ดูเหมือนว่าในช่วงของการตั้งไข่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามากแล้ว เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงแรงปลุกปั้นนโยบายที่ว่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศในช่วงแรก ด้วยการใช้กฎหมายพิเศษตามอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา44เพื่อกำหนดเขตพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนระยะแรก6พื้นที่ ไปเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว โดยขีดเส้นแนวอำเภอต่าง ๆ ของ6จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร และหนองคาย
จากนั้นก็เว้นว่างไปนานหลายเดือน จนในที่สุดเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้เอง คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือกนพ. ที่มีประธานคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็ได้ฤกษ์ประกาศ กำหนดแปลงที่ดินของรัฐที่มีความเหมาะสมสำหรับให้เอกชนและหน่วยงานภาครัฐใช้ประโยชน์ และแนวทางการจัดหาที่ดิน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่2คือ จังหวัดนครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส ตามมาเป็นที่เรียบร้อย
ครอบคลุม4จังหวัด
สำหรับเขตเศรษฐกิจระยะที่2ที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น ครอบคลุมพื้นที่รวม14,382ไร่ ใน4จังหวัด คือ จังหวัดนครพนม1,860ไร่ ในตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม, จังหวัดเชียงราย จำนวน3พื้นที่ รวม2,052ไร่ ใน ตำบลสถาน อำเภอเชียงของ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย, จังหวัดกาญจนบุรี8,193ไร่ ในตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี โดยในส่วนของ3 จังหวัดแรกนี้ “บิ๊กตู่” ได้สั่งงานกระทรวงมหาดไทย ไปคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องด้านกฎหมายมาเสนอ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกครั้ง แล้วจากนั้นจึงใช้อำนาจเพิกถอนสภาพที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ ให้กับกรมธนารักษ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส สุดชายแดนใต้ ที่ประชุมก็มอบหมายให้รัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบ นั่นก็คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) พิจารณาความเป็นไปได้การจัดซื้อที่ดินเอกชน จังหวัดนราธิวาส2,277ไร่ ในตำบลละหาร อำเภอยี่งอ และตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส เพื่อนำมาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนำร่องในเขตพื้นที่ดังกล่าวนี้ไปก่อน
ไล่บี้ทุกหน่วยงาน
ขณะเดียวกันในด้านความคืบหน้าของการเข็นนโยบายนี้ การประชุม กนพ.ครั้งล่าสุดนี้ ยังตามงานที่แต่ละหน่วยงานได้ทำอยู่ โดยแบ่งด้านหลัก ๆ ออกเป็นหลายเรื่อง เริ่มจากเรื่องของความก้าวหน้าด้านสิทธิประโยชน์ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน โดยขั้นแรก ทางกรมสรรพากรก็ไม่รอช้า ได้มีการออกประกาศลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก20%เหลือเพียง10% เป็นระยะเวลา10รอบบัญชี สำหรับกิจการทั่วไปที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ส่วนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอเอง ก็ใช้เครื่องมือที่ตัวเองมี ออกประกาศกำหนดกิจการเป้าหมายเพิ่มเติม10ประเภท ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่1และกำหนดกิจการเป้าหมาย13กลุ่ม62ประเภทกิจการ และกิจการเป้าหมายเพิ่มเติม10ประเภทกิจการ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่2พร้อมกันนี้ก็ได้จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานใน10พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการดำเนินงานของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในโครงการระบบฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติทั่วประเทศ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและเชื่อมโยงข้อมูลกับส่วนกลาง
ปรับโครงสร้างพื้นฐาน
เช่นเดียวกับความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่1และระยะที่2ซึ่งแม่งานหลักคือกระทรวงคมนาคม ก็ได้เร่งงานคืบหน้าไปหลายโครงการแล้ว โดยหลัก ๆ เป็นเรื่องของพัฒนาถนนให้รองรับการขนส่งสินค้า และการปรับปรุงด่านศุลกากรในพื้นที่ชายแดนให้พร้อมอำนวยความสะดวกกับผู้ลงทุน นอกจากนี้ นายกฯ ยังขอตามงานเรื่องการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ 60ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
สั่งเร่งแจงผลงาน
ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการ ตลาดและประชาสัมพันธ์ ในการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะวีดิทัศน์ แผ่นพับ คู่มือการลงทุน และเตรียมจัดงานโอเพ่นเฮาส์ของเขตพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษในวันที่29ก.พ.นี้ ที่สยามพารากอน รวมทั้งเตรียมพานักลงทุนลงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดสระแก้วในช่วงเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ด้วย เพื่อให้นักลงทุนเห็นพื้นที่จริง และตัดสินใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มอบสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนไปหลายอย่างแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันก็ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยอยู่
ดังนั้น... การเร่งงานทั้งหมดนี้ หวังว่าจะช่วยให้เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 พื้นที่ มีความพร้อมรออ้าแขนต้อนรับนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติ ช่วยหอบเงินเข้ามาลงทุน พร้อมกับช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งสมตามความตั้งใจรัฐบาลเสียที.
ทีมเศรษฐกิจ
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 12 ก.พ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.