วังวนปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน การเป็นหนี้ทั้งนอกและในระบบส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย และยังคงเป็นเนื้อร้ายที่แฝงอยู่ ทำให้ภาคการเกษตรของไทยอ่อนแอ โดยเฉพาะการเป็นหนี้สินท่วมตัว จนทำให้ต้องสูญเสียที่ดิน ทรัพย์สินและหลักประกันสุดท้ายของเกษตรกร
"สมจิต คงทน" ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิชีวิตไท กล่าวว่า ตัวเลขหนี้สินเกษตรกร จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2558 พบว่าเกษตรกรมีหนี้สินจำนวน 1,637,562 ราย มูลหนี้ทั้งสิ้น 388,361 ล้านบาท เป็นหนี้นอกระบบ 149,437 ราย มูลหนี้ประมาณ 21,590 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วน อยู่ในขั้นตอนการบังคับยึดที่ดินจำนวน 92,945 ราย มูลหนี้ประมาณ 13,428 ล้านบาท และกลุ่มหนี้ไม่เร่งด่วน จำนวน 56,492 ราย มูลหนี้ประมาณ 8,162 ล้านบาท
ด้าน "พงษ์ทิพย์ สราญจิตต์" ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวว่า ในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ปัญหน้าหนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้น กระทั่งมากกว่าหนี้ในระบบปกติแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2556 ระบุว่า พื้นที่การเกษตร 72% เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรไม่มีเป็นของตัวเอง ไม่ได้ทำกินในที่ตัวเอง และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาหนี้นอกระบบจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรมากที่สุด
ต้นทุนเพิ่มเหตุหนี้ท่วม
"กิมอังพงษ์นารายณ์"ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรแห่งประเทศไทยกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดหนี้ว่า วิกฤตหนี้ของเกษตรกรในปัจจุบันถือว่าวิกฤตที่สุด เกษตรกรส่วนใหญ่สูญเสียที่ดินไปแล้ว โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการเป็นหนี้คือ ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการที่รัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชพันธุ์ใหม่ ต้องใช้สารเคมีบำรุง การสนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ปัจจุบันยังประสบกับโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และปัญหาพืชผลราคาตกต่ำ ขณะที่การเยียวยาความเสียหายก็ยังไม่เพียงพอ
"เมื่อ ขาดทุนและต้องหากู้ ซึ่งหากขาดทุนครั้งที่ 1-2 ยังสามารถกู้จาก ธ.ก.ส.ได้ แต่หากขาดทุนอีกเป็นครั้งที่ 3 ก็จำเป็นต้องกู้จากหนี้นอกระบบเพื่อนำมาลงทุนหรือนำมาใช้หนี้ หรือบางกรณีต้องกู้นอกระบบมาใช้หนี้ ธ.ก.ส.เพื่อรักษาเครดิตลูกหนี้ชั้นดี เมื่อขาดทุนบ่อย ๆ เจ้าหนี้ก็จะไปสืบทรัพย์จากสถาบันการเงินในระบบที่มีโฉนดที่ดินของเกษตรกรอยู่ และฟ้องเพื่อล้มทรัพย์ของเกษตรกรนำไปขายต่อ แม้ที่ดินจะอยู่กับสถาบันการเงินในระบบก็ตาม" กิมอังกล่าว
สัญญาขายฝากสุดอันตราย
ทั้งนี้ ที่ดินถือเป็นหลักทรัพย์สำคัญที่ใช้เมื่อต้องกู้นอกระบบ แต่เกษตรกรหลายคนไม่มีความรู้ในการทำสัญญา ทำให้ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบได้ง่าย โดย "กิมอัง" กล่าวว่า สิ่งที่อันตรายที่สุดขณะนี้คือ "สัญญาขายฝาก" ซึ่งเมื่อทำแล้วกรรมสิทธิ์จะตกอยู่ที่เจ้าหนี้ทันที แม้จะมีระยะเวลาให้ลูกหนี้สามารถไถ่ถอนคืนได้ในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่หลายกรณีลูกหนี้ไม่สามารถไถ่คืนได้
ด้าน "สมยศ ภิราญคำ" รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวว่า ปัญหาการขายฝากเพิ่มสูงขึ้นและรุนแรงมาก โดยในปี 2557 มีคนที่ประสบปัญหาเรื่องการขายฝากมาขอความช่วยเหลือที่ กฟก.จำนวน 1,250 ราย มูลหนี้ประมาณ 900 ล้านบาท เพราะราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นที่ต้องการของนายทุน
นอกจากนี้ การออก พ.ร.บ.ทวงหนี้ฯยังทำให้เจ้าหนี้ไม่ต้องการทวงหนี้จากการจำนองหรือกู้ยืม หากเป็นขายฝากเมื่อถึงเวลาที่ดินจะหลุดจากมือเกษตรกรเอง แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีแนวคิดให้ยกเลิกการขายฝาก แต่ก็อาจทำให้เกษตรกรที่เดือดร้อนฉุกเฉินไม่มีแหล่งเงินทุน
"สฤณี อาชวานันทกุล" กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า การให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถบังคับยึดที่ดินจากการขายฝากเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหนี้นอกระบบเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ และลูกหนี้ไม่มีทางเลือก ภาครัฐจึงควรเข้ามาดูแลจริงจัง นอกจากนี้ยังเสนอว่าควรมีกลไกให้บุคคลล้มละลายด้วยความสมัครใจ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของลูกหนี้ให้มากขึ้น
หนุนสถาบันการเงินชุมชนช่วยแก้
"พ.ต.ท.วิชัยสุวรรณประเสริฐ"เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า บทบาทของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ลดเงื่อนไขการเป็นหนี้นอกระบบ เช่น การใช้จ่ายเกินตัว หรือใช้จ่ายในอบายมุข รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสถาบันการเงินกับนายทุนนอกระบบ แต่ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังมีกรอบในการปฏิบัติงาน ทำให้การช่วยเหลือไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงควรให้หน่วยงานอื่น ๆ เช่น มูลนิธิต่าง ๆ คอยช่วยเหลือด้วย และควรมีหน่วยงานที่ดูแลภาพรวมหนี้สินทั้งประเทศ สามารถประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
ด้าน "รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ" นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนี้ในและนอกระบบมีความสัมพันธ์กัน การแก้ไขจึงต้องแก้ทั้งระบบ เริ่มจากการปรับระบบการจัดการไร่นาให้กระจายความเสี่ยง มีการปลูกพืชที่หลากหลายและเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินได้ โดยให้ภาควิชาการและเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
นอกจากนี้ยังควรจัดระบบการตลาดทั้งตลาดสินค้าตลาดปัจจัยการผลิตและระบบความเสี่ยงและตลาดทุน เช่น การออกแบบระบบการประกันภัยพืชผลให้กระจายความเสี่ยงได้จริง ปรับปรุงระบบการออมต่าง ๆ อย่างธนาคารที่ดินและธนาคารชุมชน รวมทั้งมีกฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินงาน
"สถาบันการเงินชุมชนเป็นทางเลือกที่ดี เพราะทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะการให้กู้ฉุกเฉิน เพราะสถาบันการเงินชุมชนรู้จักข้อมูลศักยภาพของผู้กู้อย่างดี แต่ควรพยายามให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มองความยั่งยืนทางการเงินของตัวเองและคุณภาพชีวิตสมาชิกเป็นหลักมากกว่าการสะสมเงินเพียงอย่างเดียว" รศ.ดร.ปัทมาวดีกล่าว
นับเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก แต่ก็จำเป็นต้องแก้ไขที่สุด ก่อนที่กระดูกสันหลังของชาติและภาคการเกษตรของไทยจะเข้าสู่การล่มสลาย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 ม.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.