โดย...สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
23 ก.พ. 2559 เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ศาลากลางจ.สุราษฎร์ธานี ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ธานี 2016 จำนวน 80 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐที่หมดระยะเวลาการเช่าหรือสิ้นสุดการอนุญาตให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ ในที่ดินของรัฐ ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ จ.สุราษฎร์ธานี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สุราษฎร์ธานี และ ผู้อำนวยการ กอ.รมน. จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อนำมาปฎิรูปหรือจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน ได้ใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไป
โดยหนังสือเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าว ระบุว่า ขอให้ยุติการอนุญาติให้เข้าทำประโยชน์หรือการให้สัญญาเช่าและสัมปทานที่ดินแก่บริษัทหรือนายทุนและให้ยุติการอนุญาตเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติของบริษัทพันธ์ศรี จำกัด
ทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบการครอบครองที่ดินของบริษัทพันธ์ศรีและนายทุนกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านหมากป่าปากพัง
สำหรับ แนวร่วมปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ธานี 2016 นั้น เกิดจาการรวมตัวของเกษตรกรที่ไร้สิทธิในที่ดินทำกินและคนจน ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.สุราษฎร์ธานี มีเป้าหมายสำคัญในการรวมตัวกันคือดำเนินการใดๆเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่ หรือดำเนินการให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และให้มีการรับรองสิทธิในที่ดิน โดยยึดหลักสิทธิร่วมของชุมชนหรือสถาบันเกษตรกร นับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเกษตรกรและคนจนในภาคใต้กว่า 20,000 คน ได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการต่อสัญญาเช่าที่ดินของรัฐทุกประเภทให้กับนายทุนและบริษัทฯและให้นำที่ดินที่สิ้นสุดสัญญาเช่า หรือที่ตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุกครอบครองโดยมิชอบ หรือที่ผู้ได้รับอนุญาตฯ ทำผิดเงื่อนไข เช่น บุกรุกเพิ่มเติมจากที่ได้รับอนุญาตเพื่อนำที่ดินเหล่านั้นมาดำเนินการปฎิรูปที่ดินให้กับเกษตรกรหรือคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือขาดแคลนที่ดินทำกิน
"ปัจจุบันทราบว่า ทางบริษัทหรือกลุ่มนายทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้ยื่นหนังสือขอต่ออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ต่อไปอีก" แนวร่วมปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ธานี 2016 ระบุ
ดังนั้นแนวร่วมปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ธานี 2016 จึงมีความเห็นว่าที่ดินของรัฐที่สิ้นสุดระยะเวลาการเช่า หรือการอนุญาตให้ทำประโยชน์ ต้องนำมาปฏิรูปกระจายสิทธิการถือครองและรับรองสิทธิการถือครองที่มั่นคงให้คนจนหรือเกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำการเกษตรได้ทำประโยชน์ เพื่อเป็นการกระจายรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
แนวร่วมปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ธานี 2016 จึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ดังนี้ 1. ขอให้ยุติการอนุญาตให้กลุ่มทุนหรือบริษัทต่างๆ เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยใน เขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม 2. ขอให้ยุติการอนุญาตเก็บหาของป่า (ผลปาล์มนำ้มัน) ของบริษัทพันธ์ศรี จำกัด ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านหมากและป่าปากพัง 3. ขอให้ตรวจสอบการอนุญาตให้ บริษัทพันธ์ศรี จำกัด เข้าเก็บหาของป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านหมากและป่าปากพังในพื้นที่ จำนวน 13,000 ไร่ ว่าชอบด้วยกฏหมายหรือไม่อย่างไร และให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นว่าเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเข้าลักษณะของการเลือกปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่
4. ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างตัวแทนภาครัฐและ ภาคประชาชน ด้วยสัดส่วนใกล้เคียง เพื่อเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่ การทำประโยชน์และจำนวนพื้นที่ ตามที่ บริษัทพันธ์ศรี จำกัด ได้เคยขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ 20,000 ไร่ ตั้งแต่ปี 2528-2558 แต่ปรากฎว่าปัจจุบัน มีพื้นที่เหลือ 13,000 ไร่ ซึ่งเป็นเงื่อนงำว่าได้มีการนำที่ดินของรัฐ ไปออกเอกสารสิทธิ์ โดยมิชอบด้วยกฏหมายหรือไม่อย่างไร และ 5. ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำที่ดินแปลงที่ บริษัทพันธ์ศรี จำกัด เคยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านหมากและป่าปากพัง ทั้งแปลง มาปฏิรูปกระจายสิทธิการถือครองอย่างเป็นธรรมและรับรองสิทธิให้ชุมชน ได้ถือครองที่ดินร่วมกันเพื่อความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม สืบไป
นาย อาคม นวานิตย์ เลขากลุ่มแนวร่วมปฏิรูปที่ดินสุ
ราษฎร์ธานี 2016 กล่าวว่า ได้มีคำประกาศจากอธิบดีกรมป่าไม้ ให้ยุติการต่อสัญญาของบริษัทที่หมดสัญญาทุกพื้นที่ใน จ.สุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียง แต่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กำลังใช้นอมิณีเพื่อแบ่งสวนปาล์มให้เล็กลง เพื่อสะดวกในการต่อสัญญา วันนี้กลุ่มแนวร่วมปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ธานี 2016 จึงเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อคัดค้านยุติการต่อสัญญา และยุติการเก็บของป่าทุกประเภท เพื่อนำพื้นที่มาปฏิรูปและจัดสรรให้กับคนยากจน ในขณะที่ภาครัฐเลือกปฏิบัติ ระหว่างชาวบ้านที่ถูกโค่นทำลายต้นยาง ในพื้นที่ป่าและถูกขับไล่ออกจากป่า ทำไมบริษัทถึงต่อสัญญาได้ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และชาวบ้านไม่อยากบุกรุกพื้นที่ของรัฐจึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและหากการยื่นหนังสือในครั้งนี้ ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหรือตอบรับ ชาวบ้านอาจรวมตัวกันครั้งใหญ่เพื่อเดินทางขึ้นไปพบ ท่านนายก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรืออาจทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดิน หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น. หากรัฐยังไม่ให้ความร่วมมือ
ที่มา : ประชาไท วันที่ 23 ก.พ. 2559