ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ แจงเหตุดันร่างกฎหมายจีเอ็มโอ เพื่อป้องกันพืช/สัตว์/จุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมทะลักเข้าไทย ยกกรณี “ปลาม้าลาย เรืองแสง” จีเอ็มโอส่งออกไปอังกฤษเอาผิดใคร ไม่ได้ แนะหากกังวลให้หั่นเป็นรายมาตรา อย่าล้มทั้งกระดาน วงใน กมธ.เกษตร เบี้ยข้อมูล 4 หน่วยงานรัฐ พบอาหารสำเร็จรูป 22 รายการติดฉลากจีเอ็มโอ ขายเกลื่อนทั่วประเทศแล้วตั้งแต่ปี 2545
จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ นำมาซึ่งเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้านในวงกว้างในขณะนี้นั้น
นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการควบคุมดูแลการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในกระบวนการต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นห่วงว่าจะมีการลักลอบนำเข้าพืช สัตว์ ดัดแปลงพันธุกรรม แล้วไม่มีกฎหมาย หรือบทลงโทษรองรับ เป้าหมายของกฎหมายเพื่อมีไว้ป้องกัน ใครมีไว้ในครอบครองต้องสำแดง และจะมีคณะกรรมการตรวจสอบว่าสิ่งที่ครอบครองนั้นมีโทษต้องทำลายหรือไม่ รวมถึงมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา
ทั้ง นี้สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. มี 8 หมวด 73 มาตรา เป็นร่างที่ปรับแก้ไขมาหลายแล้ว ตั้งแต่มติ ครม.วันที่ 31 สิงหาคม 2547 ให้เร่งรัดการดำเนินการกฎหมายและพัฒนาวางกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยชีวภาพให้แล้วเสร็จ รวมระยะเวลา 11 ปีแล้ว ทุกวันนี้ยังไม่มีกฎหมายเลย แล้วเอาผิดกับผู้ประกอบการไม่ได้ด้วย ยกตัวอย่างในอดีต ผู้ประกอบการไทยส่งปลาม้าลายเรืองแสง ไปขายประเทศอังกฤษ หน่วยงานปลายทางแจ้งกลับมาว่าปลาที่ส่งไปขายเป็นปลาดัดแปลงพันธุกรรม(ปลาจีเอ็มโอ) ผลลัพธ์คือไม่สามารถเอาผิดเอกชนได้เพราะไทยไม่มีกฎหมาย หรือบทลงโทษรองรับ
ด้านแหล่งข่าวคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ผลจากการศึกษาพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ ได้รับหนังสือชี้แจงจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ว่า มติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 ได้อนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ซึ่งไทยควรจะต้องมีระบบการประเมินความปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มี ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุ มีการนำเข้าจริงทั้งข้าวโพดและถั่วเหลือง แต่กรมไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการอุตสาหกรรม“ไม่มีใครหรอกที่ออกกฎหมายมาเพื่อทำลายตลาดสินค้าตัวเอง หรือทำให้ตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปพัง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องเปิดใจให้กว้าง หากไม่ชอบมาตราไหนให้ตัดทิ้ง อย่าล้มกระดานเลย”
ด้านกรมศุลกากรแนะนำให้กำหนดแยกรหัสสถิติของถั่วเหลืองและข้าวโพดเป็นชนิดดัดแปลงพันธุกรรมและชนิดไม่ดัดแปลงพันธุกรรม ส่วนกระทรวงพาณิชย์ชี้ว่าหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการนำเข้าพืชจีเอ็มโอ เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ขณะที่จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ระบุที่ผ่านมาได้อนุญาตให้นำเข้าอา หารสำเร็จรูป 22 รายการโดยติดฉลากว่ามีจีเอ็มโอ (มีสติ๊กเกอร์ตัวเลข 5 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 8 เช่น 8XXXX) อาทิ ถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว ข้าวโพดป๊อปคอร์น ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งมีวางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่ปี 2545 และปัจจุบันจะเห็นว่าพืชจีเอ็มโอ ได้มีการปลูกแล้วในประเทศเพื่อนบ้าน (ดูตารางประกอบ) หากไทยไม่มีกฎหมายรองรับเชื่อว่าจะมีการนำพันธุ์ข้าวจีเอ็มโอเข้ามาปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่มีชายแดนติดกัน
ส่วน นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรานทะเล มาเก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จีเอ็มโอ วันนี้ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าดีหรือไม่ดี ควรจะให้ความรู้และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคตัดสินใจเองว่าจะเลือกรับประทานหรือไม่ ให้ผู้บริโภคเป็นคนกำหนดตลาด ท้ายสุดจะเป็นตัวสะท้อนกลับมาถึงผู้ผลิตเองว่าจะปลูกหรือไม่ปลูก
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,113 วันที่ 13 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 15 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.