กดปุ่มเปิดตัวเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐาน รากตามแนวทางประชารัฐ ที่มีคนเข้าร่วมงานมากที่สุด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่าหมื่นราย เป็นอีเวนต์ใหญ่ที่สุดของรัฐบาล
น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคม เปิดใจให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนภา คประชาสังคม เพื่อสนับสนุนกิจกรรม และโครงการต่าง ๆ ภายใต้กรอบคิด 3 ประสาน ภาครัฐ- เอกชน และภาคประชาสังคม หรือที่รู้จักกันในนามของคำว่า “ประชารัฐ” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
หมอ พลเดช ย้อนเล่าที่มาของคำว่า ประชารัฐ ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ชูนโยบายใหญ่ 2 เรื่องที่โดนใจประชาชน นอกจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค”แล้ว อีกนโยบายคือ กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งได้มีส่วนร่วมผลักดันกับน.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯขณะนั้น
มีการโต้เถียงกันหนักมาก ทางฝ่ายการเมืองต้องการตั้งกองทุนหมู่บ้านรวดเดียวทั่วประเทศ ขณะฝ่ายเอ็นจีโอทำงานพัฒนาในพื้นที่ท้วงว่า ถ้าใส่เงินลงไปองค์กรในชุมชนต้องเข้มแข็งมีความพร้อม จึงจะเดินหน้าต่อได้ ซึ่งจากการวิจัยเวลานั้นพื้นที่ที่ มีความพร้อมมีเพียง 13 % เถียงกันไม่จบ “ผมเลยเสนอว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดแข็งคนละด้าน ราชการมีทรัพยากร มีกำลังคน มีงบประมาณ ทำงานในภาพใหญ่ได้ครอบคลุมหมดทุกพื้นที่ ขณะที่เอ็นจีโอมีทักษะการพัฒนาทางลึก มีประสบการณ์ทำงานกับชุมชน จึงเสนอแนวทาง”ประชารัฐ” ให้มาร่วมมือกันตั้งแต่นั้น”
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจึงเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นนโยบายทางการเมือง จึงเทงบลงพื้นที่ทุกหมู่บ้าน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เป็นกองทุนเพื่อการให้กู้ยืมเป็นรายบุคคล ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งก็มีบางส่วนที่เติบโตได้ แต่หลายแห่งยังมีปัญหา และมีการเติมเงินเข้ากองทุนเพิ่มเติมบ้าง โดยเฉลี่ยเวลานี้แต่ละแห่งมีทุนเฉลี่ยประมาณกองทุนละ 2 ล้านบาท
กระทั่งรัฐบาลชุดนี้ปัดฝุ่นนำ คำนี้กลับมา หวังปลุกเศรษฐกิจฐานรากอีกครั้ง โดยล่าสุดครม.อนุมัติงบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ไปให้แก่กองทุนหมู่บ้านฯ แต่เงินก้อนนี้มีหลักคิดต่างออกไปจากเดิม คือเป็นวงเงินเพื่อให้แต่ละหมู่บ้านไปคิดทำโครงการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อพลิกฟื้นหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในชุมชน เป็นเงินให้เปล่า ซึ่งกองทุนหมู่บ้านฯแต่ละแห่งต้องตั้งบัญชีใหม่ขึ้นมาต่างหาก และมีผู้รับผิดชอบชัดเจนที่แยกต่างหากจากกรรมการกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่ด้วย
“เมื่อรัฐบาลอนุมัติงบประมาณแน่นอนแล้ว ทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) ก็ไปทำงานเรื่องเงินกับหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงบประมาณ ไปทำเรื่องเงิน ส่วนผมก็มาเตรียมด้านกระบวนการทำงานของเครือข่ายประชาสังคมที่จะลงในพื้นที่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งก็พร้อมอยู่แล้ว”
ปัจจุบัน มีกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย กองทุนหมู่บ้าน กองทุนชุมชนเมือง และกองทุนชุมชนทหาร รวมทั้งสิ้นทั่วประเทศ 79,556 กองทุน หรือประมาณ 8 หมื่นกองทุน โดยสมาชิกกองทุนหมู่บ้านต้องไปทำประชาคม และรวมกลุ่มกันขึ้นมาอย่างน้อย 3 คน ที่ต้องส่งชื่อเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ที่ประชาคมให้ความเห็นชอบ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อส่งมาให้สทบ.พิจารณาอนุมัติ ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการแต่ละกองทุนไม่น้อยกว่า 3 คนนี้ หมอพลเดชเรียกว่าเป็น”อาสาประชารัฐ” จากทั้ง 8 หมื่นกองทุน
“คนเหล่านี้อาจแปรสภาพมาจากผู้นำของชุมชนนั้น ๆ โดยรายชื่อและคุณสมบัติทั้งหมดจะถูกจัดเก็บรวบรวมไว้เป็นฐานข้อมูลที่ สทบ.กลาง เพื่อนำไปต่อยอดวางแผนการพัฒนาต่อไป จากกระบวนการนี้จะได้ข้อมูล ซึ่งเป็นผู้นำองค์กรชุมชนระดับฐานราก ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทันที 2.4 แสนคน ที่จะกลายเป็นภาคพลเมืองที่สำคัญยิ่ง”
จากอาสาประชารัฐที่เป็นผู้นำชุมชนในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งจัดเป็นระดับ”หน่วย”แล้ว หมอพลเดชได้ออกแบบกลไกรองรับ เพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของโรงการต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยแต่ละอำเภอจะให้มี”วิทยา กรกระบวนการ” ระดับอำเภอ เป็นพี่เลี้ยง จากสูตรคิดคำนวณจาก 878 อำเภอทั่วประเทศ บวกกับ กทม. 50 เขต ให้มีเขตละ 2 พื้นที่ รวมเป็น 100 พื้นที่ และให้เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างพัทยา อีก 2 พื้นที่ รวมเป็น 980 พื้นที่ “บนฐานคิดดังกล่าวข้างต้น วันนี้ได้เตรียม “วิทยากรกระบวนการ” ซึ่งจะเป็นทีมปฏิบัติการในพื้นที่ ๆ ละ 10 คน คือต้องมีวิทยากรกระบวนการอีก 9.8 พันคน”
“ทำ หน้าที่จัดเวทีประชารัฐอำเภอ หรือเวทีการจัดการองค์ความรู้ (KM) โดยนำกรณีศึกษาของกองทุนต่าง ๆ ที่ได้จากการลงพื้นที่ จากการไปดูของจริงในแต่ละชุมชน แต่ละอำเภอ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะได้เห็นปัญหา อุปสรรค การแก้ปัญหา มาจัดเวที ตั้งเป้ากำหนดให้จัดเวทีลักษณะนี้ 2-3 เดือนครั้ง เฉลี่ยจะได้ประมาณ 3 ครั้งต่อปี แต่ละครั้งจะต้องมี 3 กรณีศึกษา ”
ดังนั้น แต่ละชุมชนจะได้เรียนรู้อย่างน้อย 10 กรณีศึกษา จากทั้งหมด 980 พื้นที่ เราจะได้ประมาณ 1 หมื่นกรณีศึกษา ที่สามารถนำไปต่อยอด เกิดเป็นแหล่งชุมชนที่มีจุดเด่นของตัวเอง จัดเป็นแพ็กเกจเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากต่อไป
“อย่างน้อยเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปนี้ หากไม่ได้อะไรก็ขอให้คนฉลาดขึ้น เวทีนี้จะไม่ใช่เวทีตรวจสอบ ไม่มุ่งเรื่องทางลบ”
ขยับขึ้นมาระดับจังหวัด หมอพลเดช ฉายภาพต่อว่า อาจใช้กลไกที่มีอยู่ คือ “ศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด” (ศพจ.) 77 จังหวัด ซึ่งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มาตลอด 2 ปี หรือใช้สำนักงานของเกษตรจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัด ที่ทำงานร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติอยู่แล้ว เป็นสำนักงานประสานงาน
“รวมทั้งจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ คือกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือกรอ.จังหวัด มีผู้ว่าฯเป็นประธาน กรรมการมาจากหัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนองค์กรภาคเอกชนในจังหวัด เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมธนาคารจังหวัด ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ นั้น นายกฯมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ บอกให้เพิ่มเป็นกรอ.พลัส คือเติมตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าไปด้วยประมาณ 4-5 คน”
จึงได้เตรียมผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมอาวุโส”ไว้แล้ว ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม เพื่อทำงานประชารัฐ คุยเรื่องเศรษฐกิจฐานรากเป็น”ประชารัฐจังหวัด” เพื่อทำงานคู่ขนานกัน พร้อมกันนี้ คนกลุ่มนี้ยังต้องดูแลเป็นพี่เลี้ยงทีมระดับปฏิบัติการ (ระดับอำเภอ) ซึ่งทีมงานระดับจังหวัดจัดเป็นระดับกองพันจากระดับจังหวัดแล้ว ที่ผ่านมาทางการมีการจัดกลุ่มจังหวัดเป็นคลัสเตอร์ ทำเป็นยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ซึ่งเดิมมี 18 กลุ่มยกเว้นกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่มีชุมชนเมืองกระจายอยู่จำนวนมาก พื้นที่ กรุงเทพฯจะแบ่งเป็น 2 ส่วน เราก็จะมีคณะผู้ประสานงานระดับกลุ่มจังหวัดอีก 20 ชุด เพื่อทำงานเชื่อมประสานกับสทบ.ที่จะรับนโยบายจากรัฐบาล
หมอพลเดชกล่าวว่า หากเทียบกับครั้งเริ่มกองทุนหมู่บ้านในปี 2554 แล้ว การขับเคลื่อนประชารัฐเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนหมู่บ้านครั้งนี้มีความพร้อมมากกว่า โดยในอดีตองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งพร้อมรับโครงการได้มีเพียง 18 % แต่ปัจจุบันผ่านการเรียนรู้มีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น เวลานี้องค์กรชุมชนที่มีความพร้อมมีถึงเกือบ 30 % และสามารถผลักดันแผนงานให้บรรลุผลได้ไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 แน่นอน
น.พ.พล เดชย้ำความเชื่อมั่นว่า หากเราสามารถรักษากระบวนเช่นนี้ 3 ปีต่อเนื่องกันไป ฐานรากของบ้านเราจะแข็งแรง เหมือนการเทซีเมนต์ไว้ เมื่อเวลาผ่านไปจะบ่มตัวจนแข็งแรง เป็นการแข็งแรงด้วยปัญญา
ซึ่งมีความเป็นไปได้ทางเทคนิค โดยเริ่มนับหนึ่งแล้วในปีงบประมาณนี้ ที่จะมีเวลาทำโครงการให้ปรากฏผลถึงสิ้นปี 2559 ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2560 ก็เริ่มดำเนินการ และรัฐบาลจัดไว้เป็นลำดับความสำคัญแล้ว และถึงแม้โรดแมปคสช.รัฐบาลจะอยู่ไปถึงกลางปี 2560 แต่ตอนนั้นก็ต้องจัดเตรียมงบของปี 2561 ไว้ให้แล้ว จึงเชื่อมั่นว่าจะเดินหน้าได้ต่อเนื่อง 3 ปีตามเป้าหมาย
ระหว่างนี้จะเกิดหน่ออ่อนของเศรษฐกิจฐานราก ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างหลากหลาย ผ่านกระบวนการทำงานของประชาคมในพื้นที่ เกิดการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การต่อยอดกิจกรรม และมีความเชื่อมโยงกันทุกระดับ ถือเป็นปฏิบัติการภาคต่อของสมัชชาปฏิรูปประเทศ ที่เข้าสู่มิติของการปฏิรูปในภาคปฏิบัติการ เป็นการต่อยอดงานการปฏิรูปที่นายอานันท์ ปันยารชุน และหมอประเวศ วะสี ได้ระดมสรรพกำลังเครือข่ายต่าง ๆ สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ขึ้นมาให้ไว้ก่อนแล้ว
“ปฏิบัติการทางปัญญาขับเคลื่อนประชารัฐครั้งนี้ ยังผนึกคนจากทุกกลุ่ม เรื่องที่ทำอยู่นี้มีทั้งเหลืองทั้งแดง ร่วมกันทำอยู่ในนี้ นี่คือการปรองดองโดยไม่ต้องไปพูดเรื่องปรองดอง เมื่อลงไปถึงพื้นที่จัดเวทีเราก็พูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจฐานราก ไม่พูดเรื่องอื่นแล้ว”
มือประสาน”ประชารัฐ”
โดนต่อว่าค่อนแคะจากพี่น้องแวดวงเอ็นจีโอ ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลนี้ เป็น เป็นยุทธศาสตร์ประชารัฐโดยรัฐและกลุ่มทุน ขณะที่ประชาชนเป็นเพียงหางเครื่อง
“น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป” เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ผู้มีบทบาทผลักดันและเป็นข้อต่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้บอกว่า ยินดีรับฟัง ไม่ขอตอบโต้ ไม่ทะเลาะด้วย แต่ขอเวลาให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์
ยอมรับว่าจากรายชื่อคณะทำงานร่วมภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน 12 ชุดนั้น ส่วนใหญ่เป็นเวทีด้านธุรกิจกับราชการเป็นหลัก แต่ก็มี 1 ชุดทำด้านเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ที่มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 เป็นประธานภาครัฐ และ”ฐาปน สิริวัฒนภักดี” จากกลุ่มไทยเบฟฯ เป็นประธานภาคเอกชน
“จากที่ได้ร่วมประชุม ตัวแทนภาคธุรกิจบอกแต่ต้นเลยว่า เวทีนี้เข้ามาทำงานเพื่อให้ ไม่ใช่เพื่อเอา และดูแล้วก็ตั้งใจมาทำงานเพื่อส่วนรวมกันจริง ๆ เบื้องต้นเราต้องไว้วางใจกันซึ่งกันและกันก่อน”
โดยที่แผนงานขับเคลื่อนประชารัฐที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นงานที่ภาคราชการ หรือองค์กรธุรกิจเป็นหลัก แต่โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานราก ที่รัฐอนุมัติงบ 3.5 หมื่นล้านบาท ผ่านทางกองทุนหมู่บ้านทั้ง 8 หมื่นหมู่บ้านครั้งนี้ มีภาคประชาสังคมเป็นตัวหลักอย่างแท้จริง จะเป็นปฏิบัติการสร้างองค์ความรู้ครั้งใหญ่ที่จะปลุกขึ้นมาทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนงานร่วมกับภาครัฐและองค์กรธุรกิจนั้น ได้เห็นความกระตือรือร้นของเอกชนรุ่นใหม่ ในการมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ยากจนเรื้อรัง เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขพิเศษ ที่มีอยู่ประมาณ 200 พื้นที่ทั่วประเทศ
หมอ พลเดชเล่าว่า ได้เสนอให้ทางการคัดมาสัก 100 พื้นที่นำร่อง แล้วให้เอกชนรายใหญ่ อาจเป็น 100 บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ แบ่งกันไปจับคู่เข้าไปทำงานในพื้นที่เลย ใช้ศักยภาพและทรัพยากรของภาคธุรกิจไปแก้ปัญหายาก ๆ ในพื้นที่ โดยอาจทำในรูปของโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ หรือธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งภาคธุรกิจให้ความสนใจมากและกำลังเร่งทำงานกันอยู่
ความไว้วางใจกันจึงเป็นทุนอย่างสำคัญ ในการจะประสานพลังทุกฝ่ายเข้ามาแก้ปัญหาของส่วนรวม ทั้งเอ็นจีโอ ภาคราชการ หรือธุรกิจ โดยไม่ตั้งแง่กันก่อน ต้องมีคนทำบทบาทตรงนี้ คือมีเรดาร์ที่รับฟังเสียงสะท้อนจากทุกด้านได้ แล้วเสนอทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับ จึงจะขับเคลื่อนไปได้
“ผมจะทำบทบาทตรงนี้” หมอพลเดชย้ำ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 29 ก.พ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.