเตรียมการด้านนี้ยังไม่ชัดเจน ว่าควรเริ่มลำดับความสำคัญจากที่ไหน เช่น เริ่มจากบ้านเรือนเป็นที่แรกๆ และโรงพยาบาลเป็นสถานที่สุดท้าย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบและรู้ตัวล่วงหน้าในการเตรียมตัวรับสถานการณ์และไม่เกิดปัญหาต้องทะเลาะแย่งน้ำกัน ขณะที่ประชาชนในหลายพื้นที่ในชนบททราบปัญหาแล้วว่าปัญหานี้กำลังเข้าสู่วิกฤต”
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านวิกฤตภัยแล้งครั้งนี้ไปได้ แต่สถานการณ์น้ำโดยรวมก็ยังไม่อาจวางใจได้ สุจริต มองว่า ปัญหาปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของประเทศเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี จึงคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าที่สถานการณ์น้ำของประเทศจึงจะเข้าสู่ภาวะปกติมีปริมาณน้ำต้นทุนกลับไปอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง
เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาภัยแล้งขณะนี้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว โดยเน้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำตะคอง มีฝนตกบ้างในบางพื้นที่ ส่วนภาคกลาง บริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันตก ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีทิศทางที่ดี
ด้าน ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบส่งเข้าพื้นที่การเกษตรรวม 1.6 ล้าน ลบ.ม. สูบน้ำสนับสนุนการผลิตน้ำประปา 6,117 ล้านลิตร แจกจ่ายน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค รวม 113 ล้านลิตร และผลิตน้ำดื่ม แจกจ่ายประชาชน 1.1 ล้านลิตร เจาะบ่อบาดาล หรือบ่อน้ำตื้น จำนวน 138 บ่อ และอีกหลายโครงการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งครอบคลุมทุกมิติ
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 มี.ค. 2559