นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ หลังจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นำข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ที่คาดการณ์ว่า ปี 2559 ทั่วโลกจะมีปริมาณการค้าข้าวรวม 42.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.3% จากปีก่อนที่มีปริมาณ 41.91 ล้านตัน เป็นผลมาจากการบริโภคข้าวมีปริมาณ 484.21 ล้านตันเพิ่ม 0.5% จากปี 2558 ที่มีปริมาณ 481.85 ล้านตัน
แต่ด้านซัพพลายกลับพบว่า ปริมาณผลผลิตข้าวโลก ปี 2559 เท่ากับ 469.32 ล้านตัน ลดลง 1.9% จากปีก่อนที่มีผลผลิต 478.19 ล้านตัน
ถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้ง จึงมีการดึงสต๊อกข้าวโลกมาใช้และส่งผลให้ปริมาณสต๊อกข้าวโลกลดลง 14.8% จาก 103.85 ล้านตัน เหลือ 89.70 ล้านตัน ถือเป็นระดับที่ต่ำกว่า 100 ล้านตันครั้งแรกในรอบ 8 ปีนับจากปี 2551
อินเดียหยุดเทสต๊อก
เมื่อ ปีที่ผ่านมาอินเดียขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ส่งออกสูงถึง 10.2 ล้านตัน ชนะไทยที่ส่งออกได้เพียง 9.79 ล้านตัน การส่งออกข้าวอินเดียเพิ่มขึ้นสวนทางกับผลผลิตข้าวอินเดียที่ลดลง 4.6% หรือจากเคยผลิตได้ 104.8 ล้านตันเหลือเพียง 100 ล้านตัน นั่นเป็นเพราะอินเดียเทสต๊อกข้าวนึ่งออกมาอย่างมาก
ดังนั้น ปีนี้อินเดียจึงเหลือสต๊อกเพียง 11.19 ล้านตัน ลดลง 36.8% จากปีก่อนที่มี 17.69 ล้านตัน ถือเป็นปีที่อินเดียมีสต๊อกต่ำสุดในรอบ 6 ปี และหากผลผลิตในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกสำคัญช่วงกลางปี 2559 ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งอีก มีความเป็นไปได้สูงที่อินเดียอาจต้องทบทวนนโยบายการระบายข้าว
หาก เป็นเช่นนั้นจะส่งผลดีกับไทยอย่างแน่นอน เพราะในปี 2558 ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ไปถึง 10% ซึ่งเกิดจากการแข่งขันที่รุนแรงกับข้าวนึ่งอินเดียที่ขายในระดับราคา 350 เหรียญสหรัฐต่อตันไล่เลี่ยกับไทย
USDA จึงประเมินว่าปีนี้ไทยจะกลับมา เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ปริมาณ 10.30 ล้านตัน และอินเดียจะกลายเป็นเบอร์ 2 ส่งออก 8.50 ล้านตัน ขณะที่เบอร์ 3 ยังคงเป็นเวียดนามที่คาดว่าจะส่งออกได้ 7.30 ล้านตัน จากปีก่อนที่ส่งออก 6.46 ล้านตัน
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมคาดการณ์ส่งออกข้าวในปี 2559 มีปริมาณ 9 ล้านตัน มูลค่า 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยข้าวทุกชนิดส่งออกลดลง เช่น ข้าวขาว ปริมาณ 4.9 ล้านตันลดลง จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.26 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ ได้ 1.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.99 ล้านตัน ข้าวนึ่ง ได้ 2.2 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 2.32 ล้านตัน ข้าวเหนียว ปริมาณ 1 แสนตัน ลดลงจากปีก่อนทีได้ 1.2 แสนตัน ข้าวปทุมธานี ได้1 แสนตันลดลงจากปีก่อนที่ส่งได้ 1.1 แสนตัน
ปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออก
ทั้งนี้ ยังประเมินว่า "ภาวะภัยแล้ง"จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังทั้งในเดือนเมษายน และกันยายน ลดลง 4-5 ล้านตัน อาจกระทบต่อการส่งออกข้าว แต่อีกด้านถือเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะระบายข้าวในสต๊อกที่มี 13.5 ล้านตันได้มากขึ้น
ปัจจัยบวกมาจากการที่รัฐบาลผลักดัน การขายข้าวแบบ รัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) อย่างต่อเนื่องจากปี 2558 ที่ขายได้ 1.3-1.4 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าในปี 2559 จะมีออร์เดอร์ G to G ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน และอิหร่าน
สำหรับ ราคาข้าวปัจจุบัน ที่ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 365 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 700-720 เหรียญสหรัฐต่อตัน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี แต่ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ราคาข้าวไทยใกล้เคียงกับคู่แข่ง 5-10 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงอีกจะทำให้ราคาข้าวลดลงอีก
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในปีนี้ ยังต้องเหนื่อยหนัก หากตลาดส่งออกสำคัญ คือ แอฟริกา โดยเฉพาะไนจีเรีย ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว น้ำมันขาลง ทำให้กำลังซื้อหดตัว ผู้ส่งออกหลายราย "ส่ายหน้า" เพราะการให้เครดิตกับลูกค้าที่เสี่ยงสูงอาจทำให้เกิดหนี้สูญ ทุกรายจึงยังต้องระวังตัว ส่วนการทำบาร์เตอร์เทรดข้าวแลกน้ำมันในทางปฏิบัติยังทำได้ยาก แต่หากในช่วงครึ่งปีหลังอินเดีย เปลี่ยนโยบายไทยมีโอกาสที่จะดึงตลาดส่งออกคืนได้บ้าง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ม.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.