สัมมนาวิชาการ "วิกฤติหนี้นอกระบบเกษตรกรกับทางออกที่ยั่งยืน" หวังแก้ไขปัญหาพร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิต ชี้ทุกหน่วยงานต้องร่วมบูรณาการ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ม.ค. ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง วิกฤติหนี้นอกระบบเกษตรกรกับทางออกที่ยั่งยืน เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร ผลกระทบต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงในชีวิตเกษตรกร อีกทั้งเป็นการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาของหนี้นอกระบบ
นางพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผอ.มูลนิธิชีวิตไทย เปิดเผยว่า ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่กำลังเผชิญสภาพปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันจากหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบแต่ปัจจุบันปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นปัญหาที่มีภาวะวิกฤตและมีความรุนแรงมากกว่าไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่ทำกินสูญเสียบ้านที่อยู่อาศัยและได้กลายเป็นภาวะความตึงเครียด ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรเข้าสู่หนี้นอกระบบเพราะสภาพปัญหาสำคัญ 3 ประการ อันดับหนึ่งคือกู้เงินมาเพราะมีภาวะจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนฉุกเฉินในครอบครัว อันดับต่อมาได้แก่เกษตรกรขาดเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายในครอบครัวและลงทุนทำการเกษตรและสุดท้ายเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่รัฐบาลจัดหาให้ เนื่องจากไม่มีคนคํ้าประกันและไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน
พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบนั้นอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานตนเห็นว่าการบริหารแบบบูรณาการของเครือข่ายมีความจำเป็น และต้องมีทุกภาคส่วนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ กฎหมาย ภาคประชาสัมคม เป็นคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาอย่างตอนนี้กระทรวงเกษตรก็มีหน่วยงานแก้ไขหนี้สินเกษตรกรกระทรวงการคลังก็มีหน่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบกระทรวงมหาดไทยก็มีเช่นกันแต่การบูรณาการยังไม่มี ดังนั้นตนคิดว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานสำคัญที่สุดที่ต้องเป็นผู้ดูแลภาพรวมของทั้งประเทศในเรื่องของปัญหาหนี้สิน ตนมองว่าปัญหาหนี้นอกระบบในแต่ละอาชีพนั้นต่างกันดังนั้นการแก้ไขจึงไม่มีโมเดลแน่นอน แต่ภาครัฐควรใส่ใจการพัฒนาคุณภาพชีวิตการสนับสนุนการช่วยเหลือจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังถึงจะแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้สินของเกษตรกรได้
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่าเรื่องหนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่อยู่ที่กู้มาแล้วชำระคืนได้หรือไม่ธนาคารควรมีระบบคุ้มครองผู้บริโภคการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วยอำนาจการกำกับดูแลไม่ควรกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน การเปิดเผยข้อมูลที่รับผิดชอบข้อมูลทั้งหมดต้องเปิดเผยในภาษาที่เข้าใจง่ายเพียงพอให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ใช้วิธีขายที่เป็นธรรมและเหมาะสมไม่ยัดเยียด ที่สำคัญต้องให้เวลาเปลี่ยนใจในการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละคนไม่ใช้วิธีขู่กรรโชกหรือวิธีอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิลูกหนี้ในการติดตามหนี้พร้อมทั้งมีความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค มีกลไกเยียวยาและรับเรื่องร้องเรียนอีกทั้งส่งเสริมให้ความรู้ทางการเงินและความตระหนักรู้เรื่องการเงิน รวม
ทั้งดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของธนาคารเรื่องการปล่อยสินเชื่ออีกด้วย
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องกลับไปดูเรื่องระบบการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรถ้ายังมีปัญหาเรื่องขาดทุนให้ไปแก้ไขตรงจุดนั้นก่อนที่จะมาแก้ไขเรื่องหนี้นอกระบบ และควรหันมาให้ความสำคัญกับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาระบบการเกษตรของประเทศไทยนอกจากนั้นเมื่อเป็นหนี้แล้วทำงานประสานกับสถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารออมสินและ ธกส.อย่างไร จากนั้นหันมาพัฒนาคนพัฒนาความรู้พร้อมสนับสนุนสถาบันการเงินของชาวบ้านต่อไป
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 12 ม.ค. 2559