สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นัดเอกชนถกหาทางออกโครงการประกันภัยนาข้าว ตั้งเป้า 5-10 ล้านไร่ เสียหายจ่ายทันทีไร่ละ 1,500 บาท หลังปี 2558 ยอดขายพุ่งทะลุ 1.5 ล้านไร่ ลั่นพร้อมเจรจาประกันภัยต่อฯ ขอขยายความคุ้มครอง-ลดเบี้ยประกันภัยหวังจูงใจ ฟากสมาคมประกันวินาศภัยไทย เตรียมบินถก “รี อินชัวรันซ์” พร้อมเสนอ ครม.ไฟเขียวโครงการ ก.พ.นี้
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ ตัวแทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการประกันภัยพื้นที่เพาะปลูกสำหรับข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2559/60 ว่า ทางสมาคม ได้หารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยหลังจากการประชุมนัดแรกทาง สศค. เห็นชอบพร้อมให้สมาคมประกันวินาศภัยไทย เดินหน้าโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 หลังจากนี้ทางสมาคม จะนำข้อสรุป 2 ด้านกลับไปประชุมพร้อมเดินทางไปร่วมเจรจากับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประกันภัยต่อในต่างประเทศ (รี อินชัวร์รันซ์) เพื่อให้ทันกับการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
สำหรับสาระสำคัญของโครงการคือการปรับลดเบี้ยประกันภัยลดและเพิ่มความคุ้มครอง ก่อนที่จะขยายไปสู่พืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดอื่นในอนาคต คือ ยางพารา มันสำปะหลังและข้าวโพด ทั้งนี้โครงการประกัน ภัยข้าวนาปีเกษตรกรผู้เอาประกันภัยจะต้องไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากนั้นถึงจะมีสิทธิ์ซื้อประกันภัยจะต้องไปขึ้นทะเบียนทุกปี หากไม่ขึ้นทะเบียนจะไม่สามารถซื้อความคุ้มครองได้ หากภายหลังตรวจพบว่าไม่ได้ลงทะเบียนหรือทะเบียนมีปัญหาทางสมาคมจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นเกษตรกรตัวจริง
“โครงการดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมของข้อมูลโดยตรงที่ทาง สศค. วางไว้คือ อัตราเบี้ยประกันภัยจะต้องปรับลดลงจากเดิมและให้เพิ่มความคุ้มครอง ความเสียหายจาก 7 ภัยที่ระบุไว้ในสัญญา คือ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง อากาศหนาว ลูกเห็บและอัคคีภัย โดยจ่ายสินไหมอยู่ที่ไร่ละ 1,500 บาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่จ่ายไร่ละ 1,111 บาท หากเสียหายจากศัตรูพืช เบื้องต้นจะจ่ายที่ไร่ละ 555 บาท หรือสูงกว่านี้ โดยน่าจะได้ผลสรุปวงเงินภายในเดือนกุมภาพันธ์ ว่าหากเป้ารับประกันภัย 5-10 ล้านไร่จะต้องใช้เงินอุดหนุนเท่าไหร่ หลังจากนั้นจะเสนอให้คระรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการเพื่อให้ทันกับการเปิดขายในเดือนพฤษภาคม 2559”
ทั้งนี้ ตามกรอบระยะเวลาจำหน่ายปีที่ผ่านมา กำหนดให้เริ่มขายความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม-14 สิงหาคม ส่วนภาคใต้จะเริ่มเปิดขายช้าและขายถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2559 การจ่ายค่าสินไหมทดแทนใช้เกณฑ์ประเมินความเสียหายเช่นเดียวกับปีดำเนินงาน 2554-2558 ปีนี้กำหนดพื้นที่เป้าหมายอยู่ที่ 5 ล้านไร่ทั่วประเทศ (พื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศใกล้เคียง 65 ล้านไร่ ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มียอดซื้อประกันภัยทั่วประเทศที่ 1.5 ล้านไร่ และมีเบี้ยประกันภัยรับ 480 ล้านบาท โดยรัฐบาลอนุมัติวงเงินอุดหนุนเบี้ยประกันประมาณ 500 ล้านบาท
สำหรับเกณฑ์การรับประกันภัย เบื้องต้นยังคงอิงตามเกณฑ์เดิม อัตราเบี้ยแบ่งตามระดับความเสี่ยงออกเป็น 5 พื้นที่ คิดอัตราเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ไร่ละ 124.12-483.64 บาท ขณะที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับภาระจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ไร่ละ 60-100 บาทโดยรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยรอบใหม่ตั้งแต่ไร่ละ 60-350 บาท โดยยังพบอีกว่าปี 2558 ที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร แต่ได้ซื้อประกันภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้ เพราะมองว่านาข้าวจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจนได้รับความเสียหาย รวมถึงมีการซื้อประกันภัยในเวลากระชั้นชิด ภายหลังเมื่อทำการตรวจสอบข้อมูลทำให้ไม่สามารถเข้าเกณฑ์ จำเป็นต้องคืนเบี้ยประกันภัยไม่ต่ำกว่า 3 แสนไร่ จากพื้นที่รวม 1.51 ล้านไร่ ขณะที่ความเสียหายที่ผ่านมา(ดูตารางประกอบ) “ในส่วนของการรับประกันภัยปีนี้คือจะต้องปรับลดอัตราเบี้ยลงให้ได้ แต่ในส่วนของความคุ้มครองจะต้องเพิ่มสูงขึ้น เป็นการบ้านที่ทางสมาคมจะหารือกับบริษัทสมาชิกเพื่อนำข้อสรุปไปหารือกับทางบริษัทเพื่อประกันภัยต่อให้ต่างประเทศโดยเฉพาะมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะมีการปรับอัตราเบี้ยและเพิ่มความคุ้มครอง โดยทางสมาคม ได้ติดต่อไปยัง 2 บริษัทผู้รับประกันภัยต่อ เพื่อให้โค้ดอัตราเบี้ยประกันภัย ซึ่งจะใช้ 2 ราย คือ บริษัทเอออนฯ และบริษัทมาร์ช พีบีฯ คาดว่าเบี้ยประกันภัยน่าจะไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 – 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 11 ก.พ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.