สทบ.ชี้เม็ดเงิน 60,000 ล้านบาท โครงการกองทุนหมู่บ้าน กระจายลงสู่ชุมชนแล้ว 48,284 กองทุน มั่นใจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ ด้านผู้ประกอบการค้าปลีก ค้าส่ง ผักและผลไม้ ห้างสรรพสินค้า ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เผยยังไม่เห็นสัญญาณกำลังซื้อฟื้นตัว ธุรกิจเตรียมออกแคมเปญแรงชิงมาร์เก็ตแชร์
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้การดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อเดือนกันยายน 2558 โดยให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ได้รับการจัดชั้นเป็นกองทุนระดับดีมาก (A) และระดับดี (B) กองทุนละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองสำหรับให้สมาชิกกู้ยืม ในวงเงิน 60,000 ล้านบาท มีความคืบหน้าไปมาก โดยสามารถกระจายเงินกู้ยืมลงสู่ชุมชน และท้องถิ่นไปแล้วทั้งสิ้น 48,284 กองทุน จากทั้งหมด 50,050 กองทุน หรือคิดเป็น 80% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด และส่วนที่เหลือสามารถขอรับกองทุนได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559
ทั้ง นี้ การกู้ยืมส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นการกู้เพื่อการเกษตร เช่น การปลูกพืชไร่ พืชสวน การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และการประมง กู้เพื่อการค้า 16% และอื่นๆ 4% ซึ่งคาดว่าจำนวนเงินกู้ยืมดังกล่าวจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ
นายสาธิต บุญทอง ประธานบริหาร บริษัท นราไฮเปอร์มาร์ท จำกัด กลุ่มทุนท้องถิ่นธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ จังหวัดน่านกล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีการเบิกจ่ายเงินกู้ยืมจากโครงการกองทุนหมู่บ้านฯ โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ของรัฐบาลออกไปแล้ว แต่ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังไม่คึกคัก กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าที่เป็นเกษตรกรยังไม่เพิ่มขึ้น และยังเห็นผลไม่ชัดเจนที่จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว เนื่องจากเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อยยังคงระมัดระวังการจับจ่าย
อย่างไรก็ตาม จังหวัดน่านยังมีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงไฮซีซั่น เติบโต 50% หากเทียบกับช่วงไฮซีซั่นปี 2558 ซึ่งสามารถช่วยเติมกำลังซื้อธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจังหวัดน่านได้เป็นอย่างดี ชดเชยกำลังซื้อเกษตรกรที่หายไป คาดว่าในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ค้าปลีกจะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์
ขณะที่นายวุฒิพงศ์ วนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย-เยอรมัน อินเตอร์เทค โปรดักส์ จำกัด ผู้จำหน่ายปุ๋ยแบรนด์นกปากห่างและวาฬน้ำเงิน เปิดเผยว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านคือความหวังของผู้ประกอบการในธุรกิจจำหน่ายปุ๋ยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว จากปี 2558 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปุ๋ยมียอดขายลดลง 20% หรือลดการนำเข้าประมาณ 800,000 ตัน ปีนี้หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว คาดว่าจะทำให้การแข่งขันในตลาดจะมีมากขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องทำกิจกรรมทางการตลาดที่รุนแรงขึ้น เพื่อสร้างยอดขายและชิงส่วนแบ่งการตลาดให้มากขึ้น
ไม่คึกคัก - โครงการกองทุนหมู่บ้านเป็นหนึ่งในมาตรการอัดฉีดจากภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจฐานราก แม้ปัจจุบันจะสามารถกระจายเงินสู่ประชาชนได้แล้วกว่า 80% แต่ภาคธุรกิจท้องถิ่นต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ากำลังซื้อของประชาชนยัง ไม่กระเตื้อง
ด้านนายภาคภูมิ ตรีชัยรัศมี ผู้จัดการห้างสรรพสินค้าไชยแสง ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาโดยภาพรวมการจับจ่ายในห้างจังหวัดสิงห์บุรีค่อนข้างเงียบ ยกเว้นในช่วงการกระตุ้นการจับจ่าย หรือโครงการช็อปช่วยชาติของรัฐบาลในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา สามารถช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในห้างได้ดีมาก มีลูกค้าจำนวนมากที่เข้ามาจับจ่ายและต่อคิวยาวเพื่อขอออกใบกำกับภาษี และทำให้ยอดการขายช่วงปีใหม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
"ที่ผ่านมาแม้จะมีเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลออกมาบ้างแล้ว แต่โดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากอานิสงส์จากเงินกองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการเงินอัดฉีดตำบลละ 5 ล้านบาทด้วยหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าเงินจากโครงการต่าง ๆ จะออกมาในรูปแบบใด และจะถึงมือเกษตรกรโดยตรงหรือไม่ แต่หากเม็ดเงินเข้ามาในระบบได้มากกว่านี้ก็จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในสิงห์บุรีที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก และกำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากเกษตรกร" นายภาคภูมิกล่าว
นายสุชาติ เชื่อมวรศาสตร์ ผู้จัดการตลาดปฐมมงคล จังหวัดนครปฐม ตลาดค้าปลีกค้าส่งผักและผลไม้รายใหญ่ในภาคตะวันตกกล่าวว่า ปกติหากรัฐบาลอัดเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ ผลที่ตามมาคือตลาดค้าปลีกค้าส่งผักและผลไม้จะคึกคัก แต่ขณะนี้โครงการกองทุนหมู่บ้านและโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ไม่ได้ช่วยให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในจังหวัดนครปฐม ประชาชนยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
นอกจากนี้จากการสังเกตพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรที่มีเงินลงทุนทำนาน้อย ก็หันมาเปลี่ยนปลูกพืชผักสวนครัวระยะสั้น และส่งไปจำหน่ายในตลาด และทำให้ราคาผักบางชนิดผันผวน เช่น คะน้า ผักชี ฯลฯ ตรงกันข้าม ผู้บริโภคหรือคนซื้อกลับมีจำนวนลดลง และทำให้เกิดภาวะที่ไม่สมดุลกัน
แหล่งข่าวจากตลาดค้าปลีกค้าส่งผักและผลไม้รายใหญ่ในภาคตะวันตกอีกรายหนึ่งกล่าวว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านยังไม่ช่วยพยุงเศรษฐกิจฐานรากให้กระเตื้องได้มากเห็นได้จากการส่งผักและผลไม้ไปยังภาคใต้ ยอดคำสั่งซื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน นอกจากโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ราคายางพาราที่ตกต่ำก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กำลังซื้อของภาคใต้ปรับตัวลดลง
นายจิรวัฒน์ สนสุบุญวัฒน์ เจ้าของกิจการศูนย์เมล็ดพันธุ์ผัก จ้าวไก่เกษตรเมล็ดพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของตนยังไม่ได้รับอานิสงส์จากโครงการกองทุนหมู่บ้านเท่าใดนัก เนื่องจากแม้ว่าเกษตรกรจะได้รับเงินมาอุดหนุน แต่ด้วยภาวะภัยแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร เกษตรกรจึงไม่สามารถเพาะปลูกได้ โดยยอดขายเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยบำรุงพืชลดลง 30% ตั้งแต่มีการประกาศห้ามทำนาปรัง
"ตอนนี้ยอดการขายเมล็ดพันธุ์ยังไม่กระเตื้องขึ้น ทั้งที่ตามปกติแล้วในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เป็นฤดูการขายเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรจะมาซื้อหาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ที่ได้รับความนิยม และคาดว่าเมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นช่วงฤดูแล้ง ธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชจะยิ่งได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 ม.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.