โลโคลแอคจับมือเครือข่ายเกษตรกรเผยผลวิจัย การสูญเสียที่ดินจากปัญหาหนี้นอกระบบ พบสัญญาขายฝากทำให้ถูกยึดง่ายรวดเร็วสุด ชงข้อเสนอนโยบาย ตั้งธนาคารที่ดิน สร้างระบบลงทะเบียนเจ้าหนี้-ลูกหนี้จริงจัง เชื่อช่วยคุมให้อยู่ภายใต้ กม.ได้
ภาระหนี้สินในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น จากการกู้ยืมเงินนอกระบบ กำลังเป็นปัญหาของเกษตรกรไทย สะท้อนถึงความไม่มั่นคงในชีวิต เมื่อไม่สามารถชำระคืนตามกำหนดได้ หลายคนต้องถูกยึดที่ดินทำกิน สิ้นไร้หนทางอยู่รอด
ข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2558 พบว่า เกษตรกรมีหนี้สิน 1.63 ล้านคน มูลหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 3.88 แสนล้านบาท เป็นหนี้นอกระบบ 1.49 แสนคน มูลหนี้ประมาณ 2.15 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วน อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดียึดที่ดิน 9.29 หมื่นคน มูลหนี้ประมาณ 1.34 หมื่นล้านบาทและกลุ่มหนี้ไม่เร่งด่วน 5.64 หมื่นคน มูลหนี้ประมาณ 8.16 พันล้านบาท
ทั้งนี้ รากฐานปัญหาหนี้นอกระบบมีที่มาจากหลายปัจจัย ซึ่งจากการศึกษาของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรจากปัญหาหนี้นอกระบบ ดำเนินการวิจัยตั้งแต่ พ.ค.-ธ.ค.2558
มีมูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) เป็นแกนหลักในการวิจัยครั้งนี้ ร่วมกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ โพธาราม จ.ราชบุรี และสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย
ผลการศึกษาโดยสรุป พบว่า เกษตรกรเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ เพราะสภาพปัญหา 3 ประการ คือ 1.มีความจำเป็นต้องใช้เงินจากภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินในครอบครัว แต่ไม่มีแหล่งเงินกู้ขนาดเล็กให้พึ่งพิงได้
2.ขาดแคลนเงินหมุนเวียน เพื่อใช้จ่ายในครอบครัวและลงทุนทำการเกษตร
3.เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ที่รัฐจัดหาให้ เนื่องจากไม่มีคนค้ำประกันและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สำหรับมูลเหตุสำคัญระดับรากฐานที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินและไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้ เพราะการทำการผลิตในระบบไม่เอื้อต่อ การพึ่งตนเอง ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ ทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ รวมถึงขาดแคลนที่ดินทำกิน ขาดหลักประกันรายได้ที่แน่นอน ไม่มั่นคง และขาดสวัสดิการรองรับความจำเป็นของชีวิตที่ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ เพราะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่กู้ได้ เช่น ไม่มีคนค้ำประกัน ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สถาบันการเงินไม่กล้าเสี่ยงให้เงินกู้ หรือขาดความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ขาดการวางแผนลงทุน การตลาด การออม และการใช้จ่ายในครัวเรือน
ด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ยังพบว่า เมื่อเกษตรกรเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบด้วยลักษณะสัญญาจำนองที่ดิน หรือสัญญาเปล่า ไม่กรอกตัวเลข หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เจ้าหนี้จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยึดที่ดินของเกษตรกรด้วยวิธีการฟ้องศาลและดำเนินคดี ขายทอดตลาด
“บางกรณีที่เจ้าหนี้นอกระบบต้องการที่ดินของเกษตรกร เจ้าหนี้จะให้ญาติพี่น้องเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินเอง”
ทั้งนี้ การทำสัญญาขายฝากที่ดิน เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินได้ง่ายและเร็วที่สุดเนื่องจากตามกฎหมาย เมื่อเกษตรกรทำสัญญาขายฝากที่ดินแล้ว ที่ดินถูกขายฝากจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้นอกระบบทันที เพียงแต่มีเงื่อนไขให้เกษตรกรสามารถหาเงินมาไถ่ถอนชำระหนี้ได้ตามกำหนด
“ปัจจุบันเจ้าหนี้นอกระบบจะให้เกษตรกรทำสัญญาขายฝากที่ดินระยะสั้น เพื่อจะไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนคืนได้”
การตกอยู่ในวังวนของหนี้นอกระบบของเกษตรกร ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิต ถูกเจ้าหนี้ทำร้ายร่างกาย เกิดภาวะตึงเครียด ความอับอาย และคิดฆ่าตัวตาย เพื่อหนีปัญหา บางรายถึงขั้นต้องทิ้งบ้านไปอาศัยที่อื่นแทน
สำหรับนโยบายการเงินการคลังและให้ความช่วยเหลือด้านยุติธรรมของภาครัฐ ผลการศึกษาพบว่า ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเพียงชั่วคราว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจากสาเหตุได้ เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อการกู้หนี้นอกระบบระดับฐานรากยังมีอยู่
อาทิ การทำการผลิตในระบบเกษตรที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ การไม่มีความรู้ประกอบอาชีพ การอยู่ในโครงสร้างการผลิตไม่มีอำนาจต่อรอง และการวางแผนการลงทุนและใช้จ่ายในครอบครัว ดังนั้น เมื่อผ่านช่วงเวลาการช่วยเหลือแล้ว ก็จะกลับมาเป็นหนี้นอกระบบอีกครั้ง
สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ว่าเหตุใดเกษตรกรจึงยังเป็นหนี้นอกระบบไม่สิ้นสุด!!!
ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ โดยในระดับพื้นที่ อาทิ เกษตรกรต้องยอมรับสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง รู้สาเหตุที่แท้จริงของหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้น
ปรับเปลี่ยนวิธีคิด หรือวิถีชีวิตที่ส่งเสริมให้เกิดหนี้นอกระบบ ไม่ควรวางแผนการลงทุนเกินตัว เช่น การทำธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ การลงทุนทำการผลิตจำนวนมาก หรือขนาดพื้นที่ใหญ่
นอกจากนี้เกษตรกรควรมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการจัดการปัญหาและทางออก อีกทั้ง ควรมีสถาบันการเงินชุมชนที่เข้มแข็ง
ขณะที่ระดับนโยบาย อาทิ ควรมีระบบกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้ และเอื้อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างการใช้กฎหมายของเจ้าหนี้เพื่อเอาเปรียบเกษตรกร
จัดให้มีสถาบันการเงินเพื่อคนจน เพื่อให้มีแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ และส่งเสริมการออม และควรจัดตั้งธนาคารที่ดิน ทำหน้าที่กระจายการถือครองที่ดิน และไถ่ถอนที่ดินของเกษตรกรที่อยู่ในสถานะหลุดจำนอง
ตลอดจนยกเลิกสัญญาการขายฝากที่ดิน ลงทะเบียนเจ้าหนี้นอกระบบและปรับปรุงวิธีการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ เพื่อให้รัฐควบคุมเจ้าหนี้นอกระบบบางส่วนให้อยู่ภายใต้กฎหมาย
มีตัวอย่างเกษตรกรที่ตกอยู่ในวังวนหนี้นอกระบบ หนึ่งในนั้น คือ ‘อุดม คุ้มภัย’ ชายวัย 48 ปี ชาวโพธาราม จ.ราชบุรี
เขากู้เงินนอกระบบ แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5 แหล่ง โดยให้พี่สาวและน้องสาวค้ำประกัน หลังจากก่อนหน้านี้เคยกู้เงินนอกระบบจากอีกแหล่งอื่นเเล้ว
แหล่งที่ 1 เป็นเงินที่ขอกู้จากเพื่อนที่รู้จักกันในบริษัทเดิม 30,000 บาท ครั้งที่ 2 อีก 20,000 บาท รวมดอกเบี้ยต้องชำระคืนทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท
แหล่งที่ 2 เป็นเงินที่ขอกู้จากป้าในชุมชนใกล้เคียง 20,000 บาท และจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน ต่อมาขอกู้เพิ่มอีก 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม
แหล่งที่ 3 เป็นเงินที่ขอกู้จากนายทุน จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพนักงานหรือนายหน้านำเงินมาปล่อยกู้อีกทอดหนึ่ง 20,000 บาท และจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน
แหล่งที่ 4 เป็นเงินกู้จากผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านใกล้เคียง 20,000 บาท และจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน
แหล่งที่ 5 เป็นเงินกู้จากกระดาษที่ติดตาม เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ และป้ายประกาศสาธารณะ กู้ผ่านนายหน้า ‘หมวกกันน็อค’ 1,000-5,000 บาท มาหมุนเวียนในครอบครัว และใช้คืนดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้รายต่าง ๆ ในลักษณะกู้หนี้ หมุนคืนรายวัน
เขาบอกว่า ต้องหมุนหาเงิน 1,000 บาท เพื่อใช้หนี้ทุกวัน ทำได้ประมาณ 1 เดือน ก็ล้มป่วยเลย เพราะหาเงินหมุนใช้หนี้ต่อไม่ไหว เป็นวิกฤตของชีวิต เนื่องจากต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากการตามทวงหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละรายที่ตามทวงเราทุกวัน
จากที่เคยจ่ายดอกเบี้ยวันละ 200-300 บาท ช่วงท้ายต้องจ่ายสูงวันละ 1,000 บาท จากแหล่งหนึ่งไปใช้คืนอีกแหล่งหนึ่ง วนเวียนเป็นงูกินหาง จนสุดท้ายคิดฆ่าตัวตาย!!!
เเต่ด้วยสติทำให้ ‘อุดม’ ไม่คิดหนีปัญหาดื้อ ๆ แล้วหันมาเผชิญกับความจริง ตัดสินใจขอนัดเจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบทุกราย เพื่อผ่อนชำระหนี้ให้หมดทีละรายแทน
...............................................................
...อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเเก้ปัญหาอย่างถาวร เชื่อว่า การหยุดเพื่อทบทวนและตั้งสติจะเป็นบทเรียนของเกษตรกรที่ช่วยผ่านพ้นวิกฤติหนีันอกระบบได้
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 21 ม.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.