ดีเอสไอรับลูกนโยบายรัฐบาล ปราบปรามคดีแชร์ลูกโซ่และหนี้นอกระบบ เผยอยู่ระหว่างสืบสวนเชิงลึกทลายเครือข่ายหนี้นอกระบบเบื้องหลังอดีตนักการเมืองเป็นนายทุน ปล่อยกู้ครอบคลุมทั่วประเทศ ล่าสุดปรับวิธีการทำงาน
ลดปัญหาแชร์ลูกโซ่สร้างความเสียหาย สั่งสนง.ภาครายงานพฤติการณ์ที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ให้ส่วนกลางทราบทุกเดือนจับตาเกมออนไลน์ ตั้งวงแชร์ในกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊ก
การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับนโยบายดังกล่าวมอบหมายสู่หน่วยงานภายใต้การกำกับ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาแชร์ลูกโซ่ที่ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายให้ประชาชนและประเทศ
คดีแชร์ลูกโซ่แนวโน้มเพิ่มขึ้น
ต่อ กรณีดังกล่าว พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์พิเศษ”ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนงานเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2559 ว่า ดีเอสไอจะให้ความสำคัญกับคดีที่ประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการปราบปรามแชร์ลูกโซ่และหนี้นอกระบบ ในส่วนของคดีแชร์ลูกโซ่นั้น พบว่าสถิติคดีมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2558 มีคดีแชร์ลูกโซ่ที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรือมีทั้งหมด 60 เรื่อง , เรื่องสืบสวนที่อยู่ระหว่างรอที่จะเป็นคดีพิเศษ 40 เรื่อง และเรื่องที่อยู่ในชั้นตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รอสืบสวนว่าจะพัฒนาเป็นคดีพิเศษอีกกว่า 50 เรื่อง
” แนวทางเร่งด่วนของดีเอสไอปีนี้ เป็นเรื่องที่ทำอย่างไรให้ประชาชนที่มาแจ้งเรื่องร้องเรียนกับดีเอสไอได้รับความเชื่อมั่น และได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมในทุกเรื่อง ทุกคดีที่ประชาชนผู้เสียหายมาแจ้งเรื่องไว้ ดีเอสไอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เ ป็นนโยบายหลักที่กระทรวงยุติธรรมและ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เน้นย้ำมายังหน่วยปฏิบัติ”รองอธิบดีดีเอสไอกล่าว
พบนักการเมืองนายทุนให้กู้
นอกจากนี้ เรื่องสำคัญที่ดีเอสไออยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อให้ได้ข้อมูลในทางลึก และเป็นเรื่องที่เราหวังผลมากที่จะทลายเครือข่ายนี้ให้ได้ คือ นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจากการติดตามพบว่าเป็นเครือข่ายใหญ่ที่มีการกระจายการดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นเครือข่ายที่มีการสนับสนุนโดยอดีตนักการเมือง
ลักษณะการดำเนินการของเครือข่ายดังกล่าวไม่ได้เป็นการลงทุนหรือเปิดบ้านเพื่อให้กู้นอกระบบในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นการจัดตั้งเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในเรื่องการปล่อยกู้ มีนายทุนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองชื่อดัง รูปแบบคือเปิดให้สมัครเป็นสมาชิกในเครือข่ายและกินเปอร์เซ็นต์จากเงินที่ปล่อยกู้ได้อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางดีเอสไออยู่ระหว่างเก็บข้อมูล
สั่งสนง.ภาครายงานทุกเดือน
รอง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่ง ได้ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ รวมทั้งบูรณาการเรื่องกำลังคน โดยสั่งการให้ทุกภาคที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ทำการข่าวในเบื้องต้น และรายงานเข้ามายังส่วนกลางทุกเดือน อาทิ กรณีของแชร์ลูกโซ่ ให้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด หรือพฤติการณ์ที่มีลักษณะของการชักชวนคนมาลงทุน การหาสมาชิก ทั้งนี้ในการรายงานที่ได้สั่งการ ให้แต่ละสำนักงานภาค( ภาคเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก และ 3 จังหวัดชายแดนใต้) ส่งเข้ามายังส่วนกลางนั้น ต้องระบุข้อมูลให้ชัดเจนถึงตัวบุคคล กลุ่มบุคคล พฤติการณ์ แผนการลงทุน การประกอบธุรกิจ สินค้า ฯลฯ โดยนอกจากให้รวบรวมข้อมูลส่งเข้าส่วนกลางแล้ว ให้รับฟังคำร้องเรียนจากประชาชนถือเป็นด่านหน้าในการเข้าถึงชาวบ้าน จากนั้นให้ตั้งเรื่องสอบข้อเท็จจริงได้เลยโดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายก่อน ซึ่งไม่เฉพาะกรณีของคดีแชร์ลูกโซ่เท่านั้น แต่รวมไปถึงคดีบุกรุกทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คดีค้ามนุษย์ คดีค้าแรงงาน คดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา คดีลักลอบขนสินค้าหนีภาษี ฯลฯ เพื่อที่จะจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ
“เรื่องแชร์ลูกโซ่จะปาดให้เบาลง ด้วยการเอากลไกมาใช้ในการทำงาน อีกหน่อยจะไม่เห็นแชร์ลูกโซ่เป็นเรื่องใหญ่เพราะเราทำตั้งแต่ก่อหวอด ”
จับตาเกมออนไลน์-วงแชร์เฟซบุ๊ก
พ.ต.ต.สุริยา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึง การติดตามและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ว่า ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ทางดีเอสไอรับข้อมูลที่เริ่มมีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาเกี่ยวกับเกมออนไลน์ซึ่งมีรูปแบบที่เชื่อได้ว่าการดำเนินการอาจเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ เป็นลักษณะการเล่นเกมออนไลน์ จากรูปแบบของเดิมในเกมออนไลน์ เมื่อได้รางวัลแล้วสามารถนำเงินรางวัลไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆในเกม แต่รูปแบบใหม่มีการชักชวนสมาชิกเข้ามาเล่น มีการซื้อรหัสเพิ่ม รายได้จากผลตอบแทนที่เราเล่นได้ในเกม สามารถเอามาซื้อสินค้าอื่นๆนอกเกม ใครชักชวนสมาชิกเข้ามาเล่นก็จะได้ผลตอบแทนกลับไป ซึ่งลักษณะนี้ถือว่าเข้าข่ายหมิ่นเหม่เป็นแชร์ลูกโซ่ เป็นรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมและดีเอสไอได้รับมาในชั้นตรวจสอบข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ รูปแบบแชร์ลูกโซ่ที่แพร่กระจายไปรวดเร็วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ การตั้งวงแชร์ในกลุ่มไลน์หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งมีแผนการลงทุนที่ก๊อบปี้ส่งกันผ่านทางไลน์หรือเฟซบุ๊ก ทำให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งในกลุ่มนิสิต นักศึกษา แม่บ้าน รูปแบบคือมีเงินลงทุน 1พันบาท(หรือแล้วแต่จำนวนที่ถูกกำหนดขึ้น) ลงทุนไปในวันนี้
วันรุ่งขึ้นได้เงินกลับคืนมาเป็น 1,700 บาท หรือลงทุน 500 บาทวันรุ่งขึ้นจ่ายกลับมา 800 บาท ทำให้คนอยากลงทุนเพิ่ม ซึ่งรูปแบบนี้ใช้เวลารวดเร็วมาก ในการแพร่กระจาย รูปแบบการหลอกลวงดังกล่าว คนทำมี 2ลักษณะ คือ 1.ใช้ไลน์ของตัวเองเป็นคนหลอก หลังจากที่ถูกจับได้ ก็จะไม่หนี ไม่จ่าย อ้างว่าใช้เงินหมดแล้ว เนื่องจากเรื่องในลักษณะนี้สามารถประกันตัวได้ 2.ก๊อบปี้รูปในเฟซบุ๊กของคนอื่นแล้วมาจำลองว่าเป็นของตัวเองเพื่อนำไปหลอกลวง โดยขณะนี้ทางดีเอสไอรับเรื่องดังกล่าวไว้ในชั้นตรวจสอบข้อเท็จจริงประมาณ 5 วงแชร์ แต่ละวงมีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ราย วงเงินของผู้เสียหายแต่ละรายไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาท
รูปแบบแชร์ลูกโซ่เปลี่ยนไม่มาก
สำหรับรูปแบบโกงในคดีแชร์ลูกโซ่ เปลี่ยนไปจากที่ผ่านมาไม่มาก แต่วิธีการมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย โดยยังเป็นเรื่องของการลงทุนในทองคำ สินค้าที่อุปโลกขึ้นมาเป็นเรื่องขายตรง สินค้าการเกษตร และการลงทุนใน ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา(FOREX) นอกจากนี้รูปแบบการโกงยังเป็นลักษณะที่สอดคล้องไปตามภูมิภาค อาทิ ที่ระบาดในภาคตะวันออก กรณีที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นการลงทุนเช่าตู้สินค้า(คอนเทนเนอร์)เพื่อมาบริการ อ้างว่าบริษัทมีออร์เดอร์ในการสั่งตู้ เช่าตู้ หลอกให้ประชาชนมาลงทุน ขณะนี้เรื่องดังกล่าวทางดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษและใกล้สรุปแล้ว
หรือหากเป็นเมืองท่องเที่ยว ภูเก็ต พัทยา ลักษณะของแชร์ลูกโซ่เป็นแชร์ที่หลอกให้ลงทุนในบริษัททัวร์ ที่กำลังเป็นคดีพิเศษอยู่ยังเป็นรูปแบบเดิมๆ แต่มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วเพราะใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการชักชวนสมาชิกให้มาลงทุน และใช้โซเชียล มีเดียในการกระจายข่าว
อนึ่งดีเอสไอรับคดีแชร์ตู้คอนเทนเนอร์ไว้เป็นคดีพิเศษ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณกลางปี 2558 มีผู้เสียหายจากการถูกหลอกให้ลงทุนแชร์ตู้คอนเทนเนอร์เข้าร้องเรียนดีเอสไอ โดยผู้เสียหายถูกหลอกให้ลงทุนตู้คอนเทนเนอร์ราคาตู้ละ 1.1-1.3 แสนบาท จากนั้นบริษัทขอเช่าต่อ โดยให้ผลตอบแทนเดือนละ 1.1-1.3หมื่นบาท หลังทำสัญญาเช่ามีการจ่ายผลตอบแทนในช่วงแรกๆแต่หลังจากนั้น ทางบริษัทไม่จ่ายเงินค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์ อ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ทั้งนี้ตั้งแต่ตั้งดีเอสไอปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ดีเอสไอรับคดีพิเศษรวม 1,969 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว1,739คดี และอยู่ระหว่างดำเนินการ 230 คดี
ขณะที่รอบปี 2558 มีเรื่องร้องทุกข์ผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.thตั้งแต่ 1 ม.ค.-5ธ.ค. 2558 รวม 2,083 เรื่อง แยกเป็นคดีพิเศษที่รับไว้ดำเนินการ 148 คดี ดำเนินการเสร็จ 816 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 540 เรื่อง ส่วนปัญหาแชร์ลูกโซ่ที่ระบาดทางอินเตอร์เน็ตมี 112 คดี รวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท
ชูเทคโนโลยีรับเรื่องร้องเรียน
รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึง การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้บริการประชาชนว่า ดีเอสไอเป็นหน่วยงานแรกๆที่นำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก โดยได้จัดทำแอพพลิเคชันตรวจสอบสถานะของเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของสถานะคดีพิเศษ สถานะเรื่องร้องเรียน ได้ด้วยตัวเอง โดยต้องยืนยันตัวบุคคลด้วยการกรอกเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งบุคคลอื่นๆไม่สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา DSIMAP สามารถตรวจสอบพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ว่าเป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกหรือไม่ รวมทั้งเพื่อใช้ในการแจ้งเบาะแสข้อมูลในการตรวจสอบว่ามีใครกระทำผิดในเรื่องบุกรุกที่ดิน เป็นต้น
อนึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและแชร์ลูกโซ่ โดยเปิดให้ประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์ รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง สถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ว่า 89 % ภาครัฐสามารถดำเนินการแก้ไขได้แล้วเสร็จ ขณะที่ 11 % อยู่ระหว่างดำเนินการ เพราะเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนยุ่งยาก ต้องแก้ไขในเชิงนโยบายหรือข้อกฎหมาย รวมถึงปัญหาการถูกหลอกลวง หนี้นอกระบบ และแชร์ลูกโซ่
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 – 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 9 ก.พ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.